เลือกออกกำลังกาย ให้เหมาะสมกับคุณ
นายวชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย ได้ออกมากล่าวถึงกรณีนายประเมิน ไกรรส ผู้อำนวยการเขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ออกกำลังกายและหมดสติเสียชีวิต เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมานั้น ว่าต้องขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การออกกำลังกาย หรือการมีกิจกรรมทางกายที่พอเพียงเป็นสิ่งดีต่อสุขภาพ แต่ยังห่วงคนไทยจำนวนมากที่คิดว่าตนเองแข็งแรง ไม่ยอมตรวจสุขภาพร่างกาย ส่งผลให้ไม่รู้ว่าตนเองมีความเสี่ยง ซึ่งอาจเป็นภัยเงียบคร่าชีวิตในขณะออกกำลังกายได้
ทั้งนี้อธิบดีกรรมอนามัย ยังได้แนะถึงวิธีออกกำลังกาย หรือ การหากิจกรรมทางกาย ไว้ดังนี้
- ควรประเมินร่างกายตัวเองก่อนว่ามีความเข้มแข็งเพียงใด โดยประเมินได้จาก อายุ โรคภัยไข้เจ็บ และความเสี่ยงของร่างกาย เช่น หากอายุมากร่างกายก็จะเสื่อมตามลำดับ
- หากมีท่านใดมีโรคเฉพาะไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ซึ่งนำมาสู่หลอดเลือดหัวใจอุดตัน รวมถึงความเสี่ยงอื่นอีก เช่น สูบบุหรี่ ดื่มสุรา เป็
นต้น ถ้ารู้ว่าร่างกายมีความเสี่ยงประเภทนี้อยู่ ให้ประเมินตนเองว่าควรออกกำลังกายแค่ไหน หนักเบาถี่ห่างอย่างไร - ควรตรวจสุขภาพเพื่อให้รู้ความเสี่ยงของร่างกายว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์ก็จะช่วยแนะนำได้ว่าควรออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมทางกายอย่างไร
- ควรอบอุ่นร่างกาย หรือ วอร์มร่างกาย ซึ่งการวอร์มร่างกายจะช่วยให้รู้ตัวเองว่าพร้อมที่จะออกกำลังกายต่อหรือไม่
- ควรสังเกตอาการตัวเอง ระหว่างออกกำลังกาย หากมีอาการเหนื่อย ใจสั่น พูดติดขัดขาดเป็นช่วงๆ ควรชะลอการออกกำลังกายหรือพัก รวมถึงต้องไม่ลืมการคลายความอบอุ่น หรือ คูลดาวน์ เพื่อให้ร่างกายปรับตัวสู่สมดุลเดิมด้วย
คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมอีกว่า เรื่องการออกกำลังกายและเสียชีวิต ปกติไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก คาดว่า คงเป็นจังหวะพอดีของร่างกายที่อาจพักผ่อนน้อย หรือมีภาวะเหนื่อยล้า ประกอบกับโรคที่แสดงพอดี
ทั้งนี้ ไม่อยากให้หลายคนกังวล หรือกลัวการออกกำลังกาย โดยสามารถทดสอบร่างกายได้ขณะออกกำลังกายว่าเราเหนื่อยล้ามากเกินไป สมควรหยุดหรือไม่ ดูได้จาก ทอล์ก เทสต์ การพูด หรือเปล่งเสียง หลังผ่านการออกกำลังกายไปแล้ว 5 – 6 นาที หากพูดเป็นประโยคไม่ติดขัด ชัดเจน แสดงว่า ร่างกายสามารถออกกำลังกายต่อไหว แต่หากพูดจาขาดเป็นช่วงๆ แสดงว่า ร่างกายต้องการหยุดพัก
สำหรับโรคที่ไม่ควรออกกำลังกาย คือ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ แต่ถ้าอยากออกำลังกายจริง ๆ ขอแนะนำเป็นกายบริหารร่างกาย เล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ควรออกำลังกายในช่วงเวลาที่มีแดดร้อนจนเกินไป และหากมีอาการแน่นหน้าอก ปวดร้าวหน้าอก ไหล่ซ้าย เหมือนมีคนเอาผ้ามารัด หรือเหงื่อออกเยอะมากผิดสังเกต ขอให้หยุดออกกำลังกาย และไม่ควรออกกำลังกายต่อ
การออกกำลังกายยังเป็นเรื่องสำคัญ ที่ควรทำอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 5 ครั้ง องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ออกกำลังกายระดับปานกลางอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือวันละ 30 นาที และเลือกเวลาที่สามารถออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง
ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่เหมาะสม ถูกวิธี ไม่หักโหมเกินไป ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างแน่นอน
ที่มา : สสส.