ป้องกัน ภูมิแพ้
กฎข้อหนึ่งที่คนเป็น ภูมิแพ้ รู้ดีก็คือ “ ภูมิแพ้ เป็นโรคที่ไม่มียารักษา และการกินยารักษาภูมิแพ้ก็เป็นเพียงระงับอาการชั่วคราวเท่านั้น ไม่นานก็กลับมาเป็นอีก” ถึงอย่างไร ก็ไม่มีปัญหาใดที่เกิดขึ้นแล้วจะแก้ไขไม่ได้ รวมถึงการเอาชนะโรค ภูมิแพ้ ด้วย และทางแก้ที่ได้ผลดีที่สุดก็คือ ตัวเราค่ะ เพียงยินดีกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตอย่างจริงจังเพื่อให้ภูมิต้านทานโรคดีขึ้น ก็สามารถลืมภูมิแพ้ไปได้แล้วค่ะ
ประสบการณ์ของผู้อื่นก็เป็นการเรียนรู้แบบทางอ้อมที่สร้างความเชื่อว่าเห็นผลจริง และเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นมาดูแลตัวเองได้ดีที่สุดทางหนึ่ง ประสบการณ์และทางออกของคนเป็นภูมิแพ้ต่อไปนี้ คือสิ่งที่คุณนำมาปรับใช้ได้ค่ะ
1.แพ้อากาศตลอดทั้งปี
คุณสุธาสินี บุญเลิศรัตน์ อาจารย์มหาวิทยาลัย วัย 35 ปี ป่วยเป็น ภูมิแพ้ อากาศตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เนื่องจากไม่ได้ดื่มนมแม่ และคุณพ่อสูบบุหรี่
อาการ คัดจมูก มีน้ำมูกใส บางครั้งถ้าเป็นมากจะไอมีเสมหะและน้ำมูกไหลลงคอ ช่วงเวลาที่มักมีอาการคือตอนเช้า และตอนเย็นที่เริ่มมีน้ำค้าง นอกจากนี้ในช่วงฤดูฝนซึ่งมีฝนตกตลอดทั้งปียังส่งผลให้มีอาการมาก และนานขึ้น
การรักษา คุณสุธาสินีเลือกหาแพทย์เฉพาะทางด้านภูมิแพ้เป็นเบื้องต้น เนื่องจากอาการของเธอค่อนข้างหนัก และเป็นมาระยะเวลานานแล้ว เธอจึงรับประทานยาแก้แพ้เมื่อมีอาการดังกล่าว แต่ก็เป็นเพียงการสยบอาการภูมิแพ้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อร่างกายอ่อนแอ และต้องเจอกับอากาศเย็นชื้น หรือเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ อาการป่วยของเธอก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม
การดูแลตัวเอง เธอจึงให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเป็นหลัก ด้วยการรับประทานอาหารที่เน้นผักกับเนื้อปลา เว้นเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อไก่ เนื้อวัว และเนื้อหมู เลือกรับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่ง และออกกำลังกายทุกเช้า ผลของการดูแลตัวเองทำให้เธอมีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น เป็นหวัดน้อยลง ร่างกายแข็งแรง ไม่เหนื่อยง่าย และน้ำหนักลดลงอีกด้วย
Tip คุณสุธาสินีบอกเคล็ดลับว่า ”เมื่อเริ่มมีอาการไม่ดี ให้ดื่มน้ำอุ่น ทำร่างกายให้อบอุ่นทันที และหลีกเลี่ยงพัดลม อย่านอนให้พัดลมเป่า”
คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป
2.แพ้อากาศเฉพาะฤดูกาล
คุณปรเมศ ชัชวาล วิศวกรวัย 30 ปี ป่วยเป็น ภูมิแพ้ อากาศเฉพาะฤดูหนาวมาเมื่อตอนอายุ 20 ปี เริ่มหันมาดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดตอนอายุ 28 ปี ภายในเวลาเพียง 1 ปีอาการแพ้อากาศดีขึ้นจนหายเป็นปกติ
อาการ จามตอนเช้า คัดจมูก หายใจไม่ออก หอบเหนื่อย และเป็นหวัดเกือบตลอดฤดู
การรักษา รักษาด้วยการรับประทานยาแก้แพ้ และแก้หวัด แต่มีอาการเรื้อรังไม่หาย
การดูแลตัวเอง “ปกติผมเปลี่ยนมากินข้าวกล้องอยู่แล้ว เลือกทานเนื้อสัตว์น้อยลง และดื่มน้ำอาร์ซีอาทิตย์ละครั้ง และพอจะเข้าหน้าหนาวผมดื่มน้ำอาร์ซีทุกวันเลย แล้วนำข้าวจากการต้มน้ำอาร์ซีมาหุงกินทุกมื้อ งดเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ กินแต่เนื้อปลากับอาหารทะเล ทานผักผลไม้หลากหลายเกือบทุกมื้อ ตอนเช้าวิ่งจ็อกกิ้งวันละครึ่งชั่วโมง ตอนเย็นก่อนนอนก็จะฝึกโยคะเพื่อให้ปอดแข็งแรง และเป็นการฝึกการหายใจด้วยครับ ก็แปลกดีที่บังคับตัวเองได้ ทั้งที่แต่ก่อนทำไม่ได้ คงเป็นเพราะทำให้ผมหายได้จริง เชื่อไหมครับว่าหน้าหนาวนี้ผมไม่เป็นอะไร แม้แต่ช่วงต้นฤดูที่อากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ในขณะที่เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เป็นภูมิแพ้ป่วยกันเป็นแถว”
Tip คุณปรเมศบอกเคล็ดลับที่ช่วยให้หายจากการคัดจมูกทั้ง 2 ข้างว่า “เวลาที่หายใจไม่ออกเพราะจมูกตันทั้งสองข้าง ผมจะนอนตะแคงขวายกศีรษะให้สูงขึ้นสักครู่ และหยดน้ำมันยูคาลิปตัสไว้ที่หมอน หรือตะเกียงน้ำมันหอมระเหยเพื่อให้หายใจโล่งขึ้น ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็จะนำเกลือผสมในน้ำอุ่นมาล้างรูจมูกโดยการสูดเข้าไปทีละข้างแล้วสั่งออก พยายามอย่าให้สำลัก สักพักก็จะดีขึ้น”
3.แพ้เกสรดอกไม้
คุณดารารัตน์ ธนิกร นักศึกษาวัย 25 ปี ภูมิแพ้ เกสรดอกไม้ตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ เกสรดอกไม้ที่แพ้ ได้แก่ ดอกกระถินณรงค์ ดอกหญ้า ดอกธูปฤาษี ดอกพญาสัตบรรณ์ และกล้วยไม้
อาการ ถ้าได้กลิ่นจะมีอาการเวียนศีรษะจนอาเจียน จาม และน้ำมูกไหล และมักคันที่ตา (ภูมิแพ้ขึ้นตา) ร่วมด้วย ทำให้ขยี้ตาจนบวมเป่ง และถ้าเกสรดอกไม้เหล่านั้นสัมผัสผิวก็จะมีผื่นแดงขึ้นเหมือนยุงรุมกัด
การรักษา กินยาแก้แพ้เมื่อมีอาการ และถ้ามีอาการหลายอย่างร่วมด้วยก็จะรักษาตามอาการ เช่น คันตา ก็ใช้ยาหยอดตา ผื่นขึ้น ก็จะทาคาลามาย
การดูแลตัวเอง พยายามหลีกเลี่ยงให้ไกลจากดอกไม้ที่แพ้ให้มากที่สุด เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ นอกจากนี้ยังออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมากขึ้น
Tip คุณดารารัตน์บอกเคล็ดลับป้องกันอาการแพ้เกสรดอกไม้ว่า “ถ้าไม่แน่ใจว่าแพ้ดอกไม้ชนิดใดบ้าง ก็ควรเลิกใช้ดอกไม้สด และหันมาใช้ดอกไม้ประดิษฐ์แทน เป็นการป้องกันที่ดีที่สุดค่ะ”