ลิ้นอักเสบ ลิ้น โรคของลิ้น อาการของลิ้น ปาก ช่องปาก

ดูแลลิ้นของเรา และโรคที่ควรรู้เมื่อ “ลิ้นอักเสบ”

ดูแลลิ้นของเรา และโรคที่ควรรู้เมื่อ “ลิ้นอักเสบ”

ลิ้นอักเสบ ได้แก่ โรคซึ่งทำให้เนื้อเยื่อลิ้นเกิดการระคายเคือง บาดเจ็บ จึงบวม แดง และเจ็บ บางครั้งอาจมีแผลหรือมีไข้ร่วมด้วยได้ เป็นโรคที่พบได้ในทุกอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

สาเหตุ

โรคลิ้นอักเสบเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา และไม่ใช่จากการติดเชื้อ ซึ่งที่พบบ่อย ได้แก่

  • กัดลิ้นตนเอง
  • ฟันเกหรือฟันบิ่นเกิดเป็นคมครูดลิ้น
  • กินอาหารร้อนจัด เย็นจัด หรือรสจัด
  • โรคแผลร้อนใน
  • แพ้ยาหรือแพ้อาหาร
  • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งสารพิษจากทั้งสองสิ่งก่อการระคายเคืองและบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อลิ้น
  • โรคปาก คอแห้ง ส่งผลให้แบทีเรียและเชื้อราเจริญเติบโตได้ดี จึงก่อโรคได้ง่ายจากเศษอาหารที่ติดบนลิ้น
  • โรคขาดอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ
  • แพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน หรือน้ำยาบ้วนปาก
  • เจาะริมฝีปาก (วัสดุเครื่องประดับมักก่อการระคายเคืองต่อลิ้นด้วยเสมอ)
  • เจาะลิ้นโดยตรงเพื่อใส่เครื่องประดับเพื่อความสวยงาม
  • โรคมะเร็งลิ้น

อาการ

อาการของลิ้นอักเสบอาจเกิดพร้อมกับการอักเสบของเนื้อเยื่ออื่นๆ ของช่องปาก เช่น กระพุ้งแก้มและเหงือก หรือเกิดการอักเสบเฉพาะลิ้นเท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของสาเหตุ โดยเกิดได้ทั้งการอักเสบเฉียบพลัน หรือการอักเสบเรื้อรัง

อาการของลิ้นอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่

  • ลิ้นบวม เจ็บ ทำให้พูดไม่ชัด และกินอาหารไม่ได้เพราะเจ็บ โดยลิ้นอาจมีสีแดงคล้ำ สีซีด สีขาว หรือมีสีต่างๆ นอกเหนือจากนี้ ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
  • ลิ้นมักดูลื่น เรียบ ไม่เห็นเป็นตุ่มรับรสเหมือนปกติ เนื่องจากอาการบวม จึงบดบังปุ่มเนื้อเหล่านั้น
  • อาจมีแผลเปื่อยหรือแผลแตก ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
  • มีกลิ่นปาก
  • อาจมีไข้เมื่อเป็นการอักเสบแบบเฉียบพลัน รุนแรง ซึ่งมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส

การวินิจฉัย

แพทย์วินิจฉัยโรคลิ้นอักเสบได้จากประวัติอาการ การตรวจช่องปากและลิ้น และอาจมีการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ เช่น การตัดชิ้นเนื้อจากแผลเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา เมื่อสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็ง

แนวทางการรักษา

การรักษาโรคลิ้นอักเสบ คือ รักษาสาเหตุ และรักษาประคับประคองตามอาการ

  • รักษาสาเหตุ เช่น การให้ยาปฏิชีวนะ เมื่อการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟัน เมื่อการอักเสบเกิดจากการแพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน
  • รักษาประคับประคองตามอาการ เช่น การให้บรรเทาอาการเจ็บปวด อาจโดยการกิน หรืออมยาชา ให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสาย ให้อาหารหรือทางหลอดเลือดดำ เมื่อกินอาหารและดื่มน้ำได้น้อยจากอาการเจ็บ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงจากโรคลิ้นอักเสบที่อาจพบได้ ได้แก่ เสียงพูดผิดปกติ ผอมลงเนื่องจากกินอาหารไม่ได้ และเมื่อลิ้นอักเสบบวมมากจะอุดทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก อาจต้องรักษาด้วยการเจาะคอเพื่อใส่ท่อช่วยหายใจ

ความรุนแรงของโรค

โดยทั่วไป โรคลิ้นอักเสบเป็นโรคไม่รุนแรง ยกเว้นเมื่อมีการอักเสบลิ้นบวมมากจนอุดทางเดินหายใจดังกล่าวแล้ว ซึ่งต้องรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ

การดูแลตนเองและการพบแพทย์

  • ดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดช่องปากเสมอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อรุนแรง และเพื่อป้องกันไม่ให้โรคติดต่อสู่ผู้อื่นเมื่อเป็นการอักเสบติดเชื้อ
  • ดื่มน้ำ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • กินอาหารอ่อนหรืออาหารเหลว รสจืด
  • เลิกบุหรี่และสุรา
  • เปลี่ยนยี่ห้อยาสีฟันบ่อยๆ ถ้าสาเหตุมาจากยาสีฟัน
  • พบแพทย์หรือทันตแพทย์ตามนัดเสมอ หรือก่อนนัดหากมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรืออาการต่างๆ แย่ลง
  • เมื่อลิ้นอักเสบ ควรรีบพบแพทย์เมื่อ
    • มีไข้
    • เจ็บลิ้นมาก
    • กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย
    • อาการต่างๆ ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังดูแลตนเองแล้ว 2-3 วัน
    • ลิ้นมีแผลเรื้อรัง หรือมีก้อนเนื้อ เพราะอาจเกิดจากโรคมะเร็งได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ
    • มีกลิ่นปากรุนแรง
    • อ้าปากได้น้อย อ้าปากไม่ได้
    • เมื่อมีความกังวลกับอาการ
  • ควรพบแพทย์เป็นการฉุกเฉินเมื่อ
    • หายใจขัด หายใจไม่ออก มีอาการเขียวคล้ำเนื่องจากลิ้นบวมมาก และอุดกั้นทางเดินหายใจ ร่างกายจึงขาดอากาศ ขาดออกซิเจน

การป้องกัน

  • ดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดช่องปากเสมอ
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน
  • กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เพิ่มผักและผลไม้มากๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • เลิกบุหรี่และสุรา
  • ไม่เจาะลิ้น ไม่เจาะริมฝีปาก
  • สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างยาสีฟันกับอาการ เพื่อหลีกเลี่ยงยี่ห้อที่ก่ออาการแพ้
  • รักษาและควบคุมโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุ
  • พบทันตแพทย์ตรวจสุขภาพช่องปากสม่ำเสมอ อย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ 1 ปี หรือตามทันตแพทย์แนะนำ

อาการที่พบบ่อยของลิ้น

อาการเจ็บลิ้น

สาเหตุของการเจ็บลิ้น ที่พบบ่อย ได้แก่

  • ลิ้นมีแผลจากสาเหตุต่างๆ เช่น แผลจากการกัดลิ้น ฟันบางซี่คมหรือแตกจึงครูดลิ้น และแผลร้อนใน
  • ลิ้นอักเสบจากการกินอาหารและเครื่องดื่มรสจัด หรือร้อนหรือเย็นจัด
  • ลิ้นอักเสบเนื่องจากขาดอาหาร
  • ลิ้นอักเสบติดเชื้อ
  • จากแผลมะเร็ง

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อเจ็บลิ้น ที่สำคัญคือ การดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดช่องปาก และรีบพบแพทย์เสมอเมื่อ

  • อาการลิ้นเจ็บยังเรื้อรังภายหลังดูแลตนเองแล้ว 1-2 สัปดาห์
  • อาการเจ็บแย่ลง
  • เจ็บลิ้นร่วมกับมีไข้
  • กินอาหารและดื่มน้ำได้น้อย
  • ลิ้นบวมมาก ซึ่งถ้ามีการหายใจลำบากร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์เป็นการฉุกเฉิน
  • เมื่อกังวลในอาการ

ลิ้นสีซีด

สีปกติของลิ้นคือสีชมพูออกแดง เช่นเดียวกับสีเยื่อเมือกของเนื้อเยื่อทุกชนิดของช่องปาก ซึ่งเมื่อมีสีซีดมักเกิดพร้อมกันทั้งช่องปาก แต่มองเห็นได้ง่ายที่ลิ้นและริมฝีปาก สาเหตุของลิ้นสีซีด ที่พบบ่อย ได้แก่

  • จากโรคเลือด เช่น โรคธาลัสซีเมีย
  • จากการขาดวิตามินบี
  • จากโรคขาดเกลือแร่เหล็ก
  • จากโรคที่ทำให้เกิดแผลเรื้อรังในทางเดินอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพราะเป็นสาเหตุให้มีเลือดออกเรื้อรังจากแผล หรือจากเนื้อเยื่อที่อักเสบ

การดูแลตนเองและพบแพทย์เมื่อลิ้นซีดกว่าปกติ ที่สำคัญคือ รีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ทันท่วงที เพราะจะเห็นได้ว่าสาเหตุลิ้นซีด มีได้ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่รุนแรง เช่น ขาดธาตุเหล็ก ไปจนถึงสาเหตุรุนแรง เช่น จากโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ลิ้นเป็นร่อง

ลิ้นเป็นร่อง ได้แก่ ลิ้นที่ร่องลึกทั้งด้านบนและด้านข้างของลิ้น โดยมักไม่ก่ออาการผิดปกติอื่นๆ

ลิ้นเป็นร่องพบได้ประมาณร้อยละ 2-5 ในคนปกติทั่วไป ซึ่งเชื่อว่าเป็นลักษณะหนึ่งของพันธุกรรม เพราะพบว่าเกิดได้คล้ายคลึงกันในคนครอบครัวเดียวกัน

