การแช่เท้าด้วยยาจีนช่วย แก้ปวดประจำเดือน
วิธี แก้ปวดประจำเดือน แพทย์แผนจีนมีวิธีมาแนะนำ เท้าพาเราไปทุกหนแห่ง บุกน้ำ ลุยป่าตามแต่ใจเราจะสั่งการ แต่คนส่วนใหญ่มักละเลยไม่ได้ใส่ใจดูแลเท้า
แพทย์แผนจีนเปรียบเท้าเสมือนหัวใจดวงที่สอง เป็นฐานรากของร่างกายซึ่งเชื่อมกันระหว่างปลายประสาทเท้ากับสมองโดยร่างกายมีเส้นลมปราณทั้งหมด 12 เส้นและมีถึง 6 เส้นที่เชื่อมต่อมายังเท้า คือเส้นลมปราณหยินเท้า 3 เส้น ได้แก่ เส้นสังกัดอวัยวะตับ ม้าม และไต เส้นลมปราณหยางเท้า 3 เส้น ได้แก่ เส้นสังกัดอวัยวะกระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีจุดฝังเข็มรวมกันทั้งสิ้น 66 จุด
เราอาจเคยทราบกันมาว่า การแช่เท้าในน้ำอุ่นช่วยให้เท้าเกิดการผ่อนคลายและสามารถป้องกันโรคได้ ชีวจิต จะขอแนะนำการแช่เท้าด้วยยาจีนเพื่อแก้อาการดังนี้
แก้ปวดประจำเดือน
– ผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนที่เกิดจากลมปราณติดขัด เลือดไหลเวียนไม่ดี ซึ่งสามารถสังเกตจากประจำเดือนจะมีสีแดงเข้ม มีลิ่มเลือดปนมา จะมีอาการปวดท้องน้อย อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดช่วงก่อนมีประจำเดือน 2 วัน – 1 สัปดาห์ หรือในช่วงมีประจำเดือน 1 – 2 วันแรก
แนะนำ : ให้แช่เท้าด้วยยาที่มีฤทธิ์ซึมซาบเข้าสู่เส้นลมปราณตับ เช่น อี้หมูฉ่าว(กัญชาเทศ) ฮงฮวา (ดอกคำฝอย) เหมยกุยฮวา (ดอกกุหลาบ)
– ผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนจากภาวะหยางพร่อง ความเย็นสะสม ซึ่งจะมีอาการปวดท้องน้อย เมื่อประคบร้อนแล้ว จะรู้สึกดีขึ้น มือเท้าเย็น ต้องใช้ยาจีนที่ช่วยเพิ่มความอุ่น ขจัดความเย็น เนื่องจากแพทย์จีนกล่าวว่า ไตเป็นตัวควบคุมพลังงานหยางทั้งร่างกาย
แนะนำ : ให้แช่เท้าด้วยยาที่มีฤทธิ์ซึมซาบเข้าสู่เส้นลมปราณไต เช่น โร่วกุ้ย (อบเชย) ติงเซียง (กานพลู) เสี่ยวหุยเซียง (เมล็ดยี่หร่า) ตังกุย (โกฐเชียง) กันเจียง (ขิงแห้ง)
ส้นเท้าแตก
ควรแช่เท้าด้วยน้ำเกลือผสมน้ำมันมะพร้าว
รองช้ำ
ปวดเท้าจากการยืนหรือเดิน ปวดเรื้อรังจากข้อเท้าแพลง ควรแช่เท้าด้วยน้ำฮงฮวา (ดอกคำฝอย)
หวัดหรือภูมิแพ้
ควรแช่เท้าด้วยน้ำอ๋ายเย่ (โกฐจุฬาลัมพา)
เราสามารถดูแลเท้าก่อนนอนได้ทุกวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลเวียนเลือด และลมปราณ ปรับการทำงานของอวัยวะภายใน เป็นวิธีดูแลสุขภาพง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินแพงเลยค่ะ
จาก คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 438
ชีวจิต Tips 5 อาหาร แก้ปวดประจำเดือน
- กินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต เผือก มัน ฟักทอง ข้าวโอ๊ต ข้าวโอ๊ต มีใยอาหารสูง ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยลดอาการอยากอาหารโดยเฉพาะของหวาน และช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นในช่วงที่มีอาการพีเอ็มเอส
- เลือกอาหารวิตามินบีสูง พบในธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต จมูกข้าว เมล็ดทานตะวัน ถั่วต่าง ๆ โดยงานวิจัยจาก The American Journal of Clinical Nutrition พบว่า กินอาหารที่มีวิตามินบี 1 และวิตามินบี 2 สูงเป็นประจำ ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปี ช่วยลดการเกิดอาการพีเอ็มเอสหรืออาการก่อนมีประจำเดือนได้ นอกจากนี้ วิตามินบี 6 ยังจำเป็นต่อการสร้างสารเคมีในสมอง ช่วยควบคุมการทำงานของสารเคมีในสมอง ทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความจำและการนอนหลับอีกด้วย
- ปรุงด้วยกรดไขมันไลโนเลอิก เลือกน้ำมันปรุงอาหารที่มีกรดไขมันจำเป็น ชนิดไลโนเลอิก (Linoleic acid) เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกคำฝอย ช่วยควบคุมสารพรอสตาแกลนดิน ลดอาการคัดตึงเต้านม บวมตามร่างกาย
- กินปลา ถั่ว และผักผลไม้ที่มีกากใยสูง อาหารเหล่านี้มีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ กินในช่วงก่อนมีประจำเดือนช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ได้ เพราะ อาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนย นมไขมันเต็ม อาจมีผลเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือด เร่งให้เกิดอาการพีเอ็มเอส ส่วนใยอาหารมีผลช่วยลดระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน
- อาหารมังสวิรัติไขมันต่ำ ต้านปวดประจำเดือน โดยการศึกษาจาก วารสาร Obstetrics & Gynecology พบว่า อาหารมังสวิรัติ ไขมันต่ำสามารถช่วยลดอาการปวดประจำเดือนได้ โดยช่วยลดปริมาณเอสโตรเจนส่วนเกินในร่างกาย ลดการหลั่งสารพรอสตาแกลนดินบริเวณผนังมดลูกซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวด
แนะนำให้เน้นอาหารจากพืชที่มีใยอาหารสูง หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์และไขมันจากสัตว์ ใช้น้ำมันพืชแต่น้อย เน้นอาหารประเภทต้ม อบ ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า อาหารมังสวิรัติไขมันต่ำยังช่วยลดอาการพีเอ็มเอส อย่างเห็นผล
ข้อมูลจาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ ฉบับ 432
บทความอื่นที่น่าสนใจ
17 วิธีตรวจ เนื้องอก ด้วยตัวเอง ฉบับสาวทำงาน
เดินเร็ว ช่วยป้องกันกระดูกเสื่อมได้จริง
ถ่ายเป็นเลือด สัญญาณผิดปกติในลำไส้ใหญ่
ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต