ซอสมะเขือเทศโฮมเมด จากห้องครัวปูเป้ คุณสุพัตรา อุสาหะ
ครั้งนี้คุณปูเป้จะนำเสนอ ซอสมะเขือเทศโฮมเมด แบบปลูกเอง ปรุงเอง กินเอง แจกจ่ายและขายด้วยในแบบของเธอ
ทุกครั้งที่คุณปูเป้ไปสาธิต หรือสอนการทำอาหาร เครื่องปรุง หรือเครื่องดื่มโฮมเมดให้ผู้สนใจฟัง จะบังเกิดพลังบวกขึ้นรอบเวที เนื่องมาจากตัวเธอมีพลังร่างกายและสมองที่ล้นเหลือ จากการปลูก ปรุง กินแบบห้องครัวมินิของเธอ
“ที่ทำซอสมะเขือเทศเกิดจากเป้ปลูกมะเขือเทศแล้วมันออกลูกดกมาก แค่ปลูกสองสามต้นเองนะ เรากินไม่ทันหรอก เพราะกินคนเดียวด้วย ก็มาคิดว่ามะเขือเทศทำอะไรได้บ้างนะ เลยเสิร์ชข้อมูลวิธีทำซอสมะเขือเทศ มันทำไม่ยากเลยเก็บมะเขือเทศมาครึ่งกิโล ก็ดูสูตรว่าเขาใส่อะไรบ้าง แต่เราไม่ได้ชั่งตวงวัดตามสูตรนะ ปรุงได้รสชาติที่ชอบก็โอเค แต่ก็มีมาปรับสูตรบ้างตามสิ่งที่เรามีในบ้าน คือในสูตรใช้หอมหัวใหญ่ให้ความหวานแทนน้ำตาลสำหรับคนไม่ชอบหวาน
แต่ในตอนนั้นครัวเป้ไม่มีหอมหัวใหญ่ มีแต่หอมแดง ก็ใส่หอมแดงแทน เพียงแต่ใส่เล็กน้อยเพื่อให้ความหวาน ใส่มากไม่ได้เพราะมีกลิ่นฉุน แล้วเติมน้ำตาลทรายไม่ขัดสีเพิ่มลงไปเล็กน้อย และเราชอบกลิ่นกานพลูก็ใส่เพิ่มลงไปเล็กน้อยกลายเป็นสูตรที่เราชอบ”
นอกจากซอสมะเขือเทศโฮมเมดที่เธอทำเองแล้ว ในห้องครัวมินิยังมีอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องปรุงรสอีกหลายชนิดที่เธอทำด้วยความอุตสาหะและตั้งใจ ซึ่งมาจากผักผลไม้ที่เธอปลูกไว้รอบบ้าน
“เมื่อก่อนเป้ใช้ชีวิตแบบคนกลางคืน คือเปิดร้านอาหาร ฝากชีวิตไว้กับเชฟที่ร้าน ไม่เคยทำอาหารเองเลย กินข้าวมื้อดึก นอนตีสามตีสี่ แต่กลับมานึกย้อนว่า เราใช้ชีวิตแตกต่างจากคนอื่น กลางวันเป็นกลางคืน กลางคืนเป็นกลางวัน จะใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อไปตลอดเหรอ มันไม่ยั่งยืน ทั้งการงาน สุขภาพ จึงค่อยปรับตัว แล้วเริ่มหางานที่เราชอบ คือ การทำอาหารการปลูกต้นไม้ และงานแฮนด์เมด
“สมัยยังเป็นเด็ก บ้านเราทำอาหารเอง ปู่ย่าจะฝึกหลานทุกคนให้ทำกับข้าวเป็น ต้องใช้คำว่าตระกูลอุสาหะ จะทำกับข้าวเป็นทุกคนเพราะได้รับการปลูกฝังมาอย่างนี้ ยิ่งพอมาทำงานอยู่่บ้านคนเดียว เราเป็นคนกินน้อย กินง่าย ก็เลยทำอาหารเอง ทำง่าย ๆ แบบไม่ปรุงรสชาติก็โอเคแล้ว ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเลือกวัตถุดิบเอง จะใส่ผักโน่นผักนี่ตามชอบ
“รวมกับมีกระแสเรื่องสารเคมีตกค้างในพืชผักเยอะ แล้วเราเป็นคนไม่กินเนื้อสัตว์ กินผักเยอะกว่าเนื้อสัตว์ ก็มองว่าควรปลูกผักกินเอง ตอนนั้นที่บ้านไม่มีพื้นที่ มีระเบียงชั้นสองยื่นออกไปสามเมตร ก็ลองปลูกผักจากต้นที่ปลูกง่าย ๆ และจากความชอบคือ ชอบกินเผ็ดก็ปลูกพริก ชอบกินผัดกะเพราก็ปลูกกะเพรา หรือไปร้านจิ้มจุ่มมีต้นโหระพาก็เอามาจิ้มลงดินมันก็งอกงามดี จากน้นั เราเลยขยับขยายพันธ์ุพืชเพิ่มขึ้น ชีวิตเริ่มพลิกผันจากตรงนี้แหละ”
