โรคมะเร็งผิวหนัง

เช็กสัญญาณเฝ้าระวัง เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง

เช็กสัญญาณเฝ้าระวัง เสี่ยงเป็นมะเร็งผิวหนัง

มะเร็งผิวหนัง (Skin cancer หรือ Cutaneous carcinoma) เป็นโรคมะเร็งที่พบได้สูงในคนผิวขาว แต่พบได้เรื่อย ๆ ไม่ถึงกับบ่อยมากในคนไทย (โรคมะเร็งผิวหนังไม่อยู่ใน 10 ลำดับของมะเร็งที่พบบ่อยของทั้งหญิงและชายไทย ซึ่งอาจเป็นเพราะผิวหนังของคนไทยมีเม็ดสีเมลานินที่ช่วยป้องกันอันตรายจากแสงแดด) และพบได้มากขึ้นตามอายุ มักพบได้บ่อยในคนวัยกลางคนและผู้สูงอายุ (ส่วนมากจะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป) ทั้งนี้โอกาสเกิดในผู้ชายและผู้หญิงมีใกล้เคียงกัน หรือพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

มะเร็งผิวหนังสามารถพบเกิดได้กับผิวหนังทั่วตัว แต่จะพบได้มากบริเวณที่ถูกแสงแดด โดยเฉพาะบริเวณศีรษะที่พบได้ประมาณ 80-90% และที่ใบหน้าพบได้ประมาณ 65% (ได้แก่ ตา หู จมูก) ส่วนอื่น ๆ ที่พบได้รองลงมา คือ คอ แขน มือ แต่ไม่ว่าจะเกิดที่อวัยวะส่วนใด ถ้าตรวจพบได้ตั้งแต่แรกและกำจัดเซลล์ที่ผิดปกติออกไปได้หมดก็สามารถหายขาดจากโรคนี้ได้

จุดเด่นของโรคมะเร็งผิวหนัง คือ เราสามารถมองเห็นได้ง่าย ทำให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งการลุกลามก็มักเป็นไปอย่างช้า ๆ ผู้ป่วยจึงมักได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที (ถ้าไม่เป็นคนไร้ความสังเกตเลยทีเดียวหรือเป็นคนประเภทไม่สนใจว่าจะมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับตัวเอง) ซึ่งผลการรักษาโดยส่วนใหญ่แล้วจะได้ผลดีและหายขาดถ้าได้รับการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เริ่มแรก โดยการรักษาทั่วไปจะเป็นการผ่าตัดเอามะเร็งผิวหนังออกให้หมด

มะเร็งผิวหนัง

แต่ในบางครั้งมะเร็งที่ถูกปล่อยไว้จนมีขนาดใหญ่เกินกว่าจะผ่าตัดออกได้หมด อาจต้องรักษาโดยการใช้รังสีรักษา หรือถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปส่วนอื่นการรักษาจะต้องให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย

ผิวหนังแบ่งออกเป็น 2 ชั้นใหญ่ คือ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่อยู่นอกสุด และชั้นหนังแท้ (Dermis) ที่อยู่ด้านใน ซึ่งมะเร็งผิวหนังจะเกิดขึ้นในชั้นหนังกำพร้ากับเนื้อเยื่อ 3 ชนิด คือ

-Squamous cells เป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะแบนที่อยู่ส่วนบนสุดของชั้นหนังกำพร้า

-Basal cells เป็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะกลมที่อยู่ใต้ Squamous cells

-Melanocytes อยู่ในส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า ทำหน้าที่ผลิตสารเมลานินซึ่งเป็นสารสร้างสีผิว

