พันธุกรรมมะเร็ง “ปากมดลูก” หลีกเลี่ยงไม่ได้แต่ลดความเสี่ยงได้
เวลามีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่ย่ายายเป็น คุณแม่เป็น พี่หรือน้องสาวเป็น เป็นธรรมดาที่เราจะเริ่มเกิดความวิตกกังวลว่า พันธุกรรมมะเร็ง อาจทำให้เราไม่วายต้องเป็นไปกับเขาด้วย เช่นเดียวกับความข้องใจของคนไข้สาวท่านหนึ่งที่มาระบายความกังวลนี้กับแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิตของเรา
ความกังวลจากทางบ้าน
คุณนิพพาดา (นามสมมติ) มาหาดิฉันด้วยเรื่อง “อยากปรึกษาวิธีป้องกันมะเร็ง” เมื่อถามเหตุผลว่าทำไม เธออธิบายว่า “หมอจะไม่ให้ฉันกลัวมะเร็งได้อย่างไร แม่ของฉันเป็นมะเร็งปากมดลูกเสียชีวิต พี่สาวเป็นมะเร็งมดลูกเสียชีวิต และตอนนี้น้องสาวก็กำลังเป็นมะเร็งรังไข่ ฉันจึงอยากหาวิธีป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็ง”
วันนี้มาคุยกันเรื่องวิธีป้องกันมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่มักพบในกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกกันค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งปากมดลูก
มะเร็งชนิดนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี(HPV: Human Papilloma Virus) ชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกสูง ซึ่งมักเกิดในผู้หญิงที่แต่งงานเร็ว มีคู่นอนหลายคน ภูมิต้านทานต่ำ สูบบุหรี่ ฯลฯ
อาการแสดงอย่างไร
หากเป็นระยะเริ่มแรก หรือระยะที่เซลล์ผิดปกติ มักไม่แสดงอาการใด ๆ หากเป็นระยะลุกลามอาจมีตกขาว ตกขาวปนเลือด เลือดออกจากช่องคลอดอย่างผิดปกติ หรือเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์
9 วิธีป้องกันก่อนมะเร็งปากมดลูกถามหา
1. ฉีดวัคซีน เนื่องจากร้อยละ 99.7 ของมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จึงแนะนำว่าควรฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีในผู้หญิงที่มีอายุ9 – 26 ปี ในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย มีการจัดให้วัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวีอยู่ในโปรแกรมวัคซีนแห่งชาติ โดยจะฉีดให้เด็กผู้หญิงทุกคน ที่มีอายุ12 ปี อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนสามารถป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 70 ดังนั้น แม้ฉีดวัคซีนครบ (3 เข็ม) ก็ยังควรต้องตรวจคัดกรองเพื่อหามะเร็งปากมดลูกเหมือนคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน
2. มีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุมากกว่า 17 ปี เพราะยิ่งอายุน้อย ปากมดลูกจะยิ่งไวต่อการเกิดมะเร็ง
3. ไม่มีคู่นอนหลายคน เนื่องจากมีโอกาสติดเชื้อไวรัสเอชพีวีหลายชนิด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก
4. ไม่สูบบุหรี่ งานวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่เพิ่มการเกิดมะเร็งปากมดลูก 2 เท่า
5. หลีกเลี่ยงสิ่งสกปรก งานวิจัยในประเทศไทยพบว่า การแช่น้ำโคลนในผู้หญิงที่มีอาชีพงมหอย เพิ่มการเกิดมะเร็งปากมดลูกอย่างมีนัยสำคัญ
6. คุมกำเนิดให้ดี ไม่ควรกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานเกิน 5 ปี เพราะจากงานวิจัยพบว่า ทำให้เพิ่มอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูก ควรใช้ถุงยางอนามัยเป็นประจำ เนื่องจากสามารถลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 20 – 60 ส่วนการคุมกำเนิดด้วยวิธีขัดขวางไม่ให้อสุจิเข้าสู่ปากมดลูก เช่น หมวกยางครอบปากมดลูก แผ่นไดอะแฟรมกั้นปากมดลูก ยาฆ่าอสุจิก็สามารถลดการเกิดมะเร็ง ปากมดลูก แต่เป็นการคุมกำเนิดที่ไม่ได้รับความนิยม
7. กินอาหารที่มีวิตามินซีสูง งานวิจัยระบุว่าสามารถลดการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ร้อยละ 30-50
8. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ แม้ไม่มีอาการผิดปกติอะไร เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งชนิดเดียวที่สามารถตรวจพบเซลล์ผิดปกติตั้งแต่ระยะก่อนที่มะเร็งจะลุกลามถึงสิบปี
การคัดกรอง ในปัจจุบันมี 2 แบบ แบบแรกคือ ตรวจหาเซลล์ผิดปกติ ที่เรียกว่า การทำแป๊ปสเมียร์(pap smear) ทั้งนี้ควรตรวจตั้งแต่อายุ21 ปีขึ้นไป หากผลการคัดกรองเป็นลบติดต่อกัน 3 ปีสามารถคัดกรอง 3 ปีต่อ 1 ครั้งได้ แต่หากมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย ไม่ควรรอจนถึงอายุ 21 ปี ควรคัดกรองมะเร็งปากมดลูกภายใน 3 ปี หลังมีเพศสัมพันธ์
