เหตุใดจึงเป็น กรดไหลย้อน ?
ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ศิริราชพยาบาล เล่าถึง กรดไหลย้อน ว่า เป็นโรคที่มีอาการซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวัน หรือกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร เช่น อาการทางปอด หรืออาการทางคอและกล่องเสียง
“โดยปกติร่างกายจะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน และส่วนล่าง เยื่อบุของหลอดอาหารมีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด การที่เกิดโรคกรดไหลย้อนนั้นเชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย โดยปกติถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอยจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็น โรคกรดไหลย้อนนั้นเชื่อว่ามีการทำงานของระบบป้องกันดังกล่าวเสียไป จึงมีกรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย กล่องเสียง และปอดได้” ผศ.นพ.ปารยะ กล่าว
มาลองสังเกตตัวเรา
สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือไม่ ลองมาสำรวจอาการของโรคนี้ด้วยกันค่ะ
- อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้คือ อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก หรือกลืนเจ็บ เจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย
- อาการทางกล่องเสียง และปอด เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง ไอหรือรู้สึกสำลักในเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย เจ็บหน้าอก เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ รวมทั้งอาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ก็จะแย่ลง
แก้นิสัย รักษาอาการ
นอกจากการรักษาโรคกรดไหลย้อนด้วยยาและการผ่าตัดแล้ว การปรับเปลี่ยนนิสัยในชีวิตประจำวัน ถือเป็นวิธีการรักษาที่ดีเพราะทำให้มีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น
ที่สำคัญการรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนี้
- นิสัยส่วนตัว
- ควรควบคุมเรื่องอาหารการกิน พยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันในช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือควันบุหรี่
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
- นิสัยในการกิน
- หลังจากรับประทานอาหารทันที พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ, การออกกำลัง, การยกของหนัก, การเอี้ยวหรือก้มตัว
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึกและไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน
- พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ฟาสท์ฟูด ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่นม หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
- รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท กาแฟ (แม้ว่าเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนก็ไม่ควรดื่ม) ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น
- นิสัยในการนอน
- ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
- เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้ อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้นโดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น
ลองสำรวจตัวเองดูนะคะ ว่ามีอาการของโรคกรดไหลย้อนหรือไม่ ถ้ามีแล้วละก็ ต้องรีบปรับเปลี่ยนนิสัยในการกินการนอนเสียใหม่ จะได้ไม่ต้องพึ่งยาหรือมีดหมอให้เจ็บตัว
ข้อมูลเรื่อง “ปรับนิสัย ช่วยแก้ไขโรค กรดไหลย้อน ” จากนิตยสารชีวจิต