ไทรอยด์หรืออ้วน

ไทรอยด์หรืออ้วน แยกให้ได้ก่อนต้องรีบวิ่งไปหาคุณหมอ

ไทรอยด์หรืออ้วน แยกให้ได้ก่อนต้องรีบวิ่งไปหาคุณหมอ

อยู่ๆ น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หลายคนคงสงสัยว่า ไทรอยด์หรืออ้วน กันแน่ เรามีข้อมูลดีๆ เพื่อที่ทุกคนจะได้ทราบต้นเหตุที่แท้จริงและดูแลตัวเองได้อย่างถูกวิธี

ไทรอยด์กับความอ้วน

ไทรอยด์มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่มีความสำคัญในการควบคุมการเผาผลาญและรักษาอุณหภูมิของร่างกาย หากไทรอยด์ทำงานผิดปกติย่อมส่งผลให้ระบบในร่างกายทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งโรคไทรอยด์มีหลายชนิด แต่ที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนที่ส่งผลกับระบบการเผาผลาญเป็นหลัก มี 2 ชนิด ได้แก่

  1. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroid) คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ ทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนจึงเผาผลาญน้อยกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มีอาการบวม อ้วนง่าย เพลียง่าย ง่วงบ่อย ผิวแห้ง หนาวง่าย เป็นต้น
  2. ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) หรือไทรอยด์เป็นพิษ คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนออกมามากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายได้รับฮอร์โมนมากเกินไปจึงเผาผลาญมากกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำหนักลดลง หิวง่าย กินเยอะแต่ไม่อ้วน เหนื่อยง่าย ขับถ่ายบ่อย มือสั่น ใจสั่น ร้อนง่าย เป็นต้น

ดังนั้นภาวะต่อมไทรอยด์ที่มีความสัมพันธ์กับความอ้วนจะเป็นภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (Hypothyroid) เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานลดลงส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคนอ้วนต้องมีภาวะไทรอยด์เสมอไปและในผู้ที่ลดน้ำหนักมากเกินไปไม่มีความสัมพันธ์กับภาวะไทรอยด์ 

ไทรอยด์หรืออ้วน

นอกจากนี้ยังมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่สามารถพบได้อย่างก้อนที่ต่อมไทรอยด์ เนื้องอกต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์อักเสบจากเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย ต่อมไทรอยด์โต จึงควรสังเกตอาการไทรอยด์เบื้องต้นด้วยตัวคุณเอง

ตัวการไทรอยด์

มีหลากหลายสาเหตุในการเกิดภาวะไทรอยด์ ได้แก่

  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผิดปกติ จึงเข้าไปกระตุ้นการทำงานของไทรอยด์ ทำให้ไทรอยด์ทำงานเยอะเกินไปหรือทำงานน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความผิดปกติกับร่างกาย
  • คุณแม่หลังคลอดบุตรอาจมีภาวะไทรอยด์อักเสบหลังคลอด
  • พันธุกรรมจากคนในครอบครัว
  • ยาบางชนิดส่งผลให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เช่น ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือยารักษามะเร็งบางตัว
  • ภาวะขาดไอโอดีน

ตรวจวินิจฉัยไทรอยด์

  • ซักประวัติ
  • ตรวจร่างกาย
  • คลำดูต่อมไทรอยด์ 
  • ตรวจเลือดเพื่อดูระดับไทรอยด์ฮอร์โมนและไทรอยด์แอนติบอดี
  • ตรวจอัลตราซาวนด์
  • ตรวจชิ้นเนื้อไทรอยด์ (Fine Needle Biopsy)

รักษาภาวะไทรอยด์

การรักษาขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ได้แก่

  • กรณีที่ไทรอยด์ทำงานผิดปกติสามารถรับประทานยาเพื่อปรับให้ไทรอยด์ทำงานปกติได้
  • ถ้ามีถุงน้ำในไทรอยด์ใช้รักษาโดย Aspiration หรือการทำ Percutaneous Ethanol Injection 
  • ถ้าเป็นมะเร็งไทรอยด์จำเป็นต้องผ่าตัดไทรอยด์ออก

ป้องกันไทรอยด์

  • กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารทะเลที่มีไอโอดีน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
  • งดสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดูแลใจไม่ให้เครียด 

หากป่วยเป็นไทรอยด์แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษาอาจทำให้อาการรุนแรงเพิ่มขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือร้ายแรงถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ จึงควรรีบพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อรักษาไทรอยด์ให้หายโดยเร็วที่สุด 

อาหารที่ชาวไทรอยด์กินได้

คนที่เป็นไทรอยด์กินได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหารชีวจิต อาหารมังสวิรัติ อาหาร 5 หมู่ทั่วไป ยกเว้นอาหารที่กระตุ้นการต้านภูมิคุ้มกันตนเอง (Autoimmunity) เช่น ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม เพราะอาหารดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและส่งผลให้เกิดความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ตามมา แน่นอนว่าความเครียดมาพร้อมกับความแปรปรวนของอารมณ์

ธัญพืช

แน่นอนว่ากินได้ โดยเฉพาะข้าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย แต่ต้องมั่นใจว่าแช่น้ำก่อนนำมาทำให้สุก ทั้งนี้เพื่อเป็นการเลี่ยงสาร กลูเตนและกรดไฟติก หรือโปรตีนอื่นๆที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบ นำไปสู่ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์และความเครียดที่พ่วงมากับโรคด้วย

น้ำมันพืช

อาจต้องลดปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชลงบ้าง เพราะมีสารอนุมูลอิสระที่นำไปสู่การอักเสบ (กรณีที่ร่างกายเรามีสารอนุมูลอิสระมากเกินไป)

เลี่ยงแป้งขัดขาวและธัญพืชที่ผ่านการขัดขาว

และควรกินชนิดที่แปรรูปแล้วให้น้อยลง

แต่อย่าลดการกินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป

(เชื่อว่าสาวๆน่าจะทำเป็นอย่างแรก เพราะกำลังลดน้ำหนักอยู่หรือกลัวน้ำหนักเพิ่ม) อย่าลืมว่า การกินคาร์โบไฮเดรตจะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลิน ซึ่งอินซูลินนั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยอินซูลินนั้นใช้ในการแปลง T3 เป็น T4 และ T4 ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มาจากต่อมต่อมไทรอยด์(เข้าใจนะคะว่า T3 มาจากพาราต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นคนละต่อมกับต่อมไทรอยด์ อินซูลินช่วยพา T3 เข้าไปในต่อมต่อมไทรอยด์ และหลั่งออกมาเป็น T4) ขณะเดียวกัน บางกรณีT4 ก็ต้องแปลงกลับไปเป็น T3

เนื่องจาก T3 ทำงานมากกว่า ฉะนั้นถ้าระดับอินซูลินต่ำเกินไปเนื่องจากควบคุมแคลอรี เลยกินอาหารจำพวกแป้งและโปรตีนน้อยเกินไป อาจทำให้ต่อมไทรอยด์ต้องทำงานหนักในกระบวนการแปลงฮอร์โมนจาก T4 กลับไปเป็น T3 ซึ่งหากเป็นแบบนี้ติดต่อกันนานเข้าก็คงไม่ดี ฉะนั้นควรได้รับแคลอรีจากคาร์โบไฮเดรต 30 เปอร์เซ็นต์ และแคลอรีจากโปรตีนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ โดยที่เหลือคือแคลอรีจากไขมันดี

ขอบคุณข้อมูล

  • นพ. ณัฐนนท์ มณีเสถียร
  • นิตยสารชีวจิต

บทความอื่นที่น่าสนใจ

รู้จักความแตกต่างของ “ไฮเปอร์ไทรอยด์” และ “ไฮโปไทรอยด์”

ดูแล ไทรอยด์เป็นพิษ ตามวิถีแพทย์แผนจีน

ติดตามชีวจิตได้ทาง

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.