ลมหายใจท่ามกลาง ฝุ่น PM 2.5 ทิศทางสุขภาพคนไทยที่น่าจับตาในปี 2024
ฝุ่น PM 2.5 การหายใจเป็นกระบวนการสำคัญทางร่างกายของมนุษย์ โดยจะเอาอากาศจากภายนอกซึ่งมีออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูก หลอดลม ปอด และนำคาร์บอนไดออกไซด์ ออกมาสู่ภายนอก ซึ่งมนุษย์จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หากขาดกระบวนการนี้ อย่างไรก็ตาม นอกจากออกซิเจนที่เราหายใจเข้าไป ก็ยังมีมลพิษต่าง ๆ ทั้งที่เกิดโดยธรรมชาติและเกิดจากการกระทำของมนุษย์เล็ดลอดเข้าไปในร่างกายของเราด้วย
ย้อนกลับไปในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยที่อยู่อาศัยในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่ เริ่มรับรู้ได้ถึงคุณภาพอากาศที่แย่ลง ท้องฟ้าที่เคยสดใสกลับเปลี่ยนเป็นสีหม่นเพราะถูกปกคลุมไปด้วยฝุ่นควันที่ปัจจุบันหลายคนเรียกกันติดปากไปแล้วว่า PM 2.5 (ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน)ซึ่งเมื่อเราหายใจนำเจ้าฝุ่นจิ๋วนี้เข้าไปในร่างกาย ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับสุขภาพ ตามประโยคที่ว่า “You are what you breathe” หายใจเอาอะไรเข้าไปร่างกายก็จะเป็นอย่างนั้น
ซึ่งผลกระทบทางสุขภาพที่เห็นได้ชัดก็คือ แสบจมูก หายใจไม่สะดวก ไอ จาม และมีผื่นคันตามผิวหนัง ซึ่งกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มอย่าง เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงอายุ ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้นไปอีก เพราะเจ้าฝุ่นจิ๋วตัวร้ายนี้สามารถกระตุ้นภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 19 มี.ค. 2566 มีผู้ป่วยจำนวน 1,730,976 คน ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาถึง 228,870 คน จากช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า
และจากการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2560-2563 พบว่า 4 โรคหลักที่ผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เจ็บป่วย ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด สาเหตุที่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงมากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ นั้นเกิดจากการได้รับมลพิษทางอากาศมาเป็นเวลานานนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมโยงระหว่าง PM 2.5 กับโรคร้ายที่น่ากลัวอย่างมะเร็งปอดด้วย และมีผลการศึกษาจากต่างประเทศที่ตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงดังกล่าว โดยชาร์ลส์ สวันตัน (Charles Swanton) นักวิจัยด้านมะเร็งจากสถาบันฟรานซิสคิก (Francis Crick Institute) ของสหราชอาณาจักร ได้เผยข้อมูลว่า การได้รับมลพิษทางอากาศเพียงแค่ 3 ปี ก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดได้ เนื่องจากมลพิษขนาดเล็กมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการกลายพันธุ์ในยีนตัวรับ EGFR ที่พบได้มากในมะเร็งปอด
สำหรับแหล่งกำเนิด PM 2.5 ในพื้นที่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มี 3 แหล่งหลัก ๆ ก็คือ
- ท่อไอเสียรถยนต์ เนื่องจากในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีผู้คนอาศัยอย่างหนาแน่น ปริมาณการใช้รถยนต์ส่วนค่อนข้างมากประกอบกับการจราจรที่แออัดคับคั่ง โดยในปี 2564 สถิติจำนวนรถจดทะเบียนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีจำนวนรวมกันมากถึง 12.3 ล้านคัน เลยทีเดียว
- โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง การขยายตัวของเมืองทำให้เกิดการก่อสร้างอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างเช่น รถไฟฟ้า คอนโดมิเนียม หมู่บ้าน
- การเผาในที่โล่ง การเผาไหม้ของเสียจากภาคเกษตรกรรม รวมถึงการจัดการขยะ ในพื้นที่โดยรอบก็อาจสร้างปัญหาฝุ่นควันด้วยเช่นกัน
ขณะที่ต้นตอปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือโดยเฉพาะที่เชียงใหม่ ก็มีปัจจัยมาจาก 3 ประการเช่นกัน คือ
- ลักษณะภูมิประเทศ ที่กักขังการไหลเวียนของอากาศ อย่างที่ราบแอ่งกระทะ ล้อมรอบด้วยภูเขา
- ภูมิอากาศ ซึ่งเกิดจากการผันผวนของอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศด้านบนซึ่งมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อากาศไม่หมุนเวียน
- การเผาชีวมวล หรือวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร
จากผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทำให้ PM 2.5 กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคนไทยไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในโลกออนไลน์เองไม่ว่าจะเป็น Facebook, X (Twitter), Instagram, TikTok หรือ Youtube ก็มีเสียงสะท้อนออกมาให้เห็น เพราะในช่วงระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2566 มีการพูดถึงปัญหานี้ 64,974 ข้อความเลยทีเดียว
และหากปัญหามลพิษทางอากาศยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นและยังคงความเข้มข้นในระดับเช่นนี้อยู่ ในอนาคตจะมีคนอีกมากที่ต้องเผชิญกับโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด สูงยิ่งกว่าจำนวนผู้ป่วยที่พบในปัจจุบัน
PM 2.5 ยังกลายเป็น 1 ใน 7 ประเด็นสุขภาพที่น่าจับตามองในงาน “ThaiHealth Watch 2024” จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดูแลสุขภาพ พร้อมร่วมมือกับภาคีเครือข่ายวิชาการพัฒนานวัตกรรมและหาแนวทางเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต ร่วมกับประเด็นอื่น ๆ อย่าง
- ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด เมื่อวันที่ไทยต้องเป็นครอบครัวข้ามรุ่น
- ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่มรสหวาน มิตรยามว่างหรือศัตรูเรื้อรังเด็กไทย
- เยาวชนไทยบนโลกแห่งการพนันไร้พรมแดน
- สุราท้องถิ่นนอกระบบ คุณค่าความหลากหลายบนความเสี่ยงทางการควบคุม
- เยาวชนกับภูมิคุ้มกัน ในยุคที่ยาเสพติดเข้าถึงง่าย
- โลกเดือดสะเทือนไทย ทางออกในวิกฤติความมั่นคงทางอาหาร
สามารถติดตามประเด็นสุขภาพอื่น ๆ ที่น่าจับตามองได้ที่ ThaiHealth Watch 2024