หัวใจ เป็นอวัยวะสำคัญ ดังนั้นไม่ว่าการแพทย์ศาสตร์ไหน ก็มีวิธีดูแลหัวใจให้แข็งแรง ปราศจากโรคภัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพให้ดี ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเองก็เช่นกัน ที่มีการ ป้องกันโรคหัวใจ แต่จะมีวิธีอย่างไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีหลอดเลือดหัวใจที่แตกแขนงมาจากหลอดเลือดแดงใหญ่พาดอยู่บริเวณพื้นผิวของหัวใจและแยกเป็นเส้นเลือดแขนงย่อยมากมาย เส้นเลือดย่อยเหล่านี้จะทำหน้าที่นำโลหิตไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจจึงต้องการออกซิเจน เพื่อให้ประสิทธิภาพ
เมื่อหัวใจไม่ได้รับโลหิตที่มีออกซิเจนอย่างเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่เรียกว่าอาการหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาการดังกล่าวเป็นการเตือนว่าหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น อาการที่แสดงถึงโรคหัวใจขาดเลือดของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เช่น เจ็บ ปวด หรือรู้สึกไม่สบาย แน่นท้อง เป็นตะคริว ชา หายใจลำบาก จุกเสียด แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น ทั้งนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รู้สึกเครียดและช่วงใช้แรงมากในการทำกิจกรรม อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในบริเวณหน้าอก ช่วงหลังส่วนบน บริเวณในลำคอหรือกราม
ปัจจัยเสี่ยง โรคหัวใจ
- อายุมากขึ้น เพราะปัจจุบันพบว่าอัตราการเป็นโรคหัวใจพบมากในคนอายุ 30 – 40 ปี
พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติครอบครัว พ่อแม่ หรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคหัวใจ มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ - ไขมันในเลือดสูง คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงกับการเป็นโรคหัวใจ มากกว่าคนที่มีไขมันในเลือดปกติหรือต่ำกว่าหลายเท่า เพราะไขมันคือตัวการสำคัญที่จะไปจับตามผนังหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดอุดตัน โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ
- เบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าปกติ และสูงเป็นเวลานานโดยไม่มีการควบคุมให้ดีพอ ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ ไม่แข็งแรง และเป็นสาเหตุของหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้
- ความดันโลหิตสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพราะคนที่มีความดันโลหิตสูงใช่ว่าจะทำให้เลือดมีแรงดันที่จะไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ดีกว่าคนที่ความดันโลหิตปกติ ตรงกันข้ามกลับทำให้หลอดเลือดเกิดการหดเกร็งตัวและทำให้หัวใจขาดเลือดได้อีกเหมือนกัน
- ความเครียด เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจต้องทำงานอย่างหนักหน่วง เพราะเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น คนที่มีความเครียดต่อเนื่อง หัวใจก็จะทำงานหนักมากเกินไปเป็นเวลานาน ความเครียดทางจิตใจทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลินออกมา ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจและหลอดเลือด ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะ ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่ก่อนและยังก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดแดงได้ง่ายด้วย
สาเหตุการเกิดโรคหัวใจ
สำหรับในศาสตร์แพทย์แผนจีน ให้สาเหตุของอาการโรคหัวใจคล้ายกันกับแผนปัจจุบัน นั่นคือสาเหตุที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอเกิดจากปัจจัย
- วินิจฉัยจากความแข็งแรงของร่างกาย สามารถผลิตเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ได้เพียงพอหรือไม่ หากร่างกายสร้างเลือดไม่ดี เลือดไม่สมบูรณ์ ส่งผลทำให้หัวใจขาดเลือด
- ตรวจดูระบบการไหลเวียนเลือด ดูการติดขัด อุดตันของการเดินเลือด ส่วนใหญ่ ถ้าอาการคือเมื่อมีความเครียด เลือดและพลังงานจะเดินตะกุกตะกัก ระบบการส่งเลือดไปที่หัวใจไม่ดีพอ จะมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่สบายตัว มีการเจ็บแปลบขึ้นเป็นช่วงๆ
- หลอดเลือดอุดตัน ตรวจพบว่ามีลิ่มเลือดขวางกั้นที่บริเวณหลอดเลือด เลือดไหลเวียนติดขัด จนทำให้มีอาการหัวใจวาย
แนวทาง ป้องกันโรคหัวใจ ของจีน
กินอาหารสร้างเลือด
ถ้ามีอาการหัวใจขาดเลือด ต้องเน้นการเพิ่มเลือด โดยกินอาหารที่เน้นการสร้างเลือด เช่น ตังกุย ที่เป็นตัวยาหลักในสูตรยาจีนสร้างเลือด หรือยาบำรุงเลือดชื่อ “ซื่ออู้ทั้ง” (Si Wu ‘Tang, 4 Substances Decoction) เป็นของ 4 อย่างที่ช่วยบำรุงเลือด ซึ่งสูตรชื่ออู้ทังนี้ยังเป็นสูตรโบราณที่ใช้ตุ๋นซุปไก่ตำบำรุงเลือดผู้หญิงหลังคลอดช่วงอยู่ไฟ 1 เดือนอีกด้วย
กินสมุนไพรเพิ่มการไหลเวียนเลือด
แพทย์แผนจีนแนะนำให้กินสมุนไพรขยับเลือดเพื่อให้เลือดไม่หนืด เช่น ฮงฮั้ว หรือดอกคำฝอย มีสรรพคุณช่วยให้เลือดไหลเวียน และกลุ่มน้ำมันปลา น้ำมันดอกทานตะวัน เพื่อให้ได้โอเมก้า 3 และมียาจีนสูตรเร่งด่วนที่ช่วยให้เลือดเดินไหลเวียนได้ดี ดังนี้
2.1 สูตรยาเถาเหรินเฉิงซี่ทัง (Tao Ren Cheng Qi Tang, Peach Pit Decoction to Order the Qi) ช่วยให้ก้อนลิ่มเลือดที่อุดตันค้างไว้หลุดออกจากการเกาะติดหลอดเลือดทั่วร่างกาย ตัวยาชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านยาจีนทั่วไปค่ะ ยังมียาจีนอื่นอีกสำหรับการสลายลิ่มเลือดที่หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แก้อาการเจ็บ หน้าอกได้ คือ สูตรยาเสวี่ยฝูจ๋ออวี่ทัง (Xue Fu Zhu Yu Tang, Drive Out Stasis in the Mansion of Blood Decoction)
2.2 ยาสมุนไพรซานชี (San Qi) มีสรรพคุณช่วยเดินเลือดเหมือนกัน เป็นส่วนประกอบหลักในสูตรยาอวิ๋นหนานไป้เหย้า (Yun Nan Bai Yao) ที่แพทย์แผนจีนนิยมใช้กับผู้ป่วยที่บาดเจ็บ เป็นแผล กระดูกหัก ช่วยสมานแผลได้ดี
2.3 ยาสมุนไพรเจียงหวง (Jiang Huang) หรือ ขมิ้นชัน (Curcumin) มีสรรพคุณช่วยเดินเลือดได้ดี ช่วยขยายหลอดเลือดโดยเฉพาะบริเวณหน้าอกช่วงแขน และยังช่วยลดการอักเสบ ซึ่งมีรายงานการวิจัยรองรับ จึงสามารถกินเพื่อป้องกันโรคหัวใจและเพื่อรักษาอาการได้
2.4 ยาสมุนไพรสู่หรง (Lu Rong) ยาลู่เจี่ยว (Zu Jiao) คือเขากวางอ่อนและเขากวางปกติ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ใช้ในกรณีที่มีอาการตัวเย็น เหนื่อยง่ายอ่อนเพลีย หยางไม่พอ ความดันต่ำ ปวดหลังล่างบ่อยๆ หรือมีปวดเข่าร่วมด้วย
2.5 ยาสมุนไพรข้าวยีสต์แดง (Hong Gu. Red Yeast Rice) ช่วยลดคอเลสเตอรอล เนื่องจากมีตัวยาสแตตินตามธรรมชาติอยู่ในข้าวยีสต์แดง ที่ช่วยลดไขมันแล้วยังช่วยสร้างเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี
ส่วนการออกกำลังกายเพื่อทำให้หัวใจและหลอดเลือดแข็งแรง ควรเป็นการออกกำลังกายช้าๆ และใช้เวลานาน ต้องไม่เป็นการออกกำลังกายที่มีแรงกระแทก เช่น ไทซี่ ขี่กง การเดินช้า การขยับร่างกายอย่างช้าแต่ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี ระยะเวลาการออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดควรเกินระยะเวลา 30 นาที ขึ้นไปจึงจะได้ผล
ที่มา นิตยสารชีวจิต
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
บอกต่อทางรอด“ภาวะหัวใจล้มเหลว”
โลว์โซเดียม เลือกยังไงให้ดีกับไต หัวใจ และหลอดเลือด
ดาร์คช็อกโกแลต กินให้ดี บำรุงสมอง และหัวใจ
ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต