เข้าใจภาพรวมของ พระพุทธศาสนา ด้วยหลักธรรม 10 ประการ
เข้าใจภาพรวมของ พระพุทธศาสนา ด้วยหลักธรรม 10 ประการ
ศีล 5
เราได้ยินเรื่องศีล 5 กันบ่อยที่สุด แต่ความจริงแล้วศีล 5 เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อน มีแง่มุมที่น่าสนใจมากมายโดยเฉพาะศีลในข้อวาจา ซึ่งปัจจุบันผู้คนในสังคมทำผิดกันมาก จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า ผู้ใดก็ตามที่โกหกบิดเบือนจนเป็นนิสัย ไม่รู้สึกผิดผู้นั้นเข้าข่ายอันตราย เพราะมีโอกาสสูงที่ต้องตกอบายภูมิดังนั้น ศีล 5 จึงเป็นคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ที่จะทำให้ชีวิตของตนและสังคมสงบได้
อิทธิบาท 4
อิทธิบาท 4 คืออุปนิสัยแห่งความสำเร็จที่ผู้เจริญทุกคนพึงมี เมื่อศึกษาจนเข้าใจแล้วย่อมแยกแยะได้ว่า ความคิดลักษณะใดคือฉันทะ ลักษณะใดคือตัณหา ทั้งนี้เราสามารถใช้อิทธิบาท 4 เป็นเครื่องมือประเมินตนเองว่า ภารกิจที่กำลังกระทำอยู่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน
อริยสัจ 4
อริยสัจ 4 นี้เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นความจริงของชีวิต เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบและทำให้พระองค์หลุดพ้น ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค คืออะไรชาวพุทธทั้งหลาย ไม่ควรสงสัยลังเล แต่ควรมีความเข้าใจสามารถตอบคำถามและแนะนำผู้อื่นได้ตามสมควร หากไม่รู้จักสิ่งนี้ก็เหมือนท่านไม่รู้จักพระพุทธเจ้าของตนเอง
ขันธ์ 5
หลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องขันธ์ 5 นี้ อาจดูไกลตัวสำหรับคนทั่วไป แต่ที่จริงแล้ว ขันธ์ 5 คือสิ่งที่ทุกคนต้องศึกษาเล่าเรียน เพราะขันธ์ 5 เป็นต้นเหตุที่ทำให้เราสำคัญมั่นหมายว่ามีตัวกูของกู พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า มนุษย์ทั้งหลายไม่เคยตื่นขึ้นเลย มนุษย์ล้วนใช้ชีวิตอยู่ในการหลับใหล เพราะไม่รู้เรื่องขันธ์ 5 ตราบที่ยังไม่เคยศึกษา เรื่องขันธ์ 5 อย่าพูดเด็ดขาดว่าท่านรู้จักชีวิตของท่านดีแล้ว
ระบบกรรม
กรรมนิยาม เป็นหนึ่งในกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกมาสั่งสอนชาวโลก ระบบกรรมเป็นระบบที่ยุติธรรมเสมอ ไร้ช่องโหว่ ถ้าศึกษาจนเข้าใจ เราจะสามารถตอบคำถามของชีวิตได้อีกหลายอย่าง ระบบกรรมนี้ไม่ได้ระบุไว้เพียงทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หากแต่ยังมีรายละเอียดที่ซับซ้อนมากมาย ซึ่งถ้าไม่ศึกษาก็ไม่มีวันเข้าใจขั้นลึกซึ้งได้ด้วยตนเอง เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ปัญญาระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้นจึงสามารถแยกย่อย ตีแผ่ออกมาได้ ครุกรรมคืออะไร อาจิณกรรมคืออะไร เหล่านี้คือสิ่งที่ชาวพุทธควร
ภพภูมิและการเวียนว่ายตายเกิด
เรื่องภพภูมินี้ แม้คนส่วนใหญ่พิสูจน์ให้เห็นด้วยตาไม่ได้ แต่หากไม่ศึกษาค้นคว้าไว้เลย ก็จะเป็นเหตุให้มองโลกผิดไปจากความเป็นจริงอยู่มาก เพราะความรู้เรื่องภพภูมินี้จะทำให้เราเข้าใจว่า เราเองไม่ได้วิเศษวิโสมาจากไหน ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่คนที่เก่งกาจที่สุด ตรงกันข้าม เรานี่แหละที่เคยเกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกายเป็นสัตว์เดรัจฉานมาแล้วนับไม่ถ้วน เป็นเทวดาก็เป็นมาแล้วสูงที่สุดก็เคยเป็นมาแล้ว ต่ำที่สุดก็เคยเป็นมาแล้ว ทุกคนเป็นเพียงสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิด ไม่มีใครดีไปกว่าใครความเข้าใจเรื่องภพภูมินี้จะทำให้เราสำนึกว่า ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท อีกทั้งควรมองผู้อื่นดุจกัลยาณมิตรหรือคนในครอบครัว ไม่แบ่งเขาแบ่งเรา ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยความบริสุทธิ์ทั้งกาย วาจา ใจ
จิตสุดท้าย
หลักธรรมในข้อนี้ ถ้าพูดกันตามตรงอาจเป็นหัวข้อแรก ๆ ที่เราควรเข้าใจ เพราะความตายนั้นเป็นสิ่งใกล้ตัวมากกว่าที่คิด วันพรุ่งนี้กับชาติหน้า เราไม่สามารถรู้เลยว่าอะไรจะมาก่อนมาหลัง ในการเวียนว่ายตายเกิดนั้น มีคำว่า “จิตดวงเดียวท่องเที่ยวไป” คุณคนเดียวเท่านั้นที่เกิด คุณคนเดียวเท่านั้นที่ตาย คุณคนเดียวเท่านั้นที่สามารถช่วยเหลือตนเองในนาทีสุดท้ายของชีวิต ความรู้เรื่องจิตสุดท้ายนี้จะทำให้เราเข้าใจว่า เราควรวางจิตก่อนตายอย่างไรเพื่อไม่ต้องเสวยภูมิอยู่ในนรก นรกไม่ได้มีสำหรับคนชั่วเท่านั้น แต่ยังมีไว้สำหรับคนดีที่ประมาทด้วย เมื่อศึกษาความรู้เรื่องจิตสุดท้ายแล้ว ขอให้ลองสังเกตอารมณ์ระหว่างวันของตนเองให้ดี การสังเกตอารมณ์ของตนเอง เป็นเหมือนการทำนายประเมินผลแบบคร่าว ๆ ว่า เมื่อสิ้นภพชาตินี้แล้วเราจะไปเกิดเป็นอะไรต่อ สิ่งนี้ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องไปพึ่งหมอดูที่ไหน รู้ได้เฉพาะตน ทำอย่างไรได้อย่างนั้น ฝึกจิตมาอย่างไร เตรียมรับผลแห่งการกระทำไว้ได้เลย
สติปัฏฐาน 4
คงเป็นเรื่องตลกไม่น้อยถ้าเราบอกว่า เราเป็นชาวพุทธแต่เราไม่รู้จักความหมายของคำคำนี้เลย สติปัฏฐาน 4 คือหัวใจแห่งการปฏิบัติที่ทำให้มนุษย์ผู้หนึ่งสามารถเอาชนะความทุกข์ได้ ทุกวันนี้เราเล่าเรียนเรื่องความสุขกันมากมาย จากคนที่ยังมีความทุกข์อยู่ ศึกษาจากผู้อื่นแล้วยังไม่หายทุกข์ ก็มาศึกษาจากพระพุทธเจ้าของเราบ้าง สติปัฏฐาน 4 คืออะไรกาย เวทนา จิต ธรรม คืออะไร ทำไมสติปัฏฐาน 4 จึงทำให้มนุษย์ธรรมดา ๆ ดับทุกข์ได้อย่างถาวร แล้วเราจะเริ่มต้นปฏิบัติคุณธรรมข้อนี้ได้อย่างไร ต้องบอกว่าสติปัฏฐาน 4นี้คือมรดกของพระพุทธเจ้าโดยแท้จริง เป็นสิ่งที่ทำให้ศาสนาพุทธแตกต่างจากศาสนาอื่น หลักธรรมในข้อนี้ ควรหาเวลาปลีกตัวเพื่อศึกษา เบื้องต้นอาจหาตำรามาอ่าน ขั้นต่อไปอาจลองไปศึกษาจากสำนักวิปัสสนาต่าง ๆ และสุดท้ายควรนำหลักนี้มาปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย ถ้าทำได้อย่างนี้เราก็จะเป็นผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าไม่เสียชาติที่เกิดมาเป็นมนุษย์
อานาปานสติ
