เหงือกอักเสบ โรคของช่องปากที่พบบ่อยๆ
โรค เหงือกอักเสบ เป็นอีกโรคที่พบได้บ่อยในทุกอายุ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยพบในผู้ชายสูงกว่าผู้หญิง ซึ่งน่าจะเพราะผู้หญิงมักดูแลช่องปากได้ดีกว่าผู้ชาย โรคเหงือกอักเสบ เกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อ ซึ่งที่พบบ่อยและมักก่อปัญหาคือ เหงือกอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะกล่าวถึงในบทนี้และจากสาเหตุอื่น (ที่ไม่ใช่การติดเชื้อ) โรคเหงือกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ที่พบบ่อย ได้แก่ จากคราบหินปูน จากการขาดอาหาร โดยเฉพาะวิตามินและเกลือแร่ และจากการแพ้ยา
โรคเหงือกอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
โรคเหงือกอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดจากมีเศษอาหารสะสมอยู่ในบริเวณซอกเหงือกที่ติดกับฟัน เมื่อดูแลช่องปากไม่ดีพอ แบคทีเรียจึงเจริญเติบโตได้ง่าย ก่อตัวเป็นคราบแบคทีเรียที่เรียกว่าพลาด หรือไบโอฟิล์ม และก่อให้เกิดเป็นหินปูน ซึ่งนอกจากก่อการอักเสบของเหงือกแล้ว คราบแบคทีเรียยังกัดกินเคลือบฟัน เป็นสาเหตุให้ฟันผุได้ง่าย
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเหงือกอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่
- สูบบุหรี่
- ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน
- มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
- โรคเบาหวาน
- รักษาความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ
- ผู้สูงอายุ เพราะดูแลตนเองได้น้อยหรือขาดคนดูแล และเซลล์ต่างๆเสื่อมถอย
- โรคปาก/คอแห้ง
- ขาดอาหาร เนื้อเยื่อต่างๆ จึงมีสุขภาพไม่ดี ติดเชื้อได้ง่าย ซึ่งรวมทั้งเนื้อเยื่อเหงือก
- ใส่ฟันปลอมไม่เหมาะสม หรือรักษาความสะอาดไม่ดีพอ