เช็กไลฟ์สไตล์ “คนวัยทำงาน” ทำอายุฟันสั้นลง
สำหรับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มคนวัยทำงานในที่นี้คือ ช่วงอายุระหว่าง 35 – 59 ปี ซึ่งมีไลฟ์สไตล์ก่อโรคฟันที่แตกต่างจากกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้นดังนี้
จากประสบการณ์ คุณหมอศุภชัย อธิบายว่าไลฟ์สไตล์สำคัญมีดังนี้
ยิ่งเครียด ยิ่งกัดฟัน ทำขากรรไกรอักเสบ ฟันกร่อน
คุณหมอศุภชัยอธิบายว่า
“เราพบว่าคนวัยทำงานนั้นมักเผชิญกับความเครียดโดยเฉพาะความเครียดที่ไม่รู้ตัว บางคนมีพฤติกรรมเคี้ยวฟัน กัดกรามเล่น หรือนอนกัดฟัน บางคนนอนกัดฟันมาก ส่งผลให้ตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกปวดขากรรไกร ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับฟันมากมาย เช่น ทำให้ฟันสึก ฟันกร่อน ฟันแตก ฟันร้าว”
หนังสือ ฟัน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกัดฟันว่า
“การกัดฟันบ่อย ๆ ทำให้ฟันเตี้ย เตียน เหมือนตอไม้ตื่นมาปวดกราม ต่อมาลามไปถึงหน้าหูเพราะข้อต่อขากรรไกรอักเสบ อ้าปากไม่ขึ้น ขณะที่นอนกัดฟัน กล้ามเนื้อบดเคี้ยวจะออกแรงมากกว่าปกติหลายเท่า ฟันต้องรับแรงกระแทกมากจึงขบบดกันเองจนแตกหรือก็ไม่ก็สึกอย่างรวดเร็วกว่าการเคี้ยวอาหารตามปกติ ส่วนข้อต่อขากรรไกรนั้นต้องรับแรงกระแทกมากจนอาจเกิดความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรได้”

คุณหมอศุภชัย แนะนำวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้นว่า
“ต้องแก้ที่สาเหตุคือ หาวิธีลดความเครียดแต่หากว่าไม่สามารถแก้ไขได้จริงๆ หรือมีอาการนอนกัดฟันที่รุนแรง แนะนำให้สวมเฝือกฟัน (Night Guard หรือ Occlusal Splint) ซึ่งเป็นเครื่องมือพลาสติกรูปเกือกม้าที่ถอดใส่เองได้ ไว้ตอนนอนเพื่อป้องกันฟันสึก โดยเฝือกฟันที่ดี ที่ทำมาอย่างถูกต้อง จะช่วยให้กล้ามเนื้อบดเคี้ยวได้พักผ่อนเพราะฟันทุกซี่สามารถสบกันได้”
นอกจากนี้หนังสือ ฟัน ยังแนะนำเพิ่มเติมดังนี้
1. ให้ละสิ่งที่กระตุ้นให้นอนกัดฟัน เช่น ใกล้เวลาเข้านอน ควรงดบุหรี่ ชา กาแฟ
2. ทำสมาธิก่อนเข้านอนสัก 30 นาทีสามารถลดการนอนกัดฟันได้ เพราะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ตึงเครียด จึงหลับไปอย่างสบายใจ