ความลับของผิว กับ การดูแลจุดซ่อนเร้น ที่ไม่มีใครเคยบอกคุณ
วันนี้เรามาพูดเรื่องความสะอาดของสาวๆ กันเป็นพิเศษเลยค่ะ กับ การดูแลจุดซ่อนเร้น ที่ไม่เคยมีใครบอก เพราะเราจะลงลึกกันโดย คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข สูติ-นรีแพทย์ ที่จะพาเราไปทำความรู้จักในแต่ละส่วน ก่อนจะแนะนำเทคนิคการดูแลให้ไร้กลิ่น ไร้เชื้อโรค เชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของสาวโซนร้อนชื้นอย่างเราๆ
จุดซ่อนเร้น หมายถึงอะไร
จุดซ่อนเร้นนั้นไม่มีคำที่ใช้ในภาษาอังกฤษโดยตรง แต่สำหรับภาษาไทย หมายถึงอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก (external genitalia) และช่องคลอด (Vaginal) ซึ่งเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ภายใน
อวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกประกอบไปด้วย
- เนินหัวหน่าว (Mons pubis) เป็นผิวหนังนูนที่ปกคลุมด้วยขน มีไขมันอยู่มาก ทำให้อ่อนนุ่ม
- แคมใหญ่ (Labia majora) เป็นผิวหนังนูนแยกเป็นสองกลีบ อยู่ล้อมรอบปากช่องคลอด
- แคมเล็ก (Labia minora) เป็นรอยพับของผิวหนังแยกเป็นสองกลีบ อยู่ด้านในของแคมใหญ่ ไม่มีขน มีต่อมไขมันช่วยในการหล่อลื่น
- ปุ่มกระสัน หรือคลิตอรีส (clitoris) เป็นเนื้อเยื่อขนาดเล็กที่มีเส้นประสาทมาเลี้ยงเป็นจำนวนมาก ยื่นออกมาตรงกลางเหนือแคมเล็กด้านบนที่มาจดกัน
- เยื่อพรหมจรรย์ (Hymen) เป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ วงรอบปากทางเข้าช่องคลอด อยู่ด้านหลังแคมเล็ก
- ช่องคลอด เป็นช่องกลวงลึก 7-10 เซนติเมตร อยู่ระหว่างปากช่องคลอด กับมดลูกและปากมดลูก ประกอบไปด้วยกล้ามเนื้อและเยื่อบุผิวที่มีรอยย่น มีน้ำหล่อลื่นจากต่อมน้ำหล่อลื่น ปากมดลูก และมดลูก
จุดซ่อนเร้นจำเป็นต้องทำความสะอาดไหม?
ในส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกที่เป็นผิวหนัง มีเหงื่อไคล มีกลิ่น ต้องการการทำความสะอาดเหมือนผิวหนังทั่วไปของร่างกาย ปกติการอาบน้ำถูสบู่ วันละ 1-2 ครั้ง เช็ดตัวให้แห้ง ก็เพียงพอ
ส่วนจุดซ่อนเร้นที่เป็นเยื่อบุผิว ได้แก่ ปุ่มกระสัน เยื่อพรหมจรรย์ และช่องคลอด ทางการแพทย์เชื่อว่า เยื่อบุช่องคลอดสามารถทำความสะอาดตนเองได้ (Self Cleaning) โดยให้เหตุผลว่า ช่องคลอดที่แข็งแรงจะมีแบคทีเรีย (Vaginal Flora) จำนวนล้านล้านตัว เป็นแบคทีเรียตัวดีอยู่ร่วมกับแบคทีเรียตัวร้าย แบคทีเรียตัวดีส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม แล็คโตบาซิลลัส (Lactobacillus) มีคุณสมบัติเปลี่ยนไกลโคเจน (Glycogen) ในช่องคลอดให้เป็นกรดแล็กติกและไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำให้ช่องคลอดอยู่ในสภาวะเป็นกรด ค่า pH 3.8-4.5 ความเป็นกรดสามารถควบคุมการเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวร้ายหลายชนิด รวมถึงเชื้อราได้อีกด้วย
ดังนั้นในสภาวะปกติ การดูแลจุดซ่อนเร้น ไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดเยื่อบุผิวและช่องคลอด เพราะช่องคลอดทำความสะอาดตนเองได้ โดยอาศัยแบคทีเรียชนิดดี
