การครอบแก้ว

มาทำความรู้จักกับ การครอบแก้ว ให้มากขึ้น

หลายคนน่าจะเคยได้ยิน และเคยเห็น การรักษาแบบ การครอบแก้ว ซึ่งเป็นวิธีการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนกันมาบ้างแล้ว วันนี้ชีวจิตจะพาไปทำความรู้จักกับศาสตร์การรักษาแบบนี้ให้มากขึ้น เผื่อใครที่กำลังลังเลว่า จะไปทำดีหรือไม่ดี จะได้มีข้อมูลไว้ประกอบการพิจารณา

การครอบแก้ว คืออะไร?

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายหลักการทำงานของการรักษาแบบครอบแก้วไว้ว่า ความร้อนของไฟ จะเป็นตัวช่วยไล่ความเย็นที่อยู่ในเส้นลมปราณ ซึ่งตามหลักของแผนจีนเชื่อกันว่า ความเย็นจะทำให้การไหลเวียนของลมปราณติดขัด เมื่อเกิดการติดขัดขึ้น มักส่งผลต่ออาการปวดเมื่อยที่เราเป็นกันอยู่ และเมื่อใช้การครอบแก้วซึ่งมีความร้อนจากเปลวไฟมาวางบนผิวตัว ลมปราณในร่างกายจะไหลเวียนได้อย่างปกติเหมือนเดิม ทำให้อาการปวดที่มี บรรเทาลงได้นั่นเอง ถือเป็นหลักการง่ายๆ ตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

การครอบแก้ว

จากการบันทึกตามประวัติศาสตร์ พบว่าการครอบแก้ว (Cupping Therpy) เป็นศาสตร์การแพทย์จีนโบราณที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับการฝั่งเข็ม โดยมีบันทึกมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยนำถ้วยแก้วแบบเฉพาะมาวางไว้บนผิวหนังพร้อมใช้ความร้อนให้แก้วดูดผิวหนังขึ้นมา สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวด ช่วยในการไหลเวียนเลือก ผ่อนคลาย และช่วยในการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย

แต่เดิมที่ยังไม่มีแก้ว ชาวจีนจะใช้เขาสัตว์ กระบอกไม้ไผ่แก่ หรือกระปุกเซรามิก ที่มีความกลวงเป็นอุปกรณ์หลักในการครอบและจึงได้วิวัฒนาการเปลี่ยนมาเป็นแก้วจนกระทั่งปัจจุบัน

ครอบแก้วทำอย่างไร?

เริ่มแรกแพทย์สอบถามอาการผู้ป่วยและจับชีพจร หรือที่เราเรียกว่า การแมะ ซึ่งเป็นการสำรวจเส้นลมปราณต่างๆ ในร่างกาย เพื่อวินิจฉัยโรค จากนั้นแพทย์จะทำการรักษาโดยใช้แก้วสีใสปลอดเชื้อ ใช้ความร้อนไล่อากาศภายในแก้วเพื่อให้เกิดภาวะสูญญากาศ จากนั้นครอบแก้วลงบนผิวหนัง แก้วจะดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อขึ้นมา ผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนสี

ประเภทของครอบแก้ว

ในปัจจุบันครอบแก้ว มีด้วยกันหลายประเภท มีทั้งแบบที่ใช้วิธีดั้งเดิม และแบบที่นำเทคโนโลยีมาผสมผสาน คือ

  • Hot Cupping จุดไฟบนสมุนไพรที่มีที่รองไว้ บนผิวหนัง แล้ววางถ้วยหนาๆ ครอบลงตาม เพื่อลดอาการปวด หรือ ใช้สำลีจุ่มแอลกอฮอล์แล้วจุดไฟ แล้วลนด้านในถ้วย ให้ออกซิเจนน้อยหน่อยแล้วรีบครอบลงไป การจุดไฟจะเป็นการดึงออกซิเจนออกจากถ้วยทำให้เกิดสูญญากาศ ซึ่งจะดูดทั้งผิวหนัง ไขมัน และยืดกล้ามเนื้อชั้นบนขึ้นมา
  • Wet Cupping จะมีการใช้เข็มหนา ๆ จิ้ม 2-3 ที่ใกล้ ๆ กัน ตรงกล้ามเนื้อที่ปวด แล้วครอบแก้วลงไป จะเกิดสูญญากาศและดูดเลือดที่คั่งในกล้ามเนื้อนั้น ๆ ออกมา เพื่อลดปวดอย่างรวดเร็ว
  • Dry Cupping จะใช้ถ้วยดูดสูญญากาศแบบมีวาวล์ดึงอากาศออกจากถ้วย จะดึงทั้งผิวหนัง ไขมัน และกล้ามเนื้อขึ้นมาตามปริมาณที่เอาอากาศออก  

การรักษาด้วยครอบแก้ว

  • การครอบแก้วแบบเคลื่อนไหวหรือการเดินถ้วย (โจ่วก้วน) เพื่อรักษาอาการปวดจากลมปราณติดขัด และอาการชา
  • การครอบแก้วแบบดึงเร็ว (ส่านก้วน) ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดและชาที่ผิวหนัง หรือสมรรถภาพ (ทางร่างกาย) เสื่อมถอย
  • การครอบแก้วที่ประสานกับการใช้เข็มปลอดเชื้อ (ซื่อลั้วป๋าก้วน) ใช้รักษาโรคไฟลามทุ่ง ฝีหนอง รวมถึงอาการปวดเมื่อยเคล็ดขัดยอก
  • การครอบแก้วที่ใช้คู่กับการฝังเข็ม เพิ่มประสิทธิภาพการฝังเข็มและครอบแก้วควบคู่กัน