อีกแบบคือ ตรวจหาไวรัสเอชพีวีร่วมกับการทำแป๊ปสเมียร์ โดยควรคัดกรองในผู้หญิงที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป หากการตรวจให้ผลเป็นลบทั้งสองแบบสามารถตรวจ 3 ปีต่อ 1 ครั้งได้
9. ระวังการติดเชื้อเอชไอวี/ เอดส์ เพราะการติดเชื้อเอชไอวีกระตุ้นให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้ยังมีวิธีทั่วไปที่ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมทั้งมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีอื่น ๆ ดังนี้
ระดับปฐมภูมิคือ ป้องกันไม่ให้เป็นโรคมะเร็ง ได้แก่
- ทำให้ร่างกายแข็งแรงและมีภูมิต้านทานดี ด้วยการกินอาหารที่มีประโยชน์และมีสารแอนติออกซิแดนต์(antioxidant) เป็นประจำ เช่น ผักสด ธัญพืช ผลไม้ ถั่ว พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรำกระบอง โยคะ ชี่กง โดยทำอย่างน้อยวันละ 20 – 40 นาที สัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง และลดความเครียดในแบบที่ตนเองถนัด เช่น อ่านหนังสือ นวด ทำสปา ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
- รักษาโรคที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายตกให้หายเป็นปกติมาก ที่สุด เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภูมิแพ้หรือภูมิต้านทานบกพร่อง
- ละเว้นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งแต่ละชนิด ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโรค เช่น ไวรัสเอชพีวีฯลฯ
ระดับทุติยภูมิ คือ ตรวจและรักษาก่อนที่จะเป็นมะเร็งชนิดลุกลาม โดยสังเกตอาการผิดปกติของตนเองและไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหามะเร็งระยะเริ่มแรก หรือตรวจแป๊ปสเมียร์ประจำปีเพื่อหาเซลล์มะเร็งปากมดลูก เป็นต้น
ระดับตติยภูมิ คือ รักษาโรคมะเร็งระยะลุกลามที่เป็นให้ดีที่สุด
ไม่ว่าจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก ขอย้ำว่าคุณผู้หญิง ทุกคนควรดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอค่ะ
ชวนสาว ๆ เช็ก มะเร็งจุดซ่อนเร้นของผู้หญิง
มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรีมีอะไรบ้าง
ประกอบด้วยมะเร็งปากมดลูก (Cervical Cancer) มะเร็งรังไข่ (Ovarian Cancer) มะเร็งมดลูก (Endometrium Cancer) มะเร็งท่อนำไข่ (Fallopian Tube Cancer) มะเร็งช่องคลอด (Vaginal Cancer) และมะเร็งปากช่องคลอด (Vulvar Cancer)
สาเหตุมะเร็งอวัยวะสืบพันธ์ุสตรี
1. มีหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี ยีนเหล่านี้อาจได้รับถ่ายทอดมาจากพันธุกรรมหรือเกิดการกลายพันธุ์จากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษในปัจจุบัน เช่น สูบบุหรี่ ได้รับสารพิษ เซลล์เสื่อมเนื่องจากอายุมาก เป็นต้น
2. ติดเชื้อโรคบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวี
3. มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การกระตุ้นให้เกิดมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี เช่น ภูมิต้านทานบกพร่อง ความอ้วน ความผอม อายุมาก ความสกปรก การกินฮอร์โมน ฯลฯ
ผู้หญิงคนไหนที่เสี่ยงเป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี
แม้มะเร็งในกลุ่มนี้จะมีปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างกัน แต่ผู้หญิงทุกคนก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
ข้อมูลจากประเทศสหรัฐอเมริกาในปีล่าสุดพบว่า ผู้หญิงจำนวน 78,000 รายป่วยเป็นมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์สตรี และเสียชีวิตถึง 28,000 ราย โดยเกินร้อยละ 50 ของผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งไม่มีปัจจัยเสี่ยงในการเป็นมะเร็งกลุ่มนี้เลย
รู้อย่างงี้ก็อย่าประมาทไม่ว่าจะมีพันธุกรรมมะเร็งหรือไม่ เอาชัวร์ไว้ก่อนควรตรวจเช็กเป็นประจำ มีโอกาสก็ฉีดวัคซีนให้ครบด้วยจะช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ประสบการณ์สุขภาพ : เอาชนะโรคมะเร็งปากมดลูก ด้วยวิถี “ชีวจิต”
หมอสูติแชร์ประสบการณ์ คนไข้มะเร็งปากมดลูก ระยะเริ่มต้น
สายกิน สายบุฟเฟ่ต์ต้องรู้ เทคนิคแก้ท้องอืดไว้ดูแลตัวเองหลังพุงระเบิด
เทคนิคใกล้ตัวช่วย โกร๊ธฮอร์โมน หลั่ง ควรทำควบคู่ออกกำลังกาย
ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต