วันนี้เรามาพูดเรื่องใกล้ตัวอย่างการดื่มน้ำบ้างค่ะ และ โปรแกรมดื่มน้ำ ดีอย่างไร เริ่มจากว่า รู้ไหมคะว่า ประโยชน์ของการดื่มน้ำมีอะไรบ้าง
- รักษาระดับน้ำในร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด
- ช่วยให้ผิวพรรณชุ่มชื้น ชะลอวัย ลดความเหี่ยวย่นของผิว
- ช่วยกระตุ้นเมแทบอลิซึมหรือการเผาผลาญของเสียในร่างกาย
- ช่วยให้การย่อยอาหารทำงานปกติ
- ช่วยให้ขับถ่ายได้ดี
- ลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่ว
- ลดอาการตาแห้ง ป้องกันสายตาเสื่อมก่อนวัย และอื่น ๆ อีกมากมาย
โปรแกรมดื่มน้ำตามเวลาที่เหมาะสม
ในเมื่อน้ำมีประโยชน์มากมายถึงเพียงนี้ จึงมีการรณรงค์?ให้ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว หรือวันละ 1 – 2 ลิตร แต่หลายคนคงสงสัยว่า เราจะดื่มอย่างไรให้ได้ปริมาณเท่านี้ ดื่มทีเดียวเลยไหม หรือควรดื่มเวลาไหน เชื่อว่าคงมีคนเข้าใจผิดไม่น้อย วันนี้คุณหมอมีตารางดื่มน้ำในแต่ละวันมาฝากกันค่ะ
- แก้วที่ 1 เวลา 6.30 น. เนื่องจากตอนกลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ร่างกายขาดน้ำไปเป็นเวลานาน ฉะนั้นหลังจากตื่นนอนตอนเช้าให้ดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง 1 แก้ว ประมาณ 250 มิลลิลิตร จะช่วยให้ไตและอวัยวะต่าง ๆ ได้ขับของเสียออกมา
- แก้วที่ 2 เวลา 8.30 น. หลังจากกินอาหารเช้า ให้ดื่มน้ำเติมเข้าไปอีกสัก 250 มิลลิลิตร เพื่อลดการสูญเสียน้ำ เตรียมพร้อมร่างกายก่อนเริ่มงาน
- แก้วที่ 3 เวลา 11.00 น. หลังจากทำงานไปสักพัก เติมน้ำไปอีกสักแก้ว เพื่อลดความตึงเครียดของร่างกาย ขณะที่เราทำงานไม่ว่าจะใช้แรงกายหรือใช้สมอง ล้วนสูญเสียน้ำด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นระหว่างที่ร่างกายมีความเครียดอยู่นั้น เราดื่มน้ำเข้าไปย่อมมีประโยชน์ต่อร่างกายแน่นอน
- แก้วที่ 4 เวลา 12.50 น. หลังจากที่กินอาหารมื้อกลางวันไปสักพัก ดื่มน้ำเข้าไปอีก 1 แก้ว เพื่อช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น
- แก้วที่ 5 เวลา 15.00 น. หากช่วงเวลานี้ดื่มน้ำไปอีกสักแก้ว จะช่วยกระตุ้นสมองที่อ่อนล้ามาทั้งวันให้ทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำแร่จะยิ่งดีเลย
- แก้วที่ 6 เวลา 17.30 น. หลังจากเลิกงานก่อนมื้ออาหารเย็น ควรดื่มน้ำอีก 1 แก้ว เพื่อเพิ่มความอิ่ม ลดความหิว ลดกรดในกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันไม่ให้เราหิวจนกินอาหารมื้อเย็นมากเกินไป จนมีพลังงานสะสมกลายเป็นภาวะอ้วนลงพุง
- แก้วที่ 7 เวลา 22.00 น. หรือก่อนเวลาเข้านอนสักครึ่งชั่วโมง ให้ดื่มน้ำอีกครึ่งถึงหนึ่งแก้ว (ปริมาณไม่ต้องเยอะ) เพื่อลดการตื่นมาเข้าห้องน้ำกลางดึก ซึ่งอาจส่งผลต่อการนอน ทำให้หลับไม่สนิทหรือนอนต่อไม่ได้
- แก้วที่ 8 หากรู้สึกกระหายน้ำ เมื่อตื่นมากลางดึก ให้ดื่มน้ำเพียง 1 อึก
ดื่มน้ำชนิดไหนช่วยร่างกายหายเหนื่อย
หลายคนคงสงสัยว่า เอ๊ะ! แล้วการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ที่ว่านี้ หากเราชอบดื่มน้ำอัดลม น้ำชา หรือน้ำเย็นใส่น้ำแข็งให้ชื่นใจคลายร้อนจะได้ไหม ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน การดื่มน้ำที่ถูกต้องควรจะเป็นน้ำเปล่า ซึ่งเป็นน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้อง เพราะน้ำในร่างกายของเราจะมีความอุ่นอยู่แล้ว
หากเราดื่มน้ำเย็นเข้าไป ร่างกายจะต้องใช้พลังงานหยางชี่หรือพลังงานความร้อนในร่างกาย ปรับอุณหภูมิของน้ำเย็นให้เหมาะกับอุณหภูมิร่างกายโดยเฉลี่ยคือ 37 องศาเซลเซียส เวลาที่เรารู้สึกร้อน เหงื่อออก ที่จริงแล้วอุณหภูมิของอวัยวะภายในร่างกายก็ยังคงเดิม ไม่ได้ร้อนเหมือนที่เรารู้สึกจากผิวหนังภายนอก
ดังนั้นหากเราดื่มน้ำเย็นเข้าไปบ่อย ๆ แล้ว นอกจากจะทำให้ร่างกาย ม้าม กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้นแล้ว ร่างกายยังสูญเสียพลังงานหยางชี่ไปโดยเสียมิได้ ส่งผลเสียต่อร่างกายโดยรวม ทำให้หยางชี่ของม้ามลดลง ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี
อาการที่บ่งบอกว่าหยางชี่ของม้ามอ่อนแอ สามารถสังเกตด้วยตนเองง่าย ๆ จากลิ้นจะมีฝ้าขาว ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย มีอาการท้องเสียหรือถ่ายเป็นน้ำบ่อยครั้ง หากปล่อยให้หยางชี่ของม้ามอ่อนแอเป็นระยะเวลานาน อาจพานทำให้หยางชี่ของไตอ่อนแอไปด้วย จนเกิดอาการขี้หนาว ปัสสาวะบ่อย ปวดเอว เมื่อยหลังร่วมด้วย
มีข้อแม้อยู่ว่าคนที่ร่างกายชื้น ฝ้าบนลิ้นขาวหนา ตัวบวมฉุ ไม่รู้สึกกระหายน้ำ แขนขาหนัก ๆ ไม่ค่อยอยากขยับ การที่จะดื่มน้ำให้ได้วันละ 8 แก้ว ก็เห็นว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้ร่างกายในการขับน้ำและความชื้นส่วนเกินจนทำงานหนักมากขึ้นไปอีก
ดังนั้นสำหรับคนในกลุ่มนี้อาจจะปรับการดื่มน้ำเป็นการค่อย ๆ จิบทีละนิดเพื่อให้ร่างกายค่อย ๆ ดูดซึม ไตจะได้ไม่ทำงานหนัก
จะเห็นได้ว่าแค่การดื่มน้ำให้ถูกต้องก็ทำให้สุขภาพดีได้ด้วยตัวคุณเอง เมื่อรู้เช่นนี้แล้วมาปรับพฤติกรรมการดื่มน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะให้เป็นนิสัยและเหมาะสมกับร่างกายเรากันนะคะ
เรื่อง แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์ เรียบเรียง ธปัน พวงเพชร ภาพ iStock
ชีวจิต 473 นิตยสารรายปักษ์ ปีที่ 20 16 มิถุนายน 2561
บทความน่าสนใจอื่นๆ
ดื่มน้ำ เพื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง
ดื่มน้ำอุ่น สิ่งง่ายๆ ดูแลสุขภาพรอบด้าน ประโยชน์เกินคาด