พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าว ถึง กรณีที่เกี่ยวกับบุหรี่ เรื่องการขึ้นราคาบุหรี่ ว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยในการขึ้นราคาเพื่อให้คนลดการสูบบุหรี่ เลิกบุหรี่ ลดปัญหาโรคปอด โดยอยากให้ประชาชนคำนึงถึงสารพิษในยาสูบที่ทำลายสุขภาพ และโทษอื่นๆ ที่จะตามมาในภายหลัง เช่น ปัญหาหนี้สิน เช่นเดียวกับการดื่มสุรา
สมาคมโรคปอดแห่งสหรัฐอเมริกา (America Lung Association) ยกตัวอย่างสารเคมีอันตรายบางชนิด ที่อยู่ในบุหรี่ไว้ ดังนี้
1. นิโคติน (Nicotine) ซึ่งผสมในยาฆ่าแมลง
2. ทาร์ (Tar) ซึ่งเป็นส่วนประกอบในการทำถนน
3. สารหนู (Arsenic) ซึ่งใช้เป็นยาฆ่าหนู
4. แอมโมเนีย (Ammonia) ซึ่งใช้ทำความสะอาดบ้าน
5. กรดอะซิติก (Acetic Acid) ซึ่งผสมในยาย้อมผม
6. อะเซโตน (Acetone) ซึ่งอยู่ในน้ำยาล้างเล็บ
7. เบนซีน (Benzene) ซึ่งพบในกาวยาง
และ 8. เมทานอล (Methanol) ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักในเชื้อเพลิงจรวด
โดยสมาคมโรคปอดยังระบุว่า จริงๆ แล้วบุหรี่มีส่วนประกอบประมาณ 600 ชนิด ซึ่งเมื่อเกิดการเผาไหม้ จะก่อให้เกิดสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นผลร้ายต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคปอดโดยตรง
ด้านนางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ เผยว่า เรื่องเกี่ยวกับบุหรี่ ในการปรับราคาบุหรี่ ทำมาอยู่ตลอด แต่ครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับราคาครั้งที่มากที่สุดเท่าที่เคยทำมา โดยบางยี่ห้อปรับขึ้นมากกว่า 10 บาท ต่อซอง ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายลดลงอย่างแน่นอน โรงงานยาสูบ ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลิตบุหรี่ จึงสั่งปรับลดกำลังการผลิตลงทันที เฉลี่ยร้อยละ 10-15 แต่จะมีการประเมินสถานการณ์ตลาดอีกครั้งใน 2 สัปดาห์ เพื่อวางแผนปรับการผลิตบุหรี่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับบุหรี่ ที่มักตามมาหลังจากการปรับขึ้นราคาบุหรี่คือ การลักลอบนำเข้าบุหรี่ที่ผิดกฏหมาย หรือบุหรี่หนีภาษี ที่จะเข้ามาตามชายแดน
ถึงอย่างนั้นก็หวังว่า จะทำให้คนเลิกบุหรี่ ลดปัญหาผู้ป่วยโรคปอด ในอนาคต
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ, เว็บไซต์สมาคมโรคปอดแห่งสหรัฐอเมริกา
เครดิตภาพ Unsplash/ Pixabay.com