เคล็ดลับ ลดเสี่ยง หัวใจวาย

5 เคล็ดลับ ลดความเสี่ยงการเกิด หัวใจวาย

หัวใจวาย หรือหัวใจล้มเหลว เป็นอีกหนึ่งปัจจัยการเสียชีวิตที่เกิดขึ้นได้ง่าย และไม่รู้ตัว แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะหัวใจวายได้

หัวใจวาย เฉียบพลัน คืออาการที่หลอดเลือดหัวใจอุดตัน ไม่มีเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้กล้ามเนื้อค่อยๆ ตาย ซึ่งทำให้เกิดอาการเจ็บเค้นต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจจะตายภายในไม่กี่นาทีหลังเกิดอาการเจ็บเค้น หากได้รับการช่วยเหลือได้ทันในระยะเริ่มแรก จะทำให้มีโอกาสรอดได้มาก

สัญญาณเตือน หัวใจวาย เฉียบพลัน 

  1. แน่นหน้าอก นานกว่า 20 นาที ร้าวไปที่คอ แขน และขากรรไกร
  2. เหงื่อออก ตัวเย็น
  3. คลื่นไส้อาเจียน หน้ามืดจะเป็นลม
  4. ปวดจุกท้อง บริเวณลิ้นปี่ หรือปวดร้าวขึ้นไปที่กรามหรือไหล่โดยเฉพาะไหล่ซ้าย
  5. หายใจไม่ทันขณะออกกำลังกาย อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 
  6. หายใจหอบ หายใจไม่พอ หายใจสั้น

ซึ่งหากมีอาการควรบอกผู้ที่อยู่ใกล้ชิดทันที และไปถึงโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด เพราะยิ่งถึงมือแพทย์ได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสรอดก็ยิ่งมีมากเท่านั้น

กลุ่มเสี่ยง หัวใจวายเฉียบพลัน

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มีไขมันสูง สาเหตุสำคัญที่ทำให้เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน
  • ผู้มีภาวะเครียด พักผ่อนน้อย ทำให้ระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของหัวใจผิดปกติ
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน
  • ผู้ที่สูบบุหรี่
  • ผู้ที่นอนกรนรุนแรง มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ไม่ออกกำลังกายส่ำเสมอ

สำหรับผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย

ผู้ที่อยู่กับผู้ป่วยในขณะนั้นควรตั้งสติ แล้วแจ้งสายด่วน 1669  แล้วแจ้งรายละเอียดให้แก่เจ้าหน้าที่ทราบ ดังนี้

  1. บอกอาการผู้ป่วย
  2. บอกสถานที่
  3. บอกเพศ อายุ และจำนวน
  4. บอกระดับความรู้สึกตัว 
  5. บอกความเสี่ยง เช่น อยู่กลางถนน 
  6. ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
  7. อยู่รอทีมกู้ชีพ มารับผู้ป่วย

คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ อธิบายว่า ในกรณีของคนอายุน้อย การป้องกันหัวใจล้มเหลวด้วยการดูแลปัจจัยเสี่ยง เช่น คุมน้ำหนัก ความดันโลหิต ระดับไขมันเลว ระดับน้ำตาลในเลือด ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ปรับไปกินผักผลไม้ให้มากขึ้น อย่างต่ำวันละ 400 กรัม ออกกำลังกายเป็นประจำ และงดสูบบุหรี่ ซึ่งมีวิจัยยืนยันว่า หากทำได้จะช่วยลดอัตราตายก่อนวัยอันควร (ก่อนอายุ 70 ปี) ลงไปได้ถึงร้อยละ 91 เลยทีเดียว

ปรับ . . . ลดความเสี่ยง หัวใจวาย

เรื่องสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า การปรับเปลี่ยนพฤติดกรรม รวมถึงอารมณ์ และความคิด จะช่วยลดความเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยคุณหมอสันต์ได้สรุปเป็นเคล็ดลับสั้นๆ ที่ช่วยลดความเสี่ยง โดยเป็นผลจากงานวิจัยไว้ 5 ข้อ ดังนี้

หัวใจวาย
  • ใจเย็นๆ เพราะการโมโหแบบปรี๊ดแตก เพิ่มโอกาสทำให้หลอดเลือดหดเกร็ง และเสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวกะทันหันเพิ่มขึ้น 8.5 เท่า
  • งดกินอาหารไขมันมื้อหนักๆ การกินอาหารหนักๆ เพียงมื้อเดียว ทำให้หลอดเลือดหดตัวได้นานถึง 6 ชั่วโมง
  • งดการเติมเกลือหรือใช้เครื่องปรุงรสเค็ม การกินเค็ม มีผลต่อระดับความดันโลหิตโดยตรง
  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6 – 8 แก้ว หากร่างกายขาดน้ำ ก็จะส่งผลต่อหลอดเลือด และความดันโลหิตตามไปด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องฝึกให้ชิน โดยจิบน้ำอยู่เสมอ อย่างน้อยทุกๆ 30 นาที
  • ห้ามหยุดยาเอง กรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เคยผ่าตัดหัวใจ และต้องกินยาโรคหัวใจต่อเนื่อง ห้ามหยุดยาเองโดยเด็ดขาด หากต้องการปรับลดยาให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

การดูแลตัวเอง เมื่อมีภาวะหัวใจวาย

หากมีภาวะหัวใจวาย จะทำให้หัวใจอ่อนแอ ไม่แข็งแรงเหมือนดั่งเดิม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการดูแลตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ โดยทำได้ง่ายๆ คือ