แต่ปัญหาคือมีสภาวะไม่ปกติของช่องคลอดมากมาย มีปัจจัยสิ่งแวดล้อมมากมายที่ทำให้เกิดความไม่สมดุล ระหว่างแบคทีเรียตัวดีและตัวร้าย เกิดการลดแบคทีเรียตัวดี เพิ่มแบคทีเรียตัวร้าย ทำให้เยื่อบุผิวและช่องคลอดล้มเหลวในการทำความสะอาดตนเอง เกิดการติดเชื้อในช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และอุ้งเชิงกราน ซึ่งเกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงยุคใหม่
การอักเสบติดเชื้อนั้นมีตั้งแต่ติดเชื้อรา ติดเชื้อแบคทีเรียตัวร้าย ติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อพยาธิช่องคลอด ติดเชื้อพยาธิทวารหนัก ช่องคลอดอักเสบจากภาวะหมดประจำเดือน
ไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงยุคใหม่ กับปัญหาสุขภาพ และ การดูแลจุดซ่อนเร้น
ไลฟ์สไตล์ของผู้หญิงยุคใหม่หลายอย่าง ส่งผลทำให้แบคทีเรียตัวดีในช่องคลอดลดลง แบคทีเรียตัวร้ายเพิ่มขึ้น เกิดการอักเสบติดเชื้อในช่องคลอด ตามปัจจัยและสิ่งแวดล้อมดังนี้
- การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ นอนดึก ไม่ได้ออกกำลังกาย อ้วน หรือผอม มากไป เครียด นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
- กินอาหารไม่ครบหมู่ ไม่ค่อยได้กินผักผลไม้ รับประทานอาหารหมักดอง ของดิบ ของคาว อาหารรสจัด
- มีปัญหาขับถ่าย ท้องอืด ท้องผูก ปัสสาวะไม่หมด กลั้นปัสสาวะ กลั้นอุจจาระ
- นุ่งคับ อับชื้น สวมแผ่นอนามัยหรือแผ่นรองซับปัสสาวะตลอดเวลา เพราะทำงานเร่งรีบจนกลัวเข้าห้องน้ำไม่ทัน
- ล้างช่องคลอดบ่อยครั้งมากเกินไป ใช้หัวฉีดห้องน้ำสาธารณะ ล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ
- มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ตั้งครรภ์ หมดประจำเดือน กินฮอร์โมนเพศ
- มีคู่นอนหลายคน ติดเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์
- คุมกำเนิดด้วยยาคุมกำเนิด การสวมห่วงอนามัย
- หมักหมมเหงื่อไคล เสื้อผ้าชุดชั้นในไม่สะอาด ไม่ได้เปลี่ยนชุดชั้นใน
- กินอาหารเสริมหรือสมุนไพรที่มีฮอร์โมนเพศหญิง ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง ไม่ได้พบแพทย์
วิธี การดูแลจุดซ่อนเร้น ที่ถูกต้อง
ต้องปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ เพื่อให้แบคทีเรียตัวดีในช่องคลอดเพิ่มขึ้น แบคทีเรียตัวร้ายลดลง ช่องคลอดอยู่ในสภาพเป็นกรด ได้แก่
- ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ กินอาหารครบหมู่ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว ออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนเพียงพอ ลดความเครียด
- ไม่นุ่งคับ ไม่ให้จุดซ่อนเร้นอับชื้น ไม่สวมแผ่นอนำมัยเป็นประจำ ควรทำความสะอาดชุดชั้นในให้ปราศจากเชื้อ สวมใส่ขณะแห้งสนิท
- ไม่ใช้หัวฉีดทำความสะอาดเวลาปัสสาวะทุกครั้ง ควรล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วซับให้แห้ง หรือซับให้แห้งเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอ แต่หากอุจจาระควรล้างใส่สบู่ปาดจากหน้าไปหลัง ซับให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดกำรปนเปื้อนเชื้อโรค
