สุขภาพฟัน ฟันและเหงือก ฟัน เหงือก ช่องปาก ปาก

คู่มือป้องกัน+รักษา สุขภาพฟัน ตามช่วงวัย

คู่มือป้องกัน+รักษา สุขภาพฟัน ตามช่วงวัย

สุขภาพฟัน หยุดเสียว ผุ กร่อน บวม อักเสบ ฟัน เหงือก ชีวจิตชวนเช็กไลฟ์สไตล์ใกล้ตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำเหงือกและฟันของคุณป่วยตามช่วงวัย พร้อมวิธีป้องกันรักษาโรคเหงือกและฟันอย่างถูกต้อง เพื่อให้ ฟันและเหงือกสุขภาพเลิศ แข็งแรงราวกับคนหนุ่มสาวอยู่เสมอ

 

เช็กไลฟ์สไตล์ “คนอายุน้อย” ทำอายุฟันสั้นลง

คนอายุน้อยในที่นี้คือ คนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายจนถึงวัยทำงานตอนต้น (อายุระหว่าง 15 – 34 ปี) อาจารย์ ทันตแพทย์ศุภชัย สุพรรณกุล รองหัวหน้าภาควิชาทันตกรรมทั่วไปขั้นสูง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า

“สถานการณ์โรคและอาการผิดปกติของฟันในกลุ่มคนอายุน้อย และวัยทำงานตอนต้นในปัจจุบัน โดยภาพรวมดีขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากพ่อแม่รุ่นใหม่เข้าถึงข้อมูลการดูแลสุขภาพฟันที่ถูกต้อง  จึงช่วยดูแลสุขภาพช่องปากของลูกๆ ได้เป็นอย่างดี เมื่อโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและวัยทำงานในปัจจุบันจึงพบปัญหาฟันผุน้อยลง รวมถึงมีเทคโนโลยีการตรวจรักษาที่ดีขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังพบปัญหาโรคฟันจากไลฟ์สไตล์ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีตพอสมควร”

คุณหมอศุภชัย ยกตัวอย่างไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ส่งผลต่อโรคฟัน ไว้ดังนี้

 

สุขภาพฟัน ฟันและเหงือก ฟัน เหงือก ช่องปาก ปาก
สุขภาพฟัน ฟันและเหงือก ฟัน เหงือก ช่องปาก ปาก

เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายผาดโผนทำฟันเปลี่ยนสี

คุณหมอศุภชัยอธิบายว่า

“เราพบว่าวัยรุ่นโดยเฉพาะกลุ่มที่พ่อแม่ค่อนข้างมีกำลังทรัพย์ รวมถึงวัยทำงานตอนต้น มักนิยมเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมผาดโผน เช่น การเล่นเจ็ตสกี ขี่มอเตอร์ไซค์ บาสเกตบอล กระโดดบนแทรมโพลีน ซึ่งกีฬาหรือกิจกรรมเหล่านี้อาจทำให้ผู้เล่นประสบอุบัติเหตุ ฟันถูกกระแทก ส่งผลให้ฟันเกิดการเปลี่ยนสี”

หนังสือ โรคของช่องปากและฟัน โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ อธิบายโดยสรุปว่า

ภาวะฟันเปลี่ยนสีคือ ฟันซึ่งปกติมีสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน เปลี่ยนเป็นสีอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น สีขาวขุ่น สีเหลือง สีคล้ำ สีน้ำตาล สีดำ โดยอาจเกิดกับฟันทุกซี่หรือเฉพาะบางซี่

ฟันเปลี่ยนสีเกิดขึ้นที่ชั้นเคลือบฟันและชั้นเนื้อฟัน เป็นโรคหรือภาวะที่พบได้บ่อย มักเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการถูกกระแทกจนฟันหัก การกินยาบางชนิด

นอกจากนี้หนังสือฟัน โดย ทันตแพทย์หญิงยุพเรศ นิมกาญจน์ ให้ข้อมูลเรื่องฟันเปลี่ยนสีเป็นสีคล้ำหรือฟันตายว่า

“ฟันที่ถูกแรงกระแทกจะส่งผลกระทบต่อเส้นเลือดและเส้นประสาทที่บริเวณรูเปิดปลายรากฟันให้เกิดการฉีกขาด ทำให้ฟันตายได้ ซึ่งมักไม่มีอาการเจ็บและดูเหมือนฟันดีๆ มารู้ตัวว่าฟันตายเมื่อเห็นฟันสีคล้ำลงสาเหตุที่ฟันตายมีสีคล้ำลง เพราะเม็ดเลือดแดงที่อยู่ในโพรงประสาทฟันแตกเสื่อมสลายไป แล้วปล่อยสารประกอบธาตุเหล็กซึ่งมีสีน้ำตาลสนิมออกมา”

คุณหมอศุภชัยแนะนำว่า หากต้องเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่มีการกระแทกเป็นประจำ ควรจะสวมเมาท์การ์ด (Mouthguard) เพื่อปกป้องฟัน

 

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.