โดยการครอบแก้วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เกิดรอยแดง ม่วง ช้ำ ซึ่งถือเป็นอาการปกติ สามารถหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์

การครอบแก้ว

ขั้นตอนการครอบแก้ว

  1. แพทย์แผนจีนตรวจและวินิฉัยอาการเพื่อหาสาเหตุ
  2. ใช้สำลีชุดแอลกอฮอล์แล้วจุดไฟใส่เข้าไปในถ้วยแก้วเพื่อให้เกิดสูญญากาศ แล้วจึงนำถ้วยแก้วนั้นวางคว่ำไปยังตำแหน่งที่ต้องการรักษา
  3. แรงดูดสูญญากาศจากภายในแก้วจะดูดผิวหนังและกล้ามเนื้อของผู้บำบัดขึ้นมาซึ่งผิวหนังบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรืออาจทำให้มีเลือดคั่ง ของเสียออกมาจากผิวหนัง
  4. ในวิธีครอบแก้วแบบแห้งจะใช้เวลาที่ประมาณ 5-10 นาที ส่วนวิธีการครอบแก้วแบบเปียกแพทย์อาจจะกรีดแผลเล็กๆเพื่อเป็นการระบายเลือดออกโดยใช้เวลาประมาณ 2-3 นาทีเท่านั้นแล้วจึงทาขี้ผึ้งและปิดด้วยผ้าผันแผลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ รอยแดงที่เกิดจากการครอบแก้วจะสามารถหายไปภายใน 5-7 วัน

การครอบแก้ว ในมุมมองของหลักวิทยาศาสตร์

หลายคนอาจยังงงว่าการเอาแก้วสูญญากาศมานาบที่ผิว แล้วจะรักษาได้อย่างไร มีวิทยาศาสตร์รองรับหรือไม่ หรือเป็นแค่ความเชื่อ เรื่องนี้ทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ อธิบายไว้ว่า การที่เรานำแก้วไปครอบบริเวณผิวหนัง และผิวหนังถูกดูดด้วยแก้วที่เป็นสูญญากาศ จะทำให้เกิดการไหลเวียนของเลือดบริเวณนั้น มีการปั๊มเลือดเข้าสู้บริเวณที่ครอบแก้ว ประกอบกับหลอดเลือดฝอยที่ขยายตัวขึ้น ส่งผลให้เนื้อเยื่อบริเวณนั้นได้รับเลือดออกซิเจนมากขึ้นนั่นเอง ผลที่ตามมาคือ บริเวณที่เราครอบแก้ว จะเกิดกระบวนการซ่อมแซมตัวเองที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  

การครอบแก้ว

ข้อควรระวังในการครอบแก้ว

แม้จะเป็นศาสตร์ที่ยาวนานนับพันปี แต่ก็มีข้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ

1. ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือที่ผู้ที่สภาพร่างกายอ่อนแอ ถ้าสภาพร่างกายอ่อนแอเกินไปไม่เหมาะที่จะทำการ ครอบแก้ว เพราะเป็นวิธีการระบายซึ่งจะทําให้คนที่ร่างกายพร่องอยู่แล้ว ยิ่งพร่องมากขึ้น

2. ผู้หญิงที่มีประจำเดือน ถ้ามีเลือดออกอยู่ แสดงว่าร่างกายใช้เกล็ดเลือดเยอะ เมื่อทำให้ร่างกายเกิดความช้ำอาจทำให้ช้ำมากกว่าปกติและระบมได้ง่าย

3. ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่มีก้อนเนื้อชัดเจน  เพราะเลือดไปเลี้ยงตรงบริเวณก้อนมากอยู่แล้ว  เพราะถ้าทำการครอบแก้วอาจกลายเป็นว่าไปเร่งให้มะเร็งซึ่งยังไม่กระจายออกไปที่หลอดเลือดกระจายออกไปเร็วขึ้น

4. ผู้ป่วยโรคหัวใจ เนื่องจากผิวหนังได้รับแรงดูดขึ้น ทําให้ร่างกายบริเวณนั้นบวมและปวด ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหัวใจ หากได้รับการกระตุ้นแล้วปวดมากไปอาจทําให้เกิดอาการเกี่ยวกับหัวใจเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจกําเริบได้

5. ผู้ที่ผิวหนังเป็นแผลเปิด ผิวหนังบวม อักเสบ หรือติดเชื้อบริเวณผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงินไม่ควรทำ เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบที่หลอดเลือดบริเวณใต้ผิวหนังได้

6. หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก ไม่ควรครอบแก้วช่วงเอว ท้อง และก้นกบเด็ดขาด เพราะอาจทําให้เกิดภาวะแท้งได้ง่าย  

ที่มา

  • คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  • แพทย์หญิงศรันยา สาครินทร์ และนิตยสารชีวจิต  

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เยียวยาภาวะ ตับอักเสบ ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

เพิ่มกล้าม หยุด ปวดออฟฟิศซินโดรม ด้วยแพทย์แผนจีน

ป้องกันโรคหัวใจ ตามแบบฉบับแพทย์แผนจีน

ติดตามชีวจิตได้ที่ :

Facebook : นิตยสารชีวจิต
Instagram : Cheewajitmedia
TikTok : cheewajitmediaofficial

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.