ความพลิกผันคือ เธอมีความสุขในการปลูกและปรุงกินเอง เพราะเหมือนว่าได้ดูแลสุขภาพอย่างเต็มร้อย ที่สำคัญเธอยังค้นพบว่าสามารถบริหารจัดการเวลาและยังหารายได้จากการปลูกเอง ปรุงเองของเธอได้ด้วย
“พอมาอยู่คนเดียว ไม่ได้ทำงานประจำ ก็มีเวลาทำอาหารกินเองแทบทุกมื้อเลย แต่เราก็เข้าใจคนทำงานนอกบ้านนะ ที่เขาอาจไม่มีเวลา แต่เป้ก็ค้นพบว่า จะรอให้มีเวลาแล้วมาทำกับข้าวกินเองคงไม่ใช่ มันคือการจัดเวลา เช่นรู้ว่าไม่ใช่คนตื่นเช้า อาหารเช้าเราควรจะเตรียมไว้ตั้งแต่กลางคืนก่อนนอน คิดไว้เลยว่าจะทำอะไรง่ายสุด อย่างแซนด์วิชทำง่ายมาก เพราะเป็นคนทำขนมปังเอง เช้ามาก็แค่เอาขนมปังมาวางไข่ดาวออร์แกนิกวางลงไป วางผัก โรยพริกป่น แค่นี้ก็เป็นมื้อเช้าที่โอเคแล้ว
หรือถ้ากินอาหารเช้าหนัก ๆ ไม่ไหว กินสลัดไหม แต่ถ้ากินลำบากก็ปั่นสิ ผักทุกอย่างที่กินดิบได้เอามาใส่โถปั่น ใส่ขวดนั่งกินไประหว่างขับรถ มันก็อยู่ท้องเหมือนกัน นี่คือเรื่องการจัดเวลา แต่สิ่งสำคัญที่จะบอกต่อคือ เราต้องรู้ที่มาของอาหาร”
คุณปูเป้มักบอกตัวเองและทุกคนที่มาพูดคุยกับเธอเสมอว่าให้สนใจ
“ที่มาของอาหาร”
“บางคนเข้าใจว่าที่มาของอาหารคือ ซื้อมาจากซูเปอร์มาร์เก็ตไหนอันนี้ไม่ใช่ แต่คือรู้ว่าผักผลไม้ หรืออาหารผลิตอย่างไร ปลูกแบบไหน แบบอินทรีย์ปลอดสาร หรือใช้สารเคมี ใครเป็นคนปลูก เชื่อถือได้แค่ไหน มีกระบวนการผลิตและแปรรูปอย่างไร เป้พยายามสื่อสารให้คนรู้ถึงเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งสำคัญในการเลือกอาหารที่จะนำมาปรุงในบ้านเรา”
นอกจากการทำอาหารกินเองและรู้จักเลือกแหล่งอาหารปลอดภัย จะทำให้เธอมีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง ความดัน เบาหวาน หัวใจ ผลตรวจเลือดล่าสุดก็อยู่ในเกณฑ์ดีสุด ๆ ทำให้สบายใจว่าเธอได้ดูแลตัวเองเต็มที่แล้ว ไม่ว่าในอนาคตจะมีปัญหาสุขภาพเป็นโรคร้ายแรงอะไรหรือไม่ เธอพร้อมจะน้อมรับ เพราะถือว่าอยู่เหนือการควบคุมจริง ๆ
แต่ที่สามารถควบคุมและบริหารจัดการได้คือรายได้จากการทำผลิตภัณฑ์โฮมเมดจำหน่าย ซึ่งเธอแนะนำว่าไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ
หรือฟรีแลนซ์สามารถทำได้ทั้งนั้น
“เป้มีทางเลือกให้คนทำงานแบบนี้ว่า คุณกลับมาจัดเวลาให้ได้แล้วลองทำซอสโฮมเมด ซีอิ๊วโฮมเมด อย่างซีอิ๊วถั่วเหลืองลงทุนหาโหล 10 ลิตร 2 ใบ หมักทิ้งไว้ 3 เดือน ระหว่างรอก็หมักเพิ่มอีก ทำไปเรื่อย หรืออย่างปลูกอัญชันไว้ลองเก็บมาทำน้ำส้มดอกอัญชัน หรือถ้าไม่ปลูกลองไปเดินตลาดสีเขียว ชาวบ้านเขาเอามาขายกันเยอะ
