3 การรักษา 7 วิธีป้องกัน เริมที่ปาก
เริมที่ปาก เป็นบ่อยๆ เพราะเหตุใด
Question :
ขอปรึกษาคุณหมอชัญวลีค่ะ สามีของดิฉันเป็นเริมที่ปากมีอาการเป็นๆ หายๆ และมักเป็นบ่อยช่วงที่ทำงานหนักนอนดึก สิ่งที่กังวลคือไม่ทราบว่าดิฉันจะมีโอกาสติดโรคนี้จากสามีหรือไม่คะ เพราะเคยอ่านพบว่าเริมติดต่อกันได้ จึงอยากขอคำปรึกษาจากคุณหมอถึงวิธีป้องกันโรคเริมค่ะ นอกจากนี้ถ้าเป็นเริมที่ปากแล้วจะลามไปเป็นที่อื่นๆ ได้ไหมคะ
Answer :
ตอนชัญวลีเป็นเด็ก การสูบบุหรี่เป็นเรื่องโก้เก๋ มีการโฆษณาแอบแฝงโดยให้พระเอกของละคร หรือภาพยนตร์สูบบุหรี่อย่างเก๋ไก๋ ภาพเป่าควันบุหรี่ให้ลอยเป็นวงสีขาวนวลเป็นภาพที่จำติดตา พ่อของชัญวลีก็เป็นสิงห์อมควัน สูบวันละ 2 ซอง จนริมฝีปากดำคล้ำมีเริมขึ้นที่ริมฝีปากบริเวณที่คาบมวนบุหรี่เป็นประจำ แต่พ่อไม่ใส่ใจผ่านไป 3 - 4 วันมันก็หายเอง
ภายหลังพ่อเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเมื่ออายุ 60 ปีเศษ นอกจากเรื่องกินของร้อนตามนิสัยคนจีนแล้ว ก็อาจมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ด้วย เพราะบุหรี่สามารถก่อมะเร็งได้แทบทุกชนิดตั้งแต่หัวจรดเท้าทีเดียว
พูดถึงเริม โดยเฉพาะเริมที่ริมฝีปาก พบได้บ่อยทีเดียวคนทั่วไปเห็นก็บอกได้ โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ชนิดที่ 1 (Herpes Simplex Virus Type 1, HSV – 1) ภาษาอังกฤษเรียกแผลเริมว่า Cold Sores วินิจฉัยการติดเชื้อโดยการตรวจหาภูมิต้านทานต่อเชื้อเริมชนิดที่ 1 มีงานวิจัย (JAMA 2006) ระบุว่า คนติดเชื้อเริมที่ปากมีจำนวนมากถึงร้อยละ 62 ในปี ค.ศ.1988 และลดลงเป็นร้อยละ 58 ในปี ค.ศ. 1994
เรียกว่าระหว่างผู้ติดเชื้อกับไม่ติดเชื้อมีจำนวนครึ่งต่อครึ่งแต่ส่วนใหญ่ร้อยละ 75 - 80 ติดเชื้อแล้วไม่แสดงอาการ แต่เป็นพาหะนำเชื้อเริมที่ปากไปติดคนอื่นได้
ส่วนโรคเริมที่อวัยวะเพศก็เป็นการติดเชื้อเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์เหมือนกัน แต่เป็นชนิดที่ 2 ในปัจจุบันพบว่าเกิดการผสมปนเประหว่างเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ชนิดที่ 1 และ 2 คือชนิดที่ 1 อาจไปติดที่อวัยวะเพศ และชนิดที่ 2 อาจไปติดปาก เพราะอาจมีการร่วมรักทางปาก ทำให้เริมที่ปากกระจายไปที่อวัยวะเพศ และในทางกลับกันคือ ทำให้เริมที่อวัยวะเพศกลับมาติดที่ปากได้
เริมที่ปากติดต่อง่ายค่ะ หากเป็นสามี - ภรรยายิ่งมีโอกาสติดเชื้อสูง โดยการสัมผัส จูบ ฯลฯ รับเชื้อเริมเข้าไปทางเยื่อบุช่องปาก ลุกลามออกมาที่ผิวหนังใกล้ ๆ ริมฝีปากเห็นเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ไม่นานก็แตกออก เป็นแผลคัน เจ็บแสบ แม้ไม่รักษาก็หายเอง แต่เชื้อเริมจะไปพักที่ตัวประสาทและปมประสาทอัตโนมัติที่รับความรู้สึกบนใบหน้า (Sensory and Autonomic Nerve) แล้วเกิดเป็นแผลเริมซ้ำ (Recurrent Herpes Infection)
การวินิจฉัยโรคเริมที่ปาก โดยทั่วไปทำได้โดยการซักประวัติและการตรวจดูแผล อาการพิเศษของเริมคือก่อนจะขึ้น 6 - 53 ชั่วโมง (เฉลี่ย 24 ชั่วโมง) จะมีอาการนำที่ทำให้รู้ว่าเริมกำลังจะขึ้น คือ คัน เจ็บ แสบ ก่อนถุงน้ำจะแตกออกในภายหลัง
สำหรับบางรายที่ตุ่มหรือแผลเริมมีลักษณะไม่เหมือนของคนอื่นๆ เช่น ผู้ที่รักษาตนเองมาก่อนด้วยยาชนิดต่าง ๆ ผู้ที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง หรือต้องการได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง จำเป็นต้องตรวจพิเศษ เช่น ขูดแผลไปย้อมเชื้อ เพาะเชื้อ ตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หรือเจาะเลือดหาภูมิต้านทานต่อเริม