โรคหัวใจ

ปรับชีวิต ปลอดโรคหัวใจ สไตล์หมอสันต์

นายแพทย์สันต์ ใจยอดศิลป์ คุณหมอคนดังผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 และกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย เจ้าของเว็บบล็อกที่มีผู้ติดตามกว่า 10 ล้านคน ให้เกียรติมาเป็นคอลัมนิสต์ประจำของเรา

…และเรื่องที่ท่านเล่า น่าสนใจและน่าติดตามทุกเรื่องค่ะ

ผมอยากจะญาติดีกับ “ชีวจิต”

ดั้งเดิมตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ผมเป็นสัตว์กินเนื้อ ฝรั่งเขาเรียกว่าคนแบบผมนี้ว่าเป็น Omni ย่อมาจากคำว่า omnivore ซึ่งเป็นชื่อเรียกกลุ่มของสัตว์จำพวกที่กินได้ทั้งพืชและสัตว์ขึ้นอยู่กับว่าตอนไหนจะมีอะไรให้กิน แต่ถ้าเป็นมนุษย์พันธุ์ omniนี้ส่วนใหญ่มักจะชอบกินเนื้อสัตว์มากกว่าพืช ผมก็เป็นคนแบบนั้น หมู เห็ด เป็ด ไก่ ไข่ นม ชอบหมด

เมื่อหกเจ็ดปีก่อนผมป่วยเป็นโรคหัวใจขาดเลือด และปักธงจะดูแลตัวเองด้วยการเปลี่ยนวิธีใช้ชีวิตเสียใหม่ เมื่องานวิจัยบอกว่าต้องกินพืชผักให้มากขึ้น ผมก็ทำตาม แต่ขณะเดียวกันผมก็ไม่ยอมทิ้งเนื้อสัตว์เพราะเป็นของโปรด

เวลาผ่านไป พวกนักวิจัยก็ทยอย “ปล่อยของ” ว่าเนื้อสัตว์ไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้ออกมาเป็นระยะๆ ไม่กี่สัปดาห์มานี้องค์การอนามัยโลก (WHO) เล่นซะเอง โดยการประกาศผลการทบทวนงานวิจัยครั้งใหญ่ของ WHO ประกาศให้เนื้อสัตว์ที่ผ่านกระบวนการปรับหรือถนอมอาหาร (processed meat) เน้นที่สามสหายวัฒนะ คือ ไส้กรอก เบคอน และแฮม ว่าเป็นสารก่อมะเร็งระดับA ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด (หมายถึงว่าก่อมะเร็งแน่นอนที่สุดนะครับ ไม่ใช่ชั้นดีที่สุด) และยังประกาศให้ “เนื้อแดง” อันหมายถึงเนื้อของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดรวมทั้งเนื้อหมูเนื้อวัวว่าเป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2A คือเป็นชั้นรองลงมาจากไส้กรอก เบคอน แฮม

ก่อนหน้านั้นเมื่อราวสองเดือนก่อนผมไปประชุมวิชาการและพบปะเพื่อนฝูงหมอพันธุ์เดียวกันที่สหรัฐอเมริกา เพื่อนคนหนึ่งได้ให้เอกสารของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ที่มีหน้าที่ให้คำแนะนำกระทรวงเกษตรประเทศสหรัฐ (USDA)ว่าคำแนะนำโภชนาการประจำปีค.ศ. 2015 ควรจะมีสาระอย่างไรบ้าง (ปกติทุก 4-5 ปี USDA จะออกคำแนะนำโภชนาการให้ประชาชนครั้งหนึ่งตามผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เปลี่ยนไป)

ครั้งนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นคำแนะนำประจำปี ค.ศ.2015 ก็จริง แต่กว่าจะออกได้จริงๆก็ต้องปลายเดือนมกรา ค.ศ. 2016 โน่น โดยเนื้อหาจะเป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ที่เพื่อนผมก๊อปมาให้ดูนี่แหละ

คืนนั้นพอว่างจาการประชุมผมลองอ่านเอกสารดู พบว่าคำแนะนำโภชนาการใหม่ของรัฐบาลอเมริกันนี้ จะแบ่งอาหารออกเป็นสามกลุ่ม คือ

