ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว เมนูเครื่องยาจีนสำหรับผู้สูงอายุ

ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว เมนูเครื่องยาจีนสำหรับผู้สูงอายุ

โดย อ.วันทนี ธัญญา เจตนธรรมจักร

 

ดิฉันชอบดูอาม่าจ่ายตลาด โดยเฉพาะเวลาเลือกซื้อปลา อาม่าจะเลือกซื้อปลาที่เนื้อยังแน่น เวลากดนิ้วลงบนตัวปลาเนื้อปลาจะเด้งกลับราวกับมีสปริง ตาปลาต้องใส เหงือกแดง  ท้องไม่แตกหรือนิ่มเละ เมื่อเลือกซื้อปลาได้แล้ว อาม่าก็จะบอกให้แม่ค้าขอดเกล็ด ดึงเหงือกและไส้ปลาออก แล้วแม่ค้าก็จะใช้ใบตองห่อปลาหลาย ๆ ชั้นก่อนผูกด้วยเชือกกล้วย เป็นหูหิ้ว แทนถุงพลาสติก (ซึ่งสมัยนั้นไม่มี)

เมนูปลาประจำบ้านดิฉันมีอยู่หลายจานเด็ด แต่เมนูที่เข้าเครื่องยาจีนและอาม่าท่านเลือกปรุงให้คนในบ้านซึ่งสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงรับประทานก็คือ ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว ซึ่งเมื่อฉันโตขึ้นและได้มีโอกาสศึกษาวิชาการแพทย์แผนจีน ถึงเข้าใจว่าอาหารจานดังกล่าวมีสรรพคุณในการช่วยบำรุงสุขภาพได้อย่างดี

ห่วยซัว เป็นหัวพืชตระกูลมันค่ะ  มีรสหวานสุขุม ช่วยบำรุงอวัยวะที่เป็นแหล่งสะสมพลังงานของร่างกาย ทั้ง ม้าม ปอด ไต บำรุงชี่ ช่วยเสริมหยิน รวมทั้งช่วยรักษาอาการถ่ายอุจาระเหลว  ไอและมีเสมหะมากเนื่องจากโรคปอด

ไตพร่อง ฯลฯ มีเรื่องเล่าบันทึกไว้ในตำรา อีเสวโจงโจงเชินซีลู่ ของจีนว่า สตรีผู้หนึ่งหลังคลอดแล้วเกิดอาการหอบชนิดเฉียบพลัน เหงือออกไม่หยุด นายแพทย์คนแรกจึงใช้อึ่งคี้ เส็กตี่ ซึ่งเป็นยาบำรุงพลังต้มให้นางดื่ม ทว่าเหงื่อกลับออกมามากยิ่งขึ้น แต่เมื่อหมอชื่อ จาง มารักษา จึงเปลี่ยนมาใช้ห่วยซัว 6 ตำลึง ต้มน้ำให้คนไข้ค่อย ๆ จิบดื่มเป็นเวลา 3 วันติดกัน คนไข้ก็พ้นขีดอันตรายในที่สุด

นอกจากห่วยซัวแล้ว เมนูปลาที่ว่ายังมี เก๋ากี้ ผลไม้แห้งเม็ดสีแดง มีรสหวานสุขุม สรรพคุณบำรุงตับ ไต บำรุงสายตา บำรุงเลือดและสารน้ำในร่างกายไม่ให้เสียสมดุล อีกทั้งเมื่อเลือกปรุงกับเนื้อปลาซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี ย่อยง่าย เรียกได้ว่าแต่ละตัวมีสรรพคุณบำรุงทั้งนั้นที่สำคัญรับประทานได้เรื่อยๆ ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกายค่ะ ปลาผัดจานนี้จึงกลายเป็นอาหารอร่อยที่ไม่กระทบต่อระบบการทำงานในร่างกายของผู้ที่อ่อนแอ ทั้งยังช่วยฟื้นฟูพลังของร่างกายให้กลับมานั่นเอง

หากในบ้านคุณมีผู้สูงอายุ หรือคนป่วยหลังฟื้นไข้ บอกได้เลยค่ะว่า เมนูนี้เป็นทางเลือกที่ดีในการบำรุงสุขภาพแน่นอน ที่สำคัญแม้จะไม่ใช่คนป่วยก็สามารถรับประทานเพื่อส่งเสริมร่างกายได้ดี อย่างไรก็อย่าลืมปรุงชิมกันดูนะคะ ครั้งต่อไปดิฉันจะขอเสนอเมนูเข้าเครื่องยาจีนแสนอร่อยที่ช่วยป้องกันโรคไมเกรน อาการสุดฮิตของคนยุคนี้กัน แต่จะเป็นเมนูอะไรนั้นต้องรอติดตามใน Nutrition Therapy ฉบับหน้านะคะ

