ความเครียด โรค

เครียด หนัก สุขภาพเสื่อมกว่าที่คิด

เครียด มาก ก็ป่วยมาก

เครียด เป็นอีกภาวะอารมณ์หนึ่งของคนเรา เรียกได้ว่าเป็นภาวะอารมณ์ด้านลบๆ ที่ไม่เพียงส่งผลต่อจิตใจ แต่ยังส่งผลต่องร่างกายให้เกิดความเจ็บป่วยได้มากกว่าที่คิดอีกนะคะ ทำให้เกิดได้ทั้งโรคทั่วๆ ไป เช่น ปวดท้อง ปวดหัว รวมไปถึงโรคเรื้อรัง เช่นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เลยทีเดียว คราวนี้เรามาทำความรู้จัก รวมถึงวิธีรับมือกับความเครียด กันดีกว่าค่ะ

ความเครียด คือ

ความเครียด หลายคนอาจจะนึกว่าเป็นเรื่องของจิตใจ โดยในพจนานุกรมกล่าวว่า เป็นภาวะที่อารมณ์และสมองไม่ได้ผ่อนคลาย คร่ำเคร่งอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นภาวะเครียด

แต่หากถามในมุมมองทางการแพทย์ จะบอกว่าเป็นเรื่องของการหดตัวของกล้ามเนื้ออาจจะเป็นส่วนใด ส่วนหนึ่ง หรือหลายๆ ส่วน โดยไม่ได้ผ่อนคลาย

สาเหตุของความเครียด

สาเหตุของความเครียด แบ่งออกเป็น 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ ความเครียดที่เกิดจากปัจจัยภายในของร่างกายเราเอง และความเครียดที่เกิดจากปัจจัยภายนอก ที่มากระทบทำให้เราเกิดความเครียดขึ้นได้

เครียด จากภายในร่างกาย

เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นจากร่างกาย และจิตใจของตัวเราเอง เช่นการมีโรคประจำตัว ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น โรคซึมเศร้า รวมถึงโรคทางจิตเวชต่างๆ นอกจากนั้นยังรวมถึงการที่มีเรื่องราวต่างๆ มากระทบจิตใจเป็นเวลานาน จนทำให้เกิดความเครียดไม่รู้ตัว

ความเครียด จากภายนอก

ความเครียดจากภายนอก แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

  • การทำงาน อาจเกิดขึ้นจากความกดดันในการทำงาน การแข่งขัน รวมถึงเพื่อร่วมงาน ก็อาจเป็นสาเหตุของการเกิดความเครียดได้
  • ความสัมพันธ์ ทุกรูปแบบของความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ความรัก ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน ก็เป็นต้นเหตุที่ที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นมาได้ และหากสะสมเป็นปัญหาเรื้อรัง ก็อาจนำไปสู่ความแตกแยกได้
  • ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสุขภาพเรื้อรังจากโรคต่างๆ อาจทำให้เกิดความเครียด ความกังวล จนเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้
  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วนที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิต หากรับมือได้ไม่ดี ก็อาจทำให้เกิดความเครียด ความกังวลได้ หรือบางครั้งการเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิด แต่เครียดนำไปก่อน ก็ทำให้เกิดความเครียดได้เหมือนกันนะคะ

โรคที่มาจากความเครียด

ในทุกๆ วัน ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอร์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นให้ร่างกายสดชื่นและแอคทีฟในทุกเช้า และฮอร์โมนนี้จะลดลงในช่วงเย็น ซึ่งเป็นที่มาของอาการหมดแรง อยากพักนั่นเอง แต่หากว่าเกิดความเครียดขึ้น ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอร์ออกมามากกว่าปกติ

ฮอร์โมนคอร์ติซอล ขึ้นชื่อว่าเป็นฮอร์โมนแห่งการทำลายล้าง เพราะเป็นฮอร์โมนที่ส่งให้หัวใจเต้นเร็ว กระตุ้นความดันโลหิตให้ขึ้นสูง ถ้าหากว่าร่างกายของหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาเรื่อยๆ ระบบต่างในร่างกายจะไม่ได้พัก จะทำให้เกิดอาการป่วยต่างๆ

รวมถึงทำให้ร่างกายเสื่อมก่อนวัย และแก่เร็ว

เรามาดูกันดีกว่าว่า ความเครียด ทำให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง

ความดันโลหิตสูง

จากผลการศึกษาพบว่า คนที่มีความเครียดสะสม มีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าเลยทีเดียว เนื่องจากตลอดเวลาที่เกิดความเครียดร่างกายก็จะทำให้มีความโลหิตที่พุ่งสูง

โรคหัวใจ และหลอดเลือด

ความเครียดส่งผลต่อเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตามมา นอกจากนั้นแล้วยังอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสหัวใจวาย นอกจากนั้นแล้วการที่มีความดันโลหิตสูงก็อาจทำให้หลอดเลือดหัวใจเสื่อมได้ด้วยเช่นกัน

เครียดลงกระเพาะ กรดไหลย้อน

ความเครียดส่งผลให้เส้นเลือดในบริเวณอวัยวะย่อยอาหารหดตัว รวมถึงร่างกายหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหารออกมามากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดโรคเครียดลงกระเพาะ รวมถึงอาการท้องอืด ลำไส้แปรปรวน และกรดไหลย้อน

เครียด ทำให้เป็นโรคหัวใจ

โรคนอนไม่หลับ

เมื่อเกิดความเครียด ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง จนส่งผลต่อการนอนหลับ ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย หงุดหงิด เจ็บป่วย

ไมเกรน

ความเครียดทำให้สารซีโรโทนินในสมองพร่องไป ทำให้หลอดเลือดในสมองพอง – หด มากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดการปวดไมเกรน

เสพติดความเครียด

แต่ถึงความเครียดจะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก แต่กลไกของร่างกายที่มีความพิเศษซับซ้อน ก็ยังมีบางคนที่เสพติดความเครียด เช่นชอบความท้าทายการแข่งขันกับเวลา รู้สึกดีที่ได้แก้ปัญหาต่างๆ หรือ รักความตื่นเต้น ชอบทำงานแข่งกับเดธไลน์ มีความสุขที่ร่างกายได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนคอร์ติซอล

อาการเหล่านี้ ในระยะแรกเราจะยังไม่รู้ตัว แต่กว่าจะรู้ตัวก็ต่อเมื่อมีอาการป่วย ติดเชื้อในกระแสเลือด โดยอาการเหล่านี้เรียกว่า ภาวะต่อมหมวกไตล้า

ก่อนจะมีอาการร้ายแรง มาดูสัญญาณของ ต่อมหมวกไตล้า ก่อนดีกว่า

เช็กลิสต์ต่อมหมวกไตล้า

หากมีอาการอย่างน้อย 5 ข้อดังต่อไป แปลว่า เริ่มมีภาวะต่อมหมวกไตล้า

  • ขี้เกียจตื่นนอน
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • ง่วงนอน แต่นอนไม่หลับ
  • เวียนหัว ตอนเปลี่ยนอิริยาบถ
  • อยากของหวาน และเค็ม
  • ฉี่บ่อย
  • ปวดประจำเดือน
  • ภูมิแพ้กำเริบ
  • ท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  • ท้องผูก
  • เครียด
  • คุมอาหาร ออกกำลังกาย แต่น้ำหนักไม่ลด
  • ผิวบอบบาง แพ้ง่าย และแห้ง

สำหรับอาการต่อมหมวกไตล้าหากจะตรวจให้ชัดเจน จะต้องมีการตรวจเลือด เพื่อตรวจค่าฮอร์โมนคอร์ติซอล และฮอร์โมน DHEA

ฮอร์โมน DHEA เป็นฮอร์โมนที่เรียกได้ว่าแทบจะตรงกันข้ามกับฮอร์โมนคอร์ติซอร์ โดย DHEA เป็นฮอร์โมนต้านความเครียด เสริมความแข็งแรงให้ร่างกาย ชะลอความเสื่อม และความแก่ของร่างกาย และที่สำคัญคือ ทำงานต่อต้านฮอร์โมนคอร์ติซอร์

สำหรับการรักษาภาวะต่อมหมวกไตล้า แน่นอนคือการผ่อนคลายความเครียด รวมไปถึงการออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะทำให้ภาวะนี้หายได้

วิธีคลายความเครียด

แก้ไขที่ต้นเหตุ

การคลายเครียดที่ดีที่สุด คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เมื่อแก้ปัญหาได้แล้ว ความเครียดก็จะถูกทิ้งไปจากสมอง ทำให้เราไม่กลับมาเครียด กังวลกับเรื่องเดิมๆ อีก

ปรับพฤติกรรม

พฤติกรรมการใช้ชีวิต มีส่วนอย่างมากสำหรับความเครียด ควรปรับการใช้ชีวิต จากที่เร่งรีบ เป็นผ่อนคลาย หากิจกรรมผ่อนคลายให้กับตัวเอง รวมไปถึงออกไปพักผ่อน และที่สำคัญคือ การออกำลังกาย จะช่วยปัญหาที่เกิดจากฮอร์โมนคอร์ติซอลได้

ปรับความคิด

ความคิดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นจึงควรฝึกการปล่อยวาง รู้จักการผ่อนปรน หนึ่งในตัวช่วยที่ช่วยได้มากๆ ก็คือ การนั่งสมาธินะคะ ที่จะทำให้เราโฟกัสกับปัจจุบันได้ง่ายขึ้น และปล่อยวางได้มากขึ้น

อยากรู้เรื่องความ เครียด ไปอ่านต่อ

ที่มา

  • ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  มหาวิทยาลัยมหิดล
  • Rama Channel
  • โรงพยาบาลเปาโล
  • โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • โรงพยาบาลนครธน

ติดตามชีวจิตได้ที่
Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.