กลุ่มที่1. ควรกินให้มากๆ มี 5 อย่างคือ (1)ผักและผลไม้ (2) ธัญพืชไม่ขัดสี (3) ถั่วต่างๆ (4) ผลเปลือกแข็ง (นัท) (5)ปลาและอาหารทะเล

กลุ่มที่2. ควรจำกัดจำนวนกินแต่พอควรมี 3 อย่างคือ (1)นมไร้ไขมัน (2) กาแฟ (3) แอลกอฮอล์

กลุ่มที่3. ควรกินให้น้อยที่สุด มี 6 อย่างคือ (1)สามสหายวัฒนะ ไส้กรอก เบคอน แฮม (2) เนื้อแดง ซึ่งก็คือเนื้อหมูเนื้อวัว (3) น้ำตาล โดยเฉพาะจากเครื่องดื่ม (4) ไขมันอิ่มตัว (5) ธัญพืชขัดสี (6) เกลือ

ที่ผมเอะใจก็คือตามคำแนะนำทางโภชนาการใหม่นี้ ไส้กรอก เบคอน แฮม เนื้อหมู เนื้อวัว ที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานสำหรับสัตว์กินเนื้อเช่นผม ถูกจัดหมวดหมู่ให้อยู่ต่ำกว่ากาแฟและแอลกอฮอล์เสียอีกหรือนี่ โธ่..ถัง

พอกลับไปประชุมกันอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ผมเปรยกับเพื่อนหมอคนหนึ่งซึ่งมาจากฟินแลนด์ถึงความหนักใจของผมที่ถูกรุกไล่ไม่ให้กินเนื้อสัตว์ เขาบอกผมว่า

“สมัยปีค.ศ. 1971 คนฟินแลนด์ก็คิดแบบคุณ สมัยโน้นคนฟินแลนด์กินไส้กรอก เนย นมสด ชีส เกลือ เป็นอาหารหลัก และถือว่าพวกพืชผักอะไรที่สีเขียวๆล้วนเป็นอาหารสำหรับสัตว์ แต่พอหมอพุสคาทำโครงการเปลี่ยนอาหารการกินของชาวฟินแลนด์เสียใหม่ ให้มากินพืชเป็นหลัก ยี่สิบปีให้หลังอัตราการตายด้วยโรคหัวใจของชาวฟินแลนด์ลดลงไปถึง 75 เปอร์เซ็นต์”

เพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งมาจากโลมาลินดาอันเป็นถิ่นที่อยู่ของพวกคริสต์นิกายเซเวนเดย์แอดเวนทิสซึ่งเป็นนิกายที่ห้ามกินเนื้อสัตว์ ปลอบใจผมว่า

“คุณก็ค่อยๆเดินมาสิ จาก omni(กินเนื้อ) คุณก็ค่อยๆไปเป็น ovo (มังสวิรัติกินไข่) แล้วก็ไปเป็น lacto(มังฯ กินนม) แล้วจึงค่อยไปเป็น vegan (มังฯ แท้ๆ)”

เมื่อกลับ้านผมคิดว่าการออกเดินทางจากomniไปหา vegan อย่างที่เพื่อนหมอแอดเวนทิสคนนั้นแนะนำท่าจะดี แต่ถ้าเดินไปคนเดียวผมคงจะเดินหน้าถอยหลังฉึกฉักๆ ไม่ไปไหนสักที

อย่ากระนั้นเลย ผมไปคบหาคนที่เขาเป็นสัตว์กินพืช เอ๊ย ไม่ใช่ คนที่เขาเป็น vegan อยู่แล้วไว้บ้างดีกว่า

นี่แหละครับที่มาของการที่ผมมานั่งเขียนหน้านี้ให้ชีวจิต.. บอกแล้วไงว่าผมอยากจะญาติดีกับชีวจิต

 

ข้อมูลจาก จากคอลัมน์ Wellness Class ในนิตยสารชีวจิต ฉบับ 414

 

บทความอื่นที่น่าสนใจ

รับมืออย่างไร เมื่อทำพลาดแล้ว รู้สึกอับอาย รับไม่ได้จ้า

เจ็บหน้าอก เช็กซิเป็นโรคอะไร

หลักการวิ่ง 7 ข้อ เพื่อผลลัพธ์สุดปัง! หุ่นสวย หัวใจแข็งแรง

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.