ปลาผัด เก๋ากี้ ห่วยซัว
ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว

ปลาผัดเก๋ากี้กับห่วยซัว

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)

เตรียม   45  นาที (รวมเวลาแช่ห่วยซัวให้นิ่ม) ปรุง   10  นาที

เนื้อปลากะพงแดงหรือขาวแล่เป็นชิ้นพอคำ        200         กรัม

ขิงอ่อนสับละเอียด                                                 1              ช้อนโต๊ะ

กระเทียมสับละเอียด                                            1              ช้อนโต๊ะ

คึ่นไฉ่หั่นเป็นท่อน                                                   1              ต้น

เมล็ดเก๋ากี้แช่น้ำจนนิ่ม                                          1              ช้อนโต๊ธ

ห่วยซัว                                                                    30           กรัม

ซีอิ๊วขาว                                                                  1 ½         ช้อนโต๊ะ

น้ำมันงา                                                                 3              หยด

เหล้าจีนหรือเหล้าลำใย                                         1              ช้อนโต๊ะ

น้ำมันสำหรับผัด                                                    3              ช้อนโต๊ะ

น้ำซุปกระดูกหมู                                                    ¼             ถ้วย

พริกไทยป่นเล็กน้อย

น้ำเปล่าสำหรับแช่ห่วยซัว

น้ำเปล่าสำหรับลวกปลา

ข้าวสวยหรือเส้นหมี่ลวกสุกคลุกกระเทียมเจียว

วิธีทำ

1.ต้มน้ำให้เดือด ปิดไฟ ใส่ห่วยซัวลงไปแช่จนนิ่มและเริ่มใส (ใช้เวลาประมาณ 30 -45 นาที) จึงนำมาหั่นเป็นชิ้นพอคำ

พักไว้ นำเก๋ากี้แช่น้ำร้อน 5 นาทีให้พอนิ่ม พักไว้

2.ต้มน้ำในหม้ออีกใบให้เดือด ใส่เนื้อปลาลงลวกพอให้ด้านนอกสุก พักไว้

3.ผัดขิงสับและกระเทียมสับกับน้ำมันในกระทะจนหอม ใส่ห่วยซัวลงผัดจนนิ่ม ใส่เนื้อปลา ปรุงรสด้วยเกลือ ซีอิ๊วขาว พริกไทย คึ่นไฉ่ เหล้าจีน ตามด้วยเมล็ดเก๋ากี้ ผัดให้เข้ากัน ตักใส่จานโรยพริกไทยอีกเล็กน้อย รับประทานกับข้าวสวยหรือเส้นหมี่ลวกสุกคลุกกับน้ำมันกระเทียมเจียวก็ได้

หมายเหตุ :  กินเป็นประจำจะช่วยบำรุงอวัยวะทังห้า ผู้ที่เป็นวัณโรคอันเกิดจากปัจจัยภายในพร่องไม่ควรรับประทาน ทั้งนี้ในตำราการปรุงอาหารเข้าเครื่องยาจีนโบราณ ยังระบุข้องบ่งใช้ห่วยซัวไว้ว่า ไม่ควรนำไปปรุงร่วมกับต้นหอมสด เพราะเป็นอาหารที่มีฤทธิ์ขัดกัน

เอกสารอ้างอิง หนังสือ อาหารเครื่องยาจีน หลักโภชนาการ พร้อมสูตรอาหารอายุวัฒนะ  จัดพิมพฟ์โดยบริษัทรีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทยจำกัด)  หน้า 34

ห่วยซัวแห้ง มีจำหน่าย ตามร้านขายยาจีนทั่วไป  ส่วนแบบสด สามารถหาซื้อได้ที่ตลาดเก่าเยาวราช

 

พลังงานตอหนึ่งหนวยบริโภค 249.72 กิโลแคลอรี

โปรตีน 18.36 กรัม

ไขมัน 18.17 กรัม

คารโบไฮเดรต 2.33 กรัม

ไฟเบอร0.30 กรัม

© COPYRIGHT 2025 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.