ชนิดของโรคมะเร็งผิวหนัง

โรคมะเร็งผิวหนังมีอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่มักเจริญขึ้นอย่างช้า ๆ และลุกลามเฉพาะที่ แต่มีบางชนิดที่อาจจะแพร่กระจายไปทางกระแสเลือดและต่อมน้ำเหลืองได้ ซึ่งก็พบได้น้อย โดยชนิดที่พบได้บ่อย คือ ชนิดคาร์ซิโนมา (Carcinoma) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา และโรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา ส่วนโรคมะเร็งผิวหนังชนิดอื่น ๆ นั้นพบได้เพียงประปราย ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงโรคมะเร็งผิวหนัง โดยทั่วไปจะหมายถึงโรคมะเร็งผิวหนังทั้ง 2 กลุ่มนี้เท่านั้น ได้แก่

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดไม่ใช่เมลาโนมา เป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับเนื้อเยื่อบุผิวของผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเป็นเฉพาะที่ ไม่แพร่กระจาย และลุกลามช้า โอกาสที่จะแพร่กระจายไปส่วนอื่นมีน้อย มะเร็งผิวหนังชนิดนี้ที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 2 ชนิด คือ

ชนิดเบซาลเซลล์ หรือมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นฐาน หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “บีซีซี” (Basal cell carcinoma – BCC) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยที่สุด จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงต่ำและมักไม่มีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ดังนั้นจึงมักไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต (เพียงแต่จะดูไม่สวยงาม) แต่ก็อาจลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองได้ มะเร็งชนิดนี้มักพบในคนอายุ 40-50 ปีขึ้นไป (อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้เช่นกัน) โดยเฉพาะในคนผิวขาว และพบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

ผิวหนังทั่วตัว

ชนิดสะความัสเซลล์ หรือมะเร็งเซลล์หนังกำพร้าชั้นตื้น หรือเรียกย่อ ๆ ว่า “เอสซีซี” (Squamous cell carcinoma – SCC) เป็นโรคมะเร็งผิวหนังที่พบได้บ่อยรองมา แต่จะมีความรุนแรงมากกว่าชนิดเบซาลเซลล์ จัดเป็นโรคมะเร็งที่มีความรุนแรงปานกลาง เพราะสามารถลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้สูงกว่าชนิดเบซาลเซลล์เมื่อรอยโรคมีขนาดใหญ่ หรือเมื่อเป็นเซลล์มะเร็งที่เซลล์มีการแบ่งตัวสูง ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักจะแพร่กระจายไปสู่ปอด หากพบได้เร็วการรักษาจะหายขาด แต่หากไม่ได้รับการรักษาก็อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ สามารถพบได้ในคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (อายุน้อยกว่านี้ก็พบได้เช่นกัน) โดยเฉพาะในคนผิวขาว ส่วนผู้ชายและผู้หญิงมีโอกาสเกิดเท่ากัน

โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา หรือมะเร็งเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanoma หรือ Malignant melanoma) เป็นมะเร็งที่เกิดกับเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนังที่เรียกว่า “เมลาโนไซต์” (Melanocyte) เป็นชนิดที่พบได้น้อยที่สุดและพบได้ไม่บ่อย แต่มีความรุนแรงสูง เพราะมีโอกาสแพร่กระจายไปเนื้อเยื่อข้างเคียงและที่อื่น ๆ ได้มากกว่าชนิดแรก โดยโรคจะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองและแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดได้สูงและรวดเร็ว ซึ่งเมื่อแพร่กระจายมักจะไปยังปอด กระดูก และสมอง หากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 1 ปี สามารถพบได้ในเด็กโต (ในคนอายุต่ำกว่า 20 ปี พบมะเร็งชนิดนี้ประมาณ 1% ของมะเร็งชนิดนี้ทั้งหมด) และจะพบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นจนพบได้สูงสุดในช่วงอายุประมาณ 45-65 ปี ต่อจากนั้นจะพบได้น้อยลง ผู้ชายพบได้สูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย มักพบได้มากในคนที่เคยมีผิวไหม้จากแสงแดด โดยเฉพาะคนผิวขาว

สาเหตุของโรคมะเร็งผิวหนัง

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรคมะเร็งผิวหนังทั้ง 2 กลุ่ม แต่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยง คือ

-การสัมผัสแสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอตทั้ง UVA และ UVB มากเกินเป็นเวลานานในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะแสงแดดจัด ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุด เช่น ในผู้ที่เล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมกลางแจ้ง ชอบอาบแดด หรือทำงานกลางแดด

-เชื้อชาติคนผิวขาว ผิวหนังบาง ผมสีบลอนด์หรือแดง ตาสีฟ้า ผิวไหม้แดดง่าย จะมีโอกาสเสี่ยงสูง เพราะมีเม็ดสีที่ผิวหนังน้อย ความสามารถในการป้องกันเซลล์ผิวหนังจากแสงอัลตราไวโอเลตจึงมีน้อยกว่าคนสีผิวคล้ำ

-มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งผิวหนัง

-การได้รับสารพิษหรือสารเคมีก่อมะเร็งเรื้อรัง เช่น การสัมผัสสารหนูที่ปนอยู่ในน้ำ (เป็นสารพิษที่เมื่อร่างกายได้รับอย่างต่อเนื่องจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บจนอาจกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง หรือเซลล์ถูกทำลายจนเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตได้) น้ำมันดิน พารัฟฟิน เรเดียม เป็นต้น และยังรวมถึงการกินสารหนูที่ผสมอยู่ในยาจีน ยาไทย ยาหม้อ และยาลูกกลอน

-ผิวหนังสัมผัสกับรังสีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดไอออนไนซ์ (Ionizing radiation) ในปริมาณสูงเรื้อรัง ซึ่งรังสีชนิดนี้จะทำให้เซลล์เสียหาย บาดเจ็บ และตายจากการแตกตัวของโมเลกุลในเซลล์เป็นประจุบวกและลบ เช่น รังสีเอกซ์ รังสีรักษา (ฉายรังสี) ที่ใช้ในการรักษาโรค

-การอักเสบหรือการบาดเจ็บของผิวหนังเรื้อรังจากสาเหตุต่าง ๆ (อาจทำให้เซลล์มีการเปลี่ยนแปลงกลายพันธุ์ไปเป็นเซลล์มะเร็งได้) เช่น โรคผิวหนังเรื้อรัง, โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema), การสัก, แผลเป็นจากแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก, แผลเรื้อรังต่าง ๆ (เช่น แผลเรื้อรังจากสารเคมี), การระคายเคืองจากไม้ทิ่มบริเวณริมฝีปากในคนกินหมากหรือการคาบบุหรี่เป็นประจำ, บริเวณอวัยวะเพศโดยเฉพาะเพศชายที่มีการอักเสบบ่อย ๆ (เช่น หนังหุ้มอวัยวะเปิดไม่หมด) ซึ่งจะทำให้เกิดมะเร็งของอวัยวะภายในและมะเร็งผิวหนังได้ในเวลาต่อมา

จุดเด่นของโรคมะเร็งผิวหนัง

-การมี Actinic keratosis ซึ่งเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่มีโอกาสเปลี่ยนไปเป็นมะเร็งชนิดสะความัสเซลล์ (Squamous cell carcinoma) ได้

-การกลายพันธุ์ของไฝ ซึ่งสังเกตได้จากไฝจะเจริญเติบโตลงลึกในเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง อาจแตกเป็นแผล อาจมีเลือดออก และมักโตเร็ว

-การเป็นโรคผิวเผือก (Albinism) ซึ่งมีความผิดปกติของการสร้างเม็ดสี จึงมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่าย

-การมีภูมิคุ้มกันต้านทานของร่างกายบกพร่อง เช่น เป็นโรคติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ การได้รับยากดภูมิคุ้มกันหลังการปลูกถ่ายไต เป็นต้น

-เกิดจากการมีพันธุกรรมผิดปกติบางชนิด เช่น โรค Xeroderma pigmentosum ซึ่งเป็นโรคที่เซลล์ผิวหนังมีความไวต่อแสงแดดมากผิดปกติ จึงทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามก็พบโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ได้น้อยมาก ๆ