ลดน้ำหนักตัวลง ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวควรมีรูปร่างค่อน มาทางผอม อย่างน้อยควรมีดัชนีมวลกายอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนมาทางต่ำ คือไม่เกิน 23 กิโลกรัม / เมตร

ชั่งน้ำหนักทุกวัน เพื่อป้องกันน้ำคั่งในร่างกายแบบไม่รู้ตัว หากน้ำหนักเพิ่มเกิน 1.3 กิโลกรัมในหนึ่งวัน แสดงว่ามีการ สะสมน้ำในร่างกายมากผิดปกติ ต้องรีบหารือแพทย์ที่รักษาอยู่ มิฉะนั้นอาการจะทรุดลงเร็วและแก้ไขยาก

คุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความล้มเหลวของ การควบคุมความดันเลือดเป็นสาเหตุหลักของหัวใจล้มเหลว เป้าหมายคือความดันเลือดตัวบนต้องไม่เกิน 130 มิลลิเมตร – ปรอท ควรซื้อเครื่องวัดความดันอัตโนมัติมาวัดเองที่บ้าน สักสัปดาห์ละครั้ง และปรับยาความดันตามความดันที่วัดได้ โดยสื่อสารกับแพทย์ผู้รักษา

ควบคุมเกลือ ไม่กินอาหารเค็ม ยิ่งจืดยิ่งดี

ควบคุมน้ำ จำกัดการดื่มน้ำไม่ให้เกินวันละ 2 ลิตร โดย เฉพาะอย่างยิ่งหลังอาหารเย็นไปถึงก่อนนอนไม่ควรดื่มน้ำมาก

ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน สำคัญที่สุด การออกกำลังกายในคนเป็นหัวใจล้มเหลว ต้องทำให้ได้มากที่สุดตามกำลังของแต่ละวัน แต่ไม่รีดแรงงานถึงขนาดหมดแรงพังพาบ น่าเศร้าที่คนเป็นหัวใจล้มเหลวไม่มีใครกล้าออกกำลังกาย นักกายภาพ นักบำบัดก็ไม่กล้าพาไป เพราะกลัวผู้ป่วยมาเป็นอะไรคามือตัวเอง ทั้งๆ ที่การออกกำลังกายเป็นวิธีเดียวที่จะให้คนเป็นหัวใจล้มเหลว มีการทำงานของหัวใจดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นเรื่อง การออกกำลังกายนี้ผู้ป่วยต้องเป็นคนลงมือเอง อย่าหวังพึ่งหมอ หรือนักกายภาพบำบัด ต้องวางแผนกิจกรรมให้ตัวเองได้ออก กำลังกายสลับกับพักอย่างเหมาะสมทั้งวัน

ฉีดวัคซีนป้องกันโรคให้ครบ อย่างน้อยต้องฉีดวัคซีน ป้องกันปอดอักเสบชนิดรุกล้ำ (IPV) เข็มเดียวคุ้มกันได้ตลอดชีพ และฉีดยาป้องกันไข้หวัดใหญ่ปีละเข็มทุกปี ถ้าอายุ 60 ปีขึ้นไป แล้วก็ควรฉีดวัคซีนงูสวัดด้วย เรื่องวัคซีนนี้ไม่ต้องรอให้หมอ แนะนำ เพราะหมอมักจะลืม เนื่องจากหมอส่วนใหญ่ถนัด แต่การรักษาโรค ไม่ถนัดการป้องกันโรค

เน้นที่การดูแลตนเอง หลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลบ่อยๆ เพราะงานวิจัยพบว่า การรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวแบบพาไปนอน โรงพยาบาลบ่อยๆ เป็นวิธีที่แย่กว่าการสอนให้รู้วิธีดูแลตัวเองที่บ้าน สมาคมหัวใจล้มเหลวสหรัฐอเมริกา (HFSA) แนะนำว่า แพทย์หรือ พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยตามบ้าน ควรพาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเข้าไป นอนในโรงพยาบาลก็ต่อเมื่อ

  • มีอาการที่ส่อว่าหัวใจกำลังชดเชยต่อไปไม่ไหว (Decompensated) เช่น ความดันเลือดตก ไตทำงานแย่ลง มีภาวะสติเลอะเลือน
  • หอบทั้งๆ ที่นั่งพักเฉยๆ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะจนการไหลเวียนเลือดไม่พอ
  • มีอาการหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เช่น เจ็บหน้าอก

มีงานวิจัยระดับสูงเกี่ยวกับการใช้อาหารเสริม CoQ10 รักษาหัวใจล้มเหลว ชื่อ Q-SYMBIO พบว่า CoQ10 ลดการเกิด จุดจบที่เลวร้ายและการเสียชีวิตลงได้มากกว่ายาหลอก และ เนื่องจาก CoQ10 เป็นอาหารเสริมที่มีความปลอดภัย การกิน อาหารเสริม CoQ10 ร่วมด้วยจึงเป็นสิ่งที่ควรทำ

ที่มา

  • คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 541
  • สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เจ็บหน้าอก จำต้องเป็นโรคหัวใจหรือไม่? หมอหัวใจมาตอบเอง

ทำอาหารให้ผู้สูงอายุ อย่างไร ให้ปลอดภัย ?

อาหารเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.