อานาปานสตินี้เป็นเอก เป็นทางที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญยิ่ง ชาวพุทธทุกคนควรสนใจศึกษา เพราะปฏิบัติง่าย เราจะได้ไม่ต้องมานั่งพร่ำบ่นว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ หายใจที่ไหน ก็ปฏิบัติที่นั่น หยุดหายใจเมื่อไหร่ก็คือวันที่เสร็จสิ้นการปฏิบัติ อานาปานสตินี้ ผู้ภาวนาบ่อย ๆ ความโลภโกรธ หลงจะน้อยลง พูดง่าย ๆ ว่าจะเป็นคนดีขึ้น จากเป็นคนดีธรรมดา ๆ ก็เป็นคนดีที่มีปัญญา เรียกว่ากัลยาณชนจากเป็นกัลยาณชน ก็กลายเป็นอริยบุคคล เป็นพระโสดาบันพระสกิทาคามี พระอนาคามี แลพระอรหันต์ จริงอยู่ตอนนี้เราเป็นเพียงปุถุชนคนธรรมดา แต่มนุษย์เรานั้นเป็นสัตว์โลกที่สามารถพัฒนาจิตใจได้ อย่ายอมจำนนกับคำว่าปุถุชนเพียงเพราะว่ามันง่าย แต่จงฝืนจิต ฝึกตน ให้มีคุณธรรมที่สูงส่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป ทำได้อย่างนี้จึงเป็นการลดทอนภพชาติ ไม่ต้องทุกข์ทรมานตลอดกาลยาวนาน คุณธรรมเรื่องอานาปานสตินี้ศึกษาได้จากหนังสือหลายเล่ม ของท่านพุทธทาสภิกขุก็มีหรือจะหาอ่านโดยตรงจากพระไตรปิฎก หรือครูบาอาจารย์ต่าง ๆ ก็สุดแล้วแต่ สำคัญที่สุดคือเมื่อศึกษาเล่าเรียนจากตำราและสำนักแล้ว ก็ต้องนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันด้วย
มรรคมีองค์ 8
มรรคมีองค์ 8 นี้เป็นทางสายเอก แปลภาษาชาวบ้านว่า เป็นคู่มือการใช้ชีวิตของผู้ที่ต้องการความเจริญ ใครที่ต้องการความเจริญก็สมควรศึกษามรรค 8 นี้ ปฏิบัติตามได้น้อย ชีวิตก็เจริญได้น้อย ปฏิบัติตามได้มาก ชีวิตก็เจริญได้มาก ปฏิบัติตามไม่ได้เลย ชีวิตก็ย่อมพบกับความหายนะอย่างไม่ต้องสงสัย คุณธรรมมรรค 8 นี้เป็นการบริหารจัดการชีวิตแบบองค์รวมทั้งชาตินี้และชาติหน้า และเป็นไปเพื่อพระนิพพานโดยที่สุด เป็นการมองการใช้ชีวิตด้วยวิสัยทัศน์ของคนระดับพระพุทธเจ้า ดังนั้น เราควรจดจำท่องบ่นจนคล่องปาก และจัดสรรชีวิตของตนให้มีความสอดคล้องกับหลักมรรค 8 อาชีพแบบไหนดี ความคิดแบบไหนควรคิด อะไรคือความเชื่อ อะไรคือความจริง เราควรพูดแบบไหน คบใคร สมาธิคืออะไร สติคืออะไรสามารถเรียนรู้ได้จากหลักธรรมนี้ทั้งหมด ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธไม่รู้หลักธรรมข้อนี้นับเป็นเรื่องน่าอายเป็นที่สุด
หลักธรรมทั้ง 10 หมวดนี้เป็นเสมือนกรอบที่จะทำให้ท่านเห็นภาพรวมของหลักธรรมในพระพุทธศาสนาแบบกว้าง ๆ บทความนี้เป็นเพียงการบอกหัวข้อในเบื้องต้นผู้อ่านควรนำหลักธรรมแต่ละหัวข้อไปศึกษาด้วยตนเองสัปดาห์หนึ่งท่านอาจตั้งใจว่า “ฉันจะศึกษาเรื่องศีล” อีกสัปดาห์ท่านอาจจะตั้งใจว่า “ฉันจะศึกษาเรื่องภพภูมิ”ท่านอาจทำตารางประจำเดือนของท่าน ว่าเดือนนั้นเดือนนี้ท่านจะศึกษาธรรมะหัวข้ออะไรบ้าง
เมื่อท่านรู้จักและเข้าใจหลักธรรมได้สักสิบหมวดท่านจะเริ่มร้อยเรียงหลักธรรมที่เหลือได้เอง ซึ่งจะเป็นผลดีที่จะนำไปปรับปรุงชีวิตและจิตวิญญาณของท่านต่อไป
เรื่อง พศิน อินทรวงค์
ข้อมูลจาก คอลัมน์ Heart and Soul
บทความน่าสนใจ
ตอบคำถาม เรื่อง ธรรมดับทุกข์ โดยคุณพศิน อินทรวงศ์
15 ข้อ ฝึกหาความสุขแบบตัดตรง (ไม่หรูหราแต่ได้ผลจริง) โดย พศิน อินทรวงค์
10 เรื่องเกี่ยวกับความคิดที่สำคัญสุดๆ แต่แทบไม่มีใครรู้!!! โดยคุณพศิน อินทรวงค์
10 ความจริงสูงสุดที่ทุกคนควรตระหนัก!!! โดยคุณพศิน อินทรวงค์