หมักทิ้งไว้ 3 เดือน เอามาขายผ่านเฟซบุ๊กหรือหิ้วไปออฟฟิศ เชื่อเถอะเพื่อนในออฟฟิศเราต้องมีอย่างน้อยสักคนสองคนที่เขามีข้อจำกัดเรื่องเวลา ไม่มีเวลาทำเอง แต่อยากได้ผลิตภัณฑ์ ก้าวแรกอาจจะยาก แต่พอลองเริ่มทำแล้ว คุณจะรู้ว่าไม่ยาก และเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่ดีทีเดียว”
เห็นไหมคะว่า วิถีห้องครัวสีเขียวของปูเป้สามารถสร้างอาหาร สร้างงาน สร้างสุขภาพให้เราได้ ถ้ารู้จักบริหารเวลาให้เป็น
ซอสมะเขือเทศโฮมเมด
ส่วนผสม
มะเขือเทศราชินีหรือมะเขือเทศเนื้อ 1/2กิโลกรัม
หอมเล็ก 2 – 3 หัว
กระเทียม 3 – 4 กลีบ
ดอกเกลือ 1 ช้อนชา
น้ำตาลทรายไม่ฟอกขาว 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำส้มสายชูหมักธรรมชาติ 1 ช้อนโต๊ะ
กานพลู 3 – 4 ดอก
อบเชย 1 แท่ง
น้ำเปล่าพอท่วมมะเขือเทศ
วิธีทำ
- วางมะเขือเทศลงในหม้อตุ๋น เทน้ำลงไปจนท่วมมะเขือเทศ นำกานพลูและอบเชยใส่ถุงผ้ามัดปม ใส่ลงในหม้อตุ๋น ตามด้วยกระเทียมและหอมเล็ก ตุ๋นด้วยไฟอ่อนจนกว่ามะเขือเทศเละ
- ตั้งมะเขือเทศที่ตุ๋นได้ทิ้งไว้ให้เย็น ตักถุงผ้าห่อกานพลูและอบเชยขึ้น ถ้าใช้มะเขือเทศเนื้อต้องลอกเปลือกออก หลังจากนั้นนำไปปั่นให้ละเอียดเป็นเนื้อเนียน
- ปรุงรสด้วยดอกเกลือ น้ำตาลทรายไม่ฟอกขาว น้ำส้มสายชูหมักตามธรรมชาติ คนให้เข้ากัน กรองด้วยกระชอนตาถี่หรือจะใช้ผ้าขาวบางซ้อนสองชั้นกรองก็ได้
- เทส่วนผสมที่กรองได้ลงในหม้อตุ๋น ตุ๋นด้วยไฟอ่อนหมั่นคนเพื่อไม่ให้ก้นหม้อไหม้ รอควันขึ้นทั่วหม้อประมาณ 15 นาที จากนั้นบรรจุใส่ขวดที่ฆ่าเชื้อแล้ว ปิดฝา
ชีวจิต Tips
- เราสามารถเติมน้ำตาลทรายไม่ฟอกขาวหรือน้ำส้มสายชูหมักมากขึ้น เพื่อความเข้มข้นของรสชาติ
- สามารถใช้มะเขือเทศได้ทุกพันธุ์ แต่ที่นิยมใช้คือ มะเขือเทศลูกเล็ก เช่น มะเขือเทศราชินีเพราะมีรสชาติเข้มข้น เมื่อนำไปต้มจะเปื่อยง่ายทั้งเปลือกและเมล็ด เวลาปั่นก็จะได้เนื้อละเอียด
- การบรรจุซอสมะเขือเทศแบบร้อน หมายถึง การนำขวดไปนึ่งฆ่าเชื้อโรคประมาณ 15 นาทีให้ขวดร้อน แล้วเทซอสมะเขือเทศที่ตุ๋นใหม่ ๆ บรรจุลงในขวดร้อนเลย จะสามารถเก็บในตู้เย็นได้นานถึง 2 เดือน
- การบรรจุซอสมะเขือเทศแบบเย็น หมายถึง การนำขวดไปนึ่งหรือต้มฆ่าเชื้อโรค 15 นาที แล้วนำขวดไปผึ่งให้แห้ง นำไปบรรจุซอสที่ตุ๋นแล้วและตั้งทิ้งไว้ให้เย็น ซึ่งวิธีนี้ต้องระมัดระวังเรื่องการปนเปื้อน จากการสัมผัสปากขวดหรือการตากขวดในบริเวณที่มีฝุ่นผง
เรื่อง ชมนาด
บทความอื่นที่น่าสนใจ
น้ำเต้าหู้ ของดีใกล้ตัว บำรุงสมอง ดูแลหัวใจ
ทำไม วัยทองเสี่ยงโรค หัวใจและหลอดเลือด และโรคกระดูกพรุน
อาหารบำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีอยู่ในตู้เย็น
ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต
оформить карту рассрочки онлайн