เจ็บหน้าอก จำต้องเป็นโรคหัวใจหรือไม่? หมอหัวใจมาตอบเอง

เคยรู้สึก เจ็บหน้าอก กันบ้างไหม และตอนที่เจ็บหลายคนคงมีคำถามว่า นี่เรากำลังป่วยด้วยโรคหัวใจหรือเปล่านะ ใช่มั้ยคะ ถ้าคุณกำลังกังวลถึงอาการเจ็บหน้าอกที่เกิดขึ้น เรามีคำอธิบายจากคุณหมอมาบอก

อ.นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ อายุรแพทย์โรคหัวใจและที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิหยาลัยเชียงใหม่ จะมาเล่ารายละเอียดที่สนุกสนานเกี่ยวกับอาการ เจ็บหน้าอก ให้เราอ่านกันค่ะ

เมื่อมีอาการ เจ็บหน้าอก เล่นทำเอาใจไม่ดี

อาการที่ผู้ป่วยมักจะเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก ซึ่งเป็นอาการที่พบบ่อยมาก โดยสาเหตุเหล่านี้เป็นอาการที่จะทำให้เกิดโรคหัวใจได้ ส่วนใหญ่กังวลว่าจะเป็นหรือไม่

คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดปีละ 37,000 ราย ในแต่ละวันมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคหัวใจ 1,185 ราย ในจำนวนนี้ เป็นผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 ราย มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 ราย

ภาวะโรคหัวใจ

หากผู้ป่วยมาด้วยอาการ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดโคโรนารี่ โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคลิ้นหัวใจรูมาติก โรคลิ้นหัวใจรั่ว โรคสิ้นหัวใจตีบ โรคเยื่อบุหัวใจอักเสบ โรคเยื่อบุหัวใจบีบรัด โรคติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น หากมีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์

หน้าที่ของหัวใจ

สูบฉีดเลือดเพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหาร ไปยังทุกส่วนของร่างกาย หัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้อง มี 2 ห้องบนและ 2 ห้องล่าง หัวใจซีกขวารับโลหิตที่ใช้ แล้วจากร่างกาย แล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน เลือดที่มีออกซิเจนจะกลับไปยังหัวใจด้านซ้ายและจะถูกสูบฉีดโลหิตผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปยังทุกส่วนของร่างกาย

เจ็บอย่างนี้ไม่ใช่โรคหัวใจ

  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจ EKG ปกติขณะเจ็บ
  • เจ็บนานตลอดทั้งวัน . เจ็บเป็นบริเวณแคบๆ
  • กดเจ็บ
  • อายุน้อย ไม่มีปัจจัยเสี่ยง
  • เจ็บแปล็บๆ เจ็บเสียดแทง

เจ็บจากโรควิตกกังวล

ตำแหน่งไม่แน่นอน ลักษณะตื้อๆ แปลับๆ ไม่รุนแรง มาก ระยะเวลาไม่แน่นอน อาจเป็นทั้งวัน สิ่งกระตุ้นคือความเครียด ดีขึ้นได้จากการได้นั่งพัก แต่ไม่หายจากอาการเจ็บหน้าอก

อาการร่วม ได้แก่ มีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ ปวดหัวเรื้อรัง ถอนหายใจบ่อยๆ มีอะไรจุกๆ อยู่ที่คอหอย รู้สึกกลัว วิตกกังวล

เมื่อรู้สึกเจ็บแบบนี้ให้สงสัยว่า เป็นโรคหัวใจ

อาการเจ็บของโรคหัวใจจะสังเกตได้ดังนี้

  • แน่นหน้าอกรุนแรง มักมีเหงื่อแตกร่วมด้วย
  • อึดอัด เหมือนมีอะไรมากดทับหรือบีบรัด
  • ร้าวไปที่แขนและคอ
  • เป็นขณะออกแรงทำงาน มีอารมณ์โกรธหรือเคร่งเครียด

เมื่อเจ็บแบบนี้ต้องรีบมาโรงพยาบาล

  • เจ็บรุนแรงนานกว่า 20 นาที พักแล้วไม่ดีขึ้น
  • อาการเจ็บร้าวไปที่ไหล่และแขน โดยเฉพาะไหล่และแขนซ้าย
  • คลื่นไส้ อาเจียน จุกใต้ลิ้นปีคล้ายโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ไปจนถึงเป็นลมหมดสติ
  • มีการใช้ยาอมใต้ลิ้นหรือพ่นยาใต้ลิ้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคหลอดเลือดแข็ง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  1. ระดับไขมันในเลือดสูง
  2. ความดันโลหิตสูง
  3. การสูบบุหรี่
  4. เบาหวาน
  5. อ้วนลงพุงและพันธุกรรม หมั่นสังเกตอาการเจ็บป่วยอย่างรู้เท่าทัน หากพบอาการผิดปกติ ให้เร่งพบแพทย์ด่วนค่ะ

