ผิวหนังอักเสบ อาการที่ไม่น่ากลัว แต่ต้องดูแลร่างกายอย่างไรดี

ผิวหนังอักเสบ เป็นภาวะที่เจอกันบ่อยมาก แต่เพราะเป็นไม่นานก็หาย หลายคนจึงไม่ให้ความสำคัญ แต่รู้ไหมว่า อาการดังกล่าวถึงจะอยู่กับผิวพรรณเพียงไม่นาน แต่ก็สร้างรอยไว้ได้นาน

วันนี้ เรามีข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 เกี่ยวกับภาวะผิวหนังอักเสบมาบอกต่อ

ทางการแพทย์เรียกอาการผิวหนังอักเสบว่า eczema dermattis คือ การอักเสบของผิวหนังนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วลักษณะผื่นจะเป็นผื่นแดง เป็นขุย คัน (คันมากหรือน้อยแล้วแต่บุคคล) บางคนจะมีแค่ผื่นอย่างเดียวก็ได้

ผื่น จะมี 3 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เฉียบพลัน : ผื่นแดงจะบวมและเป็นตุ่มน้ำ บางครั้งเป็นมากๆจะมีน้ำเหลืองไหล ถ้าแห้งก็จะเป็นคราบสะเอ็ดเหลืองๆเกาะเป็นผื่น ทำให้ระยะนี้หลายคนคิดว่าเป็นโรคน้ำเหลืองไม่ดี ซึ่งจริงๆไม่เกี่ยวกับระบบน้ำเหลือง และทางการแพทย์ไม่มีโรคน้ำเหลืองไม่ดี

ระยะที่ 2 กึ่งเฉียบพลัน : อาการบวมน้อยลง เริ่มมีสะเก็ดและขุยชัดขึ้น บางครั้งต้องแยกกลับเชื้อราที่ผิวหนัง (กลาก)

ระยะที่ 3 เรื้อรัง : ผื่นจะหนา เป็นสีน้ำตาลหรือดำ เห็นลายของผิวหนังชัดเจน เกิดจากการเป้นผื่นซ้ำๆ หรือจากการเกา หรือกระตุ้นบริเวณผื่นบ่อยๆ

ซึ่งจริงๆแล้ว ผื่นไม่จำเป็นต้องเรียงไปตาม step จะมาด้วยกึ่งเฉียบพลันหรือเรื้อรังเลยก็ได้

สาเหตุของการเกิดผื่น แบ่งเป็น 2 สาเหตุใหญ่ๆ ได้แก่

  1. สาเหตุจากภายนอกร่างกาย : เกิดจากปฏิกิริยาระหว่างผิวหนังกับสารเคมีที่มาสัมผัสกับผิวหนัง

1.1 ผื่นระคายเคือง : เช่น

– ผิวอักเสบจากแมลงก้นกระดก  เกิดจากการโดนสารที่เป็นกรดในตัวมันที่ชื่อ peaderin (พีเดอริน) ซึ่งมักจะเกิดจากการที่เราไปปัด/ทับ/บี้ ตัวมัน ก็จะทำให้เกิดการอักเสบของผิวหนัง  เกิดการแสบร้อน

– ผื่นผิวหนังอักเสบจากการทายาสิว

1.2 ผื่นจากการแพ้สัมผัส : ซึ่งแต่ละคนจะแพ้ไม่เหมือนกัน เช่น

– แพ้น้ำยาย้อมผม จะเกิดผื่นบริเวณตีนผม หนังตา หลังหู และต้นคอ

– แพ้นิกเกิล จะเกิดผื่นบริเวณที่สัมผัส เช่น หัวเข็มขัด ต่างหู

– แพ้น้ำหอม จะเกิดผื่นบริเวณที่ฉีด

  1. สาเหตุจากภายในร่างกาย มักเกี่ยวกับพันธุกรรมด้านผิวหนัง ทำให้ผิวไม่แข็งแรงพอที่จะปกป้องสารต่างๆจากภายนอกได้

2.1 โรคภูมิแพ้ผิวหนัง / ผิวหนังอักเสบภูมิแพ้ (Atopic Dermatitis) ส่วนใหญ่เป็นมาตั้งแต่วัยเด็ก เป็นมาเรื้อรัง มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาด้วย อาจมีอาการภูมิแพ้หรือหอบหืดร่วมด้วย บริเวณที่เป็นผื่น จะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุ

  • ก่อน 1 ปี : จะเป็นบริเวณแก้ม ศีรษะ ข้อศอก ข้อเข่า
  • 1 ปี ขึ้นไป จนถึงวัยผู้ใหญ่ : จะเป็นบริเวณข้อพับแขน ข้อพับขา คอ หัวนม

2.2 ผื่นผิวหนังจากการอักเสบของต่อมไขมัน (Seborrheic Dermatitis) หรือที่รู้จักกันในชื่อ  Sb Dermเป็นผื่นที่ถูกกระตุ้นจากระดับฮอร์โมนที่แปรปรวน ความเครียด หรือเชื้อราบางตัวบนใบหน้า เป็นได้ทั้งหน้าร้อน (กระตุ้นต่อมไขมันออกมามาก ทำให้กระตุ้นผื่นให้กำเริบ) หน้าหนาว (ผิวแห้งเกินไป กระตุ้นให้ผื่นกำเริบ) มักเกิดบริเวณหัวคิ้ว ข้างจมูก และหลังหู

2.3 ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มน้ำ (Dyshidrotic) จะมีตุ่มเล็กๆหลายๆตุ่มขึ้นมี มีอาการคันมาก มักขึ้นตามนิ้วมือหรือเท้า เป็นตุ่มลึกๆ สัมพันธ์กับอาการภูมิแพ้และอาการระคายเคืองที่ผิวหนัง

การรักษา

  1. ใช้ยา Steriod
    – อาการรุนแรงมาก : ใช้ยากินช่วงสั้น ๆ
    – อาการปานกลาง : ใช้ยาทา สามารถทาได้ ไม่ต้องกังวล แต่ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
  2. ใช้ยาแก้แพ้ ลดอาการคัน
  3. ใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาการติดเชื้อแทรกซ้อนจากการแกะหรือเกา
  4. ใช้ก็อซสะอาดชุบน้ำหรือแปะไว้ 10 – 15 นาที วันละ 3 เวลา หากมีน้ำเหลืองไหลเฉียบพลัน
  5. ทาครีมบำรุงผิว ให้ความชุ่มชื้น
  6. งดการเกา ขัด หรือถู บริเวณที่เป็นผื่น
  7. หากเป็นเรื้อรัง หรือไม่ตอบสนองต่อยา หรือลักษณะของผื่นเปลี่ยนไป อาจต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจเพิ่มเติม

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ลมพิษ โรคยอดฮิตที่ไม่ควรมองข้าม

ไขข้อข้องใจ เกี่ยวกับ สูติ-นรีเวช ที่ผู้หญิงมักเข้าใจผิด

รอยช้ำ ที่อาจบอกได้ว่ากำลังเป็นโรคอะไร

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.