-การสูบบุหรี่เป็นเวลานาน ๆ

สำหรับมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (Melanoma) อาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีสาเหตุหรือเกิดจากไฝที่อยู่บริเวณที่มีการเสียดสีเกิดเป็นแผล มีเลือดออก หรือมีการระคายเคือง เนื่องจากการรักษาแผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ธูปจี้ การใช้ปูนป้าย การใช้น้ำกรดหรือด่าง ฯลฯ ในการจี้ไฝทำให้เกิดเป็นแผลเรื้อรังและมีเลือดออก

อาการของโรคมะเร็งผิวหนัง

อาการที่พบได้บ่อยของโรคผิวหนัง คือ การมีตุ่มหรือก้อนเนื้อ หรือแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง ซึ่งสามารถพบได้ในทุกบริเวณรวมทั้งหนังศีรษะ ฝ่ามือ และฝ่าเท้าหรือไฝต่าง ๆ ที่โตเร็ว อาจเจ็บ แตกเป็นแผล มีเลือดออกเรื้อรัง โดยอาจพบเพียงก้อนเนื้อเดียวหรือหลายก้อนพร้อม ๆ กันก็ได้

เมื่อโรคลุกลาม อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงกับผิวหนังส่วนที่เป็นโรคโตจนคลำได้ เช่น ต่อมน้ำเหลืองที่หน้าหูหรือลำคอโต เมื่อมีรอยโรคที่หนังศีรษะหรือใบหน้า, ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้โต เมื่อมีรอยโรคที่มือหรือแขน หรือต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต เมื่อมีรอยโรคที่เท้าหรือขา เป็นต้น

การตรวจมะเร็งผิวหนังแรกเริ่มด้วยตนเอง

เนื่องจากการรักษามะเร็งผิวหนังจะได้ผลดีและหายขาดเมื่อตรวจพบตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้นผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวไปควรสำรวจร่างกายของตนเองให้ทั่วเป็นระยะ ซึ่งจะต้องใช้กระจกตั้งและกระจกมือช่วย โดยมีขั้นตอนการตรวจดังนี้

-ให้ยืนหน้ากระจกแล้วส่องข้างหน้า ข้างหลัง ด้านข้างทั้งซ้ายและขวา และยกแขนขึ้น

-ตรวจดูที่แขน รักแร้ มือ หลังมือ และข้อศอก

-ตรวจดูที่ต้นขาด้านหน้าและหลัง น่อง หน้าแข้ง เข่า หลังเท้า และซอกนิ้ว

-ตรวจดูที่คอด้านหน้าและด้านหลัง หนังศีรษะ และไรผม

-ตรวจดูที่หลัง

ลักษณะที่ทำให้สงสัยว่าเป็นมะเร็งผิวหนัง

-รอยโรคที่เป็นอยู่เดิมมีรูปร่างเปลี่ยนไป เช่น ไฝที่เป็นอยู่เดิมมีลักษณะเปลี่ยนไป คือ ลักษณะของไฝสองข้างไม่เหมือนกัน, ขอบของไฝไม่เรียบ, สีของไฝไม่สม่ำเสมอ และไฝมีขนาดโตมากกว่า 6 มิลลิเมตร (อาจสังเกตจากการใช้หลัก ABCDEs ดังรูป)

-รอยโรคมีอาการปวดหรือคัน แตกเป็นแผล และมีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออก

-มีรอยโรคเกิดขึ้นใหม่และไม่หายใน 4-6 สัปดาห์

-เป็นแผลเรื้อรังไม่หายภายใน 4 สัปดาห์

 

ข้อมูลลประกอบจาก: ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ดูแลผิวหนังอย่างไรดี หลังเข้ารับการ ฉายรังสี รักษาโรคมะเร็ง

ผิวหนังอักเสบ อาการที่ไม่น่ากลัว แต่ต้องดูแลร่างกายอย่างไรดี

มะเร็งผิวหนัง สังเกตตัวเองอย่างไร

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.