ลิ้นเป็นร่องอาจเกิดจากโรคได้บ้าง เช่น เป็นอาการหนึ่งจากการอักเสบของเนื้อเยื่อใบหน้า หรือของประสาทใบหน้า ซึ่งส่งผลให้ใบหน้ารวมทั้งลิ้นเกิดอักพฤกษ์หรืออัมพาต กล้ามเนื้อลิ้นจึงไม่ทำงาน เกิดการหย่อยยาน ส่งผลให้เกิดลิ้นเป็นร่อง

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อลิ้นเป็นร่อง คือ เมื่อลิ้นเป็นร่องและเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ แต่เมื่อไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย โดยเฉพาะเป็นตั้งแต่เกิด หรือเป็นมานานแล้ว อาจไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ ยกเว้นเมื่อมีความกังวล

ลิ้นลายเหมือนแผนที่

ลิ้นลายเหมือนแผนที่ หมายถึง จะเป็นเป็นปื้นสีชมพูเข้มหรือสีแดงบนลิ้นเหมือนเกิดลิ้นอักเสบ ล้อมรอบด้วยเนื้อลิ้นสีขาวเทาหรือขาวเหลือง มองเห็นเป็นลวดลายคล้ายแผนที่ มีขนาดและรูปร่างต่างๆได้ ซึ่งอาการนี้มักเกิดอย่างรวดเร็วและหายได้เองภายใน 1-3 วัน

อาการซึ่งเกิดร่วมกับลิ้นลายเหมือนแผนที่ ได้แก่ รู้สึกเคืองหรือแสบลิ้นเมื่อกินหรือดื่ม สาเหตุของลิ้นลายเหมือนแผนที่ ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบปัจจัยเสี่ยง คือ

  • ความเครียด
  • ขาดวิตามินบี
  • มีการเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศก่อนมีประจำเดือน (จึงทำให้พบอาการนี้ได้บ่อยกว่าในผู้หญิง)
  • ลิ้นระคายเคืองจากอาหารบางชนิด จากยาบางชนิด จากการแพ้สารในยาสีฟัน หรือจากการแพ้สารบางชนิดในน้ำยาบ้วนปาก

การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีอาการลิ้นลายเป็นแผนที่ โดยทั่วไป อาการลิ้นลายเป็นแผนที่เป็นอาการไม่รุนแรง มักเป็นๆ หายๆ ตามปัจจัยเสี่ยง ซึ่งการดูแลตนเอง ได้แก่

  • กินอาหารมีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ทุกวัน เพิ่มผัก ผลไม้ และธัญพืช เพราะมีวิตามินบีสูง
  • สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับอาหาร หรือเครื่องบริโภคต่างๆ รวมทั้งยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก เพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งนั้นๆ
  • เมื่อมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย หรือเจ็บลิ้นมาก หรือผู้ป่วยกังวล หรือมีอาการบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง

ลิ้นเป็นฝ้า

ลิ้นเป็นฝ้า ได้แก่ ลิ้นถูกปกคลุมด้วยฝ้า ทำให้เห็นเป็นสีตามสีฝ้า ไม่เป็นสีชมพูตามปกติ และมักมองไม่เห็นตุ่มรับรส

ลิ้นเป็นฝ้ามักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เจ็บลิ้น หรือมีไข้ หรือเบื่ออาหาร หรือรสชาติอาหารผิดปกติ และมักมีกลิ่นปาก

เมื่อลิ้นเป็นฝ้าขาว มักเกิดจากลิ้นติดเชื้อรา แต่เมื่อฝ้าเป็นสีเหลืองหรือสีค่อนข้างคล้ำ มักเกิดจากลิ้นติดเชื้อแบคทีเรีย

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลิ้นเป็นฝ้า ที่พบบ่อย ได้แก่

  • จากโรคซีดหรือโรคเลือด
  • ใส่ฟันปลอมไม่เหมาะสม และรักษาความสะอาดไม่ดีพอ ซึ่งลิ้นมักเป็นฝ้าขาวจากการติดเชื้อรา
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มสุรา
  • ขาดอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่
  • แพ้สารบางชนิดในยาสีฟัน หรือในน้ำยาบ้วนปากบางชนิด

การดูแลตนเองเมื่อลิ้นเป็นฝ้า  เมื่อลิ้นเป็นฝ้าโดยไม่มีไข้ หรือลิ้นไม่เจ็บ ไม่บวม ฝ้ามักหายได้เองจากการดูแลสุขภาพและรักษาความสะอาดของช่องปาก แต่ถ้าลิ้นเป็นฝ้าบ่อย ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง เพราะบ่อยครั้งฝ้าขาวจากการติดเชื้อราบ่อยๆ อาจเกิดจากร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำหรือจากโรคที่ก่อให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น โรคติดเชื้อไวรัสเอชไอวี

ข้อมูลจาก หนังสือโรคของช่องปากและฟัน สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.