น้ำตาลสูง

น้ำตาลสูง ทำร้ายร่างกายอย่างไร ?

การที่น้ำตาลในเลือดสูง เปรียบเหมือนทุกเซลล์ในร่างกายถูกเชื่อม  ทำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัว คลายตัวได้ตามปกติ  คนเป็นเบาหวานจึงมักปวดตามกล้ามเนื้อต่าง ๆ  เดินไปชนอะไรนิดหน่อยผิวก็เขียวเป็นจ้ำ กล้ามเนื้อหัวใจก็บิดตัวไม่ดี  ไตเสื่อม  ตาเป็นต้อกระจก  ใบหน้าเหี่ยวย่น ผิวไม่อิ่มฟู เพราะคอลลาเจน อีลาสตินก็เชื่อมเหมือนกัน

น้ำตาลจะเข้าไปทดแทนเนื้อเยื่อในกระดูก ทำให้เกิดภาวะกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น พอน้ำตาลไปเกาะสมอง ทำให้เป็นโรคสมองเสื่อมเป็นอัลไซเมอร์เร็วขึ้น น้ำตาลที่สะสมเป็นไขมัน เป็นเซลลูไลท์ เป็นโรคอ้วน นอกจากนั้นพอไขมันไปสะสมในเลือด ทำให้เกิดพลัค (Plaque) ซึ่งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจขาดเลือด “สโตรก” รวมทั้งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายเสีย เกิดภาวะแพ้อาหารแฝงติดเชื้อง่ายกว่าปกติ 

เมื่อโควิด 19 ระบาด คนเป็นเบาหวานเสียชีวิตมากขึ้น เพราะภูมิคุ้มกันไม่ดี   

เกณฑ์ชี้วัดว่าน้ำตาลในเลือดสูง   

นอกจาการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ทุกคนรู้จักแล้ว การวัดระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ฮีโมโกลบิน เอวันซี  ( Hemoglobin A1C – HbA1c) ก็สำคัญ เพราะจะทราบถึงพฤติกรรมของเราย้อนหลังไปได้ถึง 3เดือน

ค่าเฉลี่ยที่ดีที่สุดของ HB A1c  คือ 4.5-5  ถ้าจะเกินกว่านี้ก็ไม่ควรเกิน 6  ถ้า 6.5 ถือว่าใกล้เป็นเบาหวาน หรืออาจเป็นเบาหวานแล้วก็ได้  และถ้าเกิน 7 ไม่ดีแล้ว

หากพบว่า HB A1c อยู่ในระดับ 5.5-6  คุณต้องปรับปรุงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต ทั้งการกินอาหาร การออกกำลังกาย ลดความเครียด ก่อนจะกลายเป็นเบาหวาน

นอกจากนั้นในต่างประเทศยังมีการวัด  AGEs (Advanced Glycation End-Products) ซึ่งเป็นภาวะก่อนจะเป็นเบาหวาน ถ้ากำจัดสารตัวนี้ได้ เราก็จะไม่เป็นเบาหวาน

ไกลเคชั่น (Glycation) เกิดจากน้ำตาลทำปฏิกิริยากับโปรตีนในร่างกาย ทำให้เซลล์ถูกเคลือบด้วยสารแก่ เป็นภาวะที่น้ำตาลในกระแสเลือดไปทำปฏิกิริยาทางเคมีกับโปรตีนในร่างกาย ก่อให้เกิดความเสื่อมและความชราก่อนวัย

ไกลเคชั่น เปรียบเหมือนสนิมเกาะเหล็ก ในกรณีนี้คือน้ำตาลเริ่มไปเกาะตามข้อต่อของโมเลกุลต่าง ๆ ของร่างกาย ทำให้โครงสร้างเซลล์เริ่มเปลี่ยน 

ผลวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับการทำงานของสมอง พบว่าเมื่อน้ำตาลเริ่มไปเกาะไปกวนสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ทำให้สมาธิไม่ค่อยดีหลงลืมอะไรง่าย คุย ๆ อยู่นึกชื่อคนไม่ออก เพราะน้ำตาลไปรบกวนโครงสร้างและการทำงานของสมอง

ผลการวิจัยอีกชิ้น ซึ่งตัดกระดูกของคนที่ยังไม่เป็นกระดูกพรุนแต่อายุมากกว่า 44 ไปตรวจ พบว่า การที่สารไกลเคชั่นเริ่มไปแทรกเข้าไป ทำให้โครงสร้างกระดูกเปลี่ยนไป คือยังไม่ถึงกับทำให้กระดูกบาง แต่เริ่มบาง

“ จะเห็นได้ว่าน้ำตาลสูงไป ต่ำไป ไม่ดีทั้งสองแบบ เราจึงต้องอยู่บนทางสายกลาง”  

ที่มา : พญ. สาริษฐา สมทรัพย์


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.