ป้องกันโรคหัวใจ ด้วยอาหาร

คนเรามีหัวใจดวงเดียว จึงต้องเก็บรักษาไว้อย่างต้องทะนุถนอม ทั้งในด้านความรัก ความรู้สึก และการดูแลสุขภาพของหัวใจให้แข็งแรง

การดูแลหัวใจนั้นสัมพันธ์ทั้งกับสภาพจิตใจและการดูแลที่ตัวอวัยวะหัวใจ ในทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมองว่า

หัวใจมีความสัมพันธ์กับระบบของธาตุไฟและธาตุลม ถ้าเมื่อใดธาตุไฟกำเริบ(ร้อนเกินควบคุม) ก็ทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิดง่าย โมโหง่าย ใจร้อน กระวนกระวายร้อนอกร้อนใจ ลุกลี้ลุกลน และส่งผลให้ธาตุลม (ทั้งสุมนาวาตะและลมหทัยวาตะ)กำเริบ ก็เกิดอาการหงุดหงิด วิตกกังวลกระสับกระส่าย รวมถึงนอนไม่หลับและอาจส่งผลต่อระบบความดันโลหิตผิดปกติได้ แต่ที่สำคัญคือทั้งหมดนั้นล้วนส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจ การไหลเวียนโลหิต อารมณ์แปรปรวนไม่ปกติ จนทำให้เกิดอาการของโรคหัวใจได้ ซึ่งดิฉันมีวิธีปฏิบัติเพื่อป้องกันตนง่าย ๆ ดังนี้

ไม่นอนดึกจนเกินไป (ไม่ควรนอนเกินสี่ทุ่ม) 

เนื่องจากถ้านอนหลังสี่ทุ่มจะเป็นเวลาของธาตุไฟ อาจทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกร้อน หงุดหงิด หรือหลับได้ไม่สนิท เมื่อตื่นตอนเช้าจะยังรู้สึกง่วง สะลึมสะลือ ไม่สดชื่นบางรายมีอาการมึนงงเนื่องจากนอนไม่พอ

ควรดื่มน้ำอุ่นหรือนมอุ่นเล็กน้อยก่อนนอน 

เพราะจะช่วยให้การไหลเวียนต่าง ๆ ดีขึ้น หรือจะเป็นชาเกสรดอกไม้เพื่อช่วยสงบประสาทและทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ไม่ควรรับประทานอาหารที่ย่อยยาก

เช่น เนื้อสัตว์ หรืออาหารไขมัน หรือผักดิบต่าง ๆ มากเกินไปในมื้อเย็น เพราะจะรบกวนระบบไฟธาตุทั้งการย่อย การเผาผลาญและส่งผลให้ธาตุลมที่เกี่ยวกับการย่อยพัดพาได้ไม่สะดวก ทำให้ท้องอืด อาหารไม่ย่อยไม่สบายท้องหรือเกิดการสะสมของไขมันได้ง่าย พอนานวันเข้าก็ส่งผลให้เกิดการสะสมของไขมันในหลอดเลือด (ท่อทางเดินของลม) ทำให้เกิดหลอดเลือดตีบตันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ฯลฯ

ฝึกหายใจทำสมาธิจากการฟังเพลงบรรเลงและบริหารร่างกายในท่าเหยียดและยืดกล้ามเนื้อ

การฝึกการหายใจที่ถูกต้องจะช่วยให้เกิดการไหลเวียนที่ดีขึ้น ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ อารมณ์ ความดันโลหิตทำให้เกิดการนำเอาพลังงานแฝงสะสมมาใช้และช่วยกระตุ้นการเผาผลาญต่างๆ ในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น

รับประทานไขมันและอาหารหวานแต่พอประมาณ 

รับประทานเค็มแต่น้อยรับประทานแป้งพอควรและต้องให้ครบทั้ง 6 หมู่ (เพื่อรักษาสมดุลของธาตุทั้ง 6 ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณธาตุ)

ออกกำลังกายเป็นประจำ 

จะช่วยทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงมีกำลังในการสูบฉีด (การไหลเวียนของลม) ดีขึ้น ไม่เหนื่อยง่าย นอนหลับได้ดีขึ้น ทำให้หัวใจมีสมรรถภาพที่ดีและแข็งแรง

มองโลกในแง่ดี (คิดในทางบวก) 

จะส่งผลต่อทั้งการทำงานของหัวใจที่ดีและต่ออารมณ์ที่ดี ทำให้มีสติมากขึ้น อาการหงุดหงิด โมโหง่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับก็จะไม่เกิดขึ้นถ้าปฏิบัติตามหลักการนี้

ที่มา

กลุ่มงานสื่อสารองค์กร งานประชาสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

บทความอื่นที่น่าสนใจ

อาหารเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง

ป้องกันโรคหัวใจ ตามแบบฉบับแพทย์แผนจีน

พฤติกรรมอันตราย ก่อโรคหัวใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.