เตือนให้รู้! ร้อนนี้ ตายแล้ว 34 ราย!
กระทรวงสาธารณสุขเตือน แม้แต่หนุ่มสาว อยู่กลางแดดจัดก็ต้องระวัง เพราะตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงวันที่ 22 เมษายนที่ผ่าน มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคลมแดดแล้ว 34 ราย
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ขณะนี้สภาพอากาศประเทศไทยยังร้อนจัด ผู้ที่ต้องทำงานหรือออกกำลังกลางแจ้งหรือในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน จึงเสี่ยงเป็นโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยจะมีอาการเริ่มต้นคือ รู้สึกเมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีอาการสับสน ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน มีอาการภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อค ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับการป้องกันโรคลมแดด นายแพทย์โสภณแนะนำให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด ไม่การออกกำลังกายหรือทำงานกลางแดดเป็นเวลานาน ควรอยู่ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่น ควรดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกบ้านในวันที่อากาศร้อน และดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง หากหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆกลางแดดจัดไม่ได้ ควรดื่มน้ำชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้จะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ควรดูแลไม่ให้เด็กและผู้สูงอายุอยู่กลางแดดหรือในรถที่จอดตากแดด ผู้มีโรคเรื้อรังให้รับประทานยาตามแพทย์สั่ง หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อนเป็นเวลานาน สำหรับผู้ที่ต้องออกไปทำงานหรือออกกำลังท่ามกลางอากาศร้อน ขอให้เตรียมร่างกายโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย 30 นาที เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
หากพบผู้ที่เป็นลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน เทน้ำเย็นราดลงบนตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้เร็วที่สุด ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกาย ไม่ควรใช้ผ้าเปียกคลุมตัวเพราะจะขัดขวางการระเหยของน้ำออกจากร่างกาย หากผู้ป่วยยังไม่หมดสติ ให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด หรือโทรขอความช่วยเหลือสายด่วน โทร. 1669
เครดิตภาพ: www.pixabay.com