ปัญหาธรรมประจำวันนี้: คำว่า บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา หมายความว่าอะไร
ถาม: คำว่า “ บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา ” หมายความว่าอย่างไรคะ แล้วคนที่ทำบุญจะนิพพานได้อย่างไรคะ
ดร.พระมหาบวรวิทย์ รตนโชโต พระอาจารย์ผู้ไขปัญหาธรรม ตอบว่า
ตอบ: ผู้ที่บุญก็ไม่เอา บาปก็ไม่เอา มีความหมาย 2 ประเภท กล่าวคือ ประเภทแรก เป็นผู้ที่ไม่ทำทั้งบุญ ไม่ทำทั้งบาป คือ ไม่ทำอะไรทั้งสิ้นในทางกายและคำพูดที่แสดงให้เห็นได้ แต่ในทางจิตใจแล้วก็ไม่แน่ เพราะตัวมโนกรรมมันเกิดขึ้นได้ง่าย อาจคิดดี คิดไม่ดีก็เป็นได้ ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ย่อมมีโอกาสเพลี่ยงพล้ำได้ บางทีถึงกับเข้าใจผิดโดยเข้าข้างตัวเองว่าเดินทางสายกลาง พฤติกรรมแบบนี้เป็นลักษณะของผู้มีชีวิตประมาท หากไม่ได้รับการฝึกฝนจิตมาดีพอ ไม่ได้ฝึกสติปัญญามาดีพอ เมื่อมีอารมณ์เข้ากระทบก็ย่อมจะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่
ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นลักษณะของพระอรหันต์ที่ท่านมีจิตมั่นคงแข็งแกร่ง อาจหาญ มีสติปัญญามั่นคงแจ่มชัด พิจารณาเห็นสังขารและสภาพธรรมทั้งหลายล้วนตกอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ล้วนเกิดขึ้นแล้วดับไปทั้งสิ้น จึงไม่มีความกังวลห่วงหาอาลัยอาวรณ์ มีจิตที่ผ่องใสบริสุทธิ์ อานิสงส์แห่งการทำคุณงามความดีของท่านที่ก่อให้เกิดเป็นบุญ จึงไม่มีผลทำให้ใจของท่านพองโตและชื่นชมยินดีกับผลบุญนั้น คือ ท่านวางได้ ละได้ ไม่ยึดมั่นถือมั่นบุญเหล่านั้น ส่วนบาปนั้นก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะท่านไม่ยึดมั่นถือมั่นมานานแล้ว
ดังนั้นผู้ฉลาดพึงทำบุญนั้นบ่อย ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ”สุโข ปุญญัสสะ อุจจะโย การสั่งสมซึ่งบุญ นำความสุขมาให้” ไม่ละเลยในบุญ คราใดที่รู้ตัวก็รีบทำบุญนั้นทันที เพราะหากไม่รีบทำแล้ว เดี๋ยวจิตฝ่ายต่ำก็จะมาแทนที่ เลยหมดโอกาสทำบุญกันไป เราเกิดมาหลายภพหลายชาติ และจะเกิดอีกไม่รู้กี่ชาติ เพราะเราไม่รู้นี่เองจึงต้องแสวงหาเสบียงในการเดินทางข้ามภพข้ามชาติ พระพุทธองค์ตอนเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ก็ตาม พระอริยสาวกที่บรรลุนิพพานก็ตาม ล้วนทำบุญมาทั้งสิ้น บุญไม่ขวางพระนิพพานแน่นอน กลับกันจะช่วยสนับสนุนให้มีปฏิปทาในการทำพระนิพพานให้แจ้งด้วย และคำว่าบุญก็กว้างมาก พระองค์ตรัสถึงทางมาแห่งบุญไว้ถึง 10 ประการด้วยกัน คือ
1. ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการสละสิ่งของภายนอกให้เป็นทาน เป็นการสลัดความตระหนี่และสร้างเมตตาและกรุณาธรรมขึ้นในจิตใจให้มีสภาพอ่อนโยน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ไม่เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบ ประหัตประหารซึ่งกันและกัน เป็นบุญอย่างเดียวเท่านั้นที่ต้องสละทรัพย์สินเงินทอง
2. สีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล ผู้รักษาศีลย่อมมีชีวิตที่หนักแน่นมั่นคง สงบเยือกเย็น
3. ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการพัฒนาจิตใจให้มีสติปัญญาเจริญก้าวหน้า รู้เท่าทันสภาพธรรมทั้งหลายทั้งปวงจนกระทั่งถอนรากถอนโคนในตัณหาทั้งหมดทั้งมวล จะได้ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์เหล่านั้น
4. อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนไม่เย่อหยิ่งจองหอง เคารพความคิดของคนอื่น
5. เวยยาวัจจมัย บุญที่สำเร็จด้วยการขวนขวายช่วยเหลือกิจการงานเท่าที่เรามีกำลัง ไม่ว่าจะกำลังกาย กำลังทรัพย์ กำลังสติปัญญา ไม่นิ่งเฉยเมื่อเรามีโอกาส
6. ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้มีพระคุณและสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นการตอบแทนบุญคุณที่บรรพชนได้คิดค้นบุกเบิกสิ่งต่าง ๆ จนทำให้เราได้เสพเสวยสุขในปัจจุบัน ถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูเป็นแบบอย่าง
7. ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการชื่นชมยินดีความสำเร็จสมหวังของผู้อื่น เป็นการสลัดความอิจฉาริษยาซึ่งเป็นอุปกิเลส อันเป็นมลทินให้ใจเศร้าหมองออกจากใจ
8. ธัมมัสสวนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม หากฟังธรรมบ่อยจะทำให้มีความกระจ่างในสาระธรรมมากขึ้นจนบรรเทาความสงสัย จนก่อให้เกิดสติปัญญาในการแก้ปัญหาและอุปสรรค จนสามารถเอาชนะกิเลสทั้งหลายทั้งปวงได้
9. ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดง บอกกล่าว และประกาศธรรม เมื่อมีความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งในปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธแล้ว จึงได้แบ่งปันบอกกล่าวในสาระธรรมให้ผู้อื่นมีความเข้าใจและได้รับประโยชน์จากการฟังธรรมนั้น ๆ
10. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญที่สำเร็จด้วยการทำความเห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่มีอคติใด ๆ เข้ามาแฝง กล่าวคือมีความเห็น มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องบาป บุญ คุณโทษ สิ่งใดเป็นสาระ สิ่งใดไม่เป็นสาระ ตลอดจนกระทำตนให้พ้นจากวัฏสงสาร บรรลุมรรคผลนิพพาน
บทความน่าสนใจ
เศรษฐีตระหนี่ ทำบุญแล้วเสียดายทรัพย์ โดย ส.เขมรังสี (หลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรํสี)
จอน บอง โจวี ร็อคสตาร์ใจบุญขวัญใจแฟนเพลงตลอดกาล
พลังแห่งการให้และแบ่งปัน สุนันทา สมบุญธรรม ประธานกรรมการบริหารธนิยะกรุ๊ป
“พระบุญหนัก แต่บาปหนา” เรื่องราวของ พระมหาโมคคัลลานะ ที่หนีกรรมชั่วของตนไม่พ้น
บุญมากหรือบาปน้อย วัดผลได้จากอะไร – ประสบการณ์ธรรมะจากผู้อ่าน
เมื่อลูกชายเกรงกลัวต่อบาปขั้นรุนแรง จนต้องหาวิธีเยียวยา
ตกอยู่ในภาวะ …รู้ว่าบาป แต่ก็ต้องทำต่อไป… ทำอย่างไรดี ? ท่าน ว. วชิรเมธี มีคำแนะนำ
สามีปลูกต้นไม้นับพันเพื่อรำลึกถึงภรรยาผู้ล่วงลับ 15 ปีต่อมากลายเป็นป่ารูปหัวใจ