- ระวังการติดเชื้อโรคติดต่อทำงเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัย (Safe sex) ไม่แนะนำ One Night Stand เพราะเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงอันตราย
- หากมีอาการปัสสาวะแสบขัด ตกขาว ช่องคลอดมีกลิ่น เจ็บแสบช่องคลอด ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
- ส่งเสริมช่องคลอดเพิ่มแบคทีเรียตัวดี โดย ไม่กินสมุนไพรที่มีฮอร์โมนเพศหญิง ไม่กินของดิบของหมักดอง กินอาหาร และผักผลไม้ ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ และกินโปรไบโอติกส์ แบคทีเรียตัวดี ในนมเปรี้ยว โยเกิร์ต เป็นต้น
- ไม่ใช้สบู่ และน้ำยาล้างจุดซ่อนเร้นซึ่งเป็นด่างล้างช่องคลอด ไม่สวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อเป็นประจำ
- ไม่กลั้นปัสสาวะอุจจาระ ไม่ใช้แป้งทาจุดซ่อนเร้น
การส่งเสริมจุดซ่อนเร้นให้มีสุขภาพดี
เนื่องจากจุดซ่อนเร้นเป็นด่านแรกที่จะป้องกันการติดเชื้อภายใน ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ มีโอกาสเพิ่มแบคทีเรียตัวร้ายในช่องคลอดมากขึ้น การล้างช่องคลอดด้วยน้ำเปล่าอาจจะไม่เพียงพอ การส่งเสริมให้ช่องคลอดมีสุขภาพดี โดยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ หากมีการอักเสบติดเชื้อช่องคลอด ควรพบแพทย์เพื่อรักษา งานวิจัยพบว่าการรักษาช่องคลอดอักเสบ ร่วมกับการใช้ยาสอดช่องคลอดที่เป็นกรด และ /หรือ ร่วมกับ การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่เป็นกรดอ่อน ๆ ทำให้ช่องคลอดอยู่ในสภาพความเป็นกรดที่เหมาะสมกับจุดซ่อนเร้น สามารถป้องกันการเกิดช่องคลอดอักเสบ จากการเพิ่มแบคทีเรียตัวร้ายที่เกิดซ้ำได้
ทริคการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยแล็กติกแอซิด ทำมาจากธรรมชาติ โดยเลียนแบบการควบคุมแบคทีเรียตัวร้ายตามธรรมชาติของแบคทีเรียตัวดี กลุ่มแล็กโตบาซิลลัส
- เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นมีความเป็นกรด pH ไม่เกิน 4.5
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่เติมสีสังเคราะห์ ไม่เติมกลิ่น หรือสารเคมี ที่ทำให้มีโอกาสเกิดอาการแพ้
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีงานวิจัยถึงความปลอดภัย ช่วยป้องกันกำรเจริญเติบโตของแบคทีเรียตัวร้ายได้จริง
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองคุณภาพ จากอย.
และที่สำคัญเลือกผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมของสารสกัดจากนมและกรดแล็กติกออร์แกนิก เพื่อการทำความสะอาดได้อย่างอ่อนโยนและเหมาะสม
บทความโดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
References
- Murta EF, Filho AC, Barcelos AC. Relation between vaginal and endocervical pH in pre- and post-menopausal women. Arch Gynecol Obstet 2005; 272:211.
- Hill LV, Embil JA. Vaginitis: current microbiologic and clinical concepts. CMAJ 1986; 134:321.
- Lin YP, Chen WC, Cheng CM, Shen CJ. Vaginal pH Value for Clinical Diagnosis and Treatment of Common Vaginitis. Diagnostics (Basel) 2021; 11.