จากพระราชดำรัสสู่แรงศรัทธา
ครูเรียม สิงห์ทร แม่พระบน ดอยอ่างขาง
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ดอยอ่างขาง ในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คือพื้นที่บนยอดเขาสูงเสียดฟ้า ดินแดนอันแสนห่างไกลที่ห้อมล้อมด้วยเมฆหมอก ผืนป่า และไร่ฝิ่น ไร้ซึ่งความสุขสบายทุกประการสำหรับการใช้ชีวิต
แต่สำหรับ ครูเรียม สิงห์ทร ครูโรงเรียนบ้านขอบด้งบนดอยอ่างขาง กลับยอมละทิ้งชีวิตในเมืองกรุงเพื่ออุทิศทุกลมหายใจให้กับการสอนหนังสือเด็กชาวไทยภูเขามานานกว่า 30 ปี ด้วยความรักและศรัทธาต่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ครั้งหนึ่งพระองค์ท่านเคยรับสั่งให้ครูช่วยดูแลเด็กชาวเขาเหล่านี้…
ชีวิต (ครู) บนดอยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
พื้นเพของครูเรียมนั้นเป็นคนแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อเติบใหญ่ก็ได้มีโอกาสเข้ามาเล่าเรียนที่กรุงเทพฯ จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยครูสวนสุนันทา และไม่นานนักจุดเปลี่ยนในชีวิตของผู้หญิงคนนี้ก็เกิดขึ้น
“มีอยู่วันหนึ่งครูมาเที่ยวดอยอ่างขาง บังเอิญไปเห็นโรงเรียนเล็ก ๆ อยู่ในโครงการหลวงเพื่อไว้สอนลูกคนงานก็เกิดความชอบและประทับใจ กลับมากรุงเทพฯปุ๊บก็เลยรีบเขียนจดหมายขอสมัครเป็นครูที่นี่”
ผ่านไปประมาณหนึ่งปี ครูเรียมก็ได้รับโทรเลขด่วนให้มารายงานตัวที่ดอยอ่างขาง และนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ เป็นเวลาสามสิบกว่าปีแล้วที่ครูดอยคนนี้ไม่ได้กลับมาใช้ชีวิตที่เมืองกรุงอีกเลย กระนั้นใช่ว่าชีวิตของเธอจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เมื่อช่วงแรกโรงเรียนบ้านขอบด้งที่เธอใฝ่ฝันกลับไม่มีนักเรียนมาเรียนแม้สักคนเดียว
“วันแรก ๆ มีโรงเรียน แต่ไม่มีนักเรียน เพราะชาวเขาเผ่ามูเซอดำไม่เข้าใจว่าการเรียนมีความสำคัญอย่างไร เด็ก ๆ ที่ควรจะมาเรียนก็ไปช่วยพ่อแม่ทำไร่กันหมด จนผ่านไปสองอาทิตย์ ด้วยสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งไฟไม่มี เข้าห้องน้ำก็ลำบาก มีแต่ดอกฝิ่นและอันตรายรอบตัว เลยรู้สึกท้อใจ คิดอยากจะกลับบ้าน”
ฟันฝ่าอุปสรรคด้วยหัวใจรักพ่อหลวง
เมื่อความทุกข์ท้อใจเข้าครอบงำ เวลานั้นครูเรียมจึงมองหาสิ่งยึดเหนี่ยว “งานนี้ตัดสินใจเลือกเอง ทำอย่างไรถึงจะอยู่ได้ และเรายังไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองเลย” เธอคิดพลางหันมองรอบ ๆ ห้องเรียน พลันสายตาก็เหลือบมองไปที่กระดานดำ และเหนือกระดานดำนั้นก็เจอรูปเก่า ๆ รูปหนึ่ง เป็นรูปที่ทำให้ครูเรียมยังอยู่ ณ โรงเรียนบ้านขอบด้งจนถึงทุกวันนี้…
“ครูเห็นรูปพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ในเครื่องแบบทหารอยู่ในกรอบเล็ก ๆ เมื่อนึกถึงพระองค์ท่าน ความท้อแท้ก็เปลี่ยนเป็นกำลังใจคิดว่าขนาดพระองค์ทรงอยู่ตั้งไกลยังเสด็จฯมาสร้างโครงการให้มีโรงเรียน ครูอยู่ตรงนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย เมื่อไม่มีอะไรยึด เลยยึดพระองค์ท่านเป็นพลังที่จะอยู่สู้ต่อ”
เมื่อเกิดแรงบันดาลใจให้เลิกล้มความตั้งใจที่จะกลับบ้าน ครูเรียมจึงพยายามทำทุกวิถีทางให้เด็กหันมาเรียนหนังสือ รวมทั้งอธิบายให้ผู้ปกครองของเด็กเข้าใจและเห็นความสำคัญของการศึกษา
“เมื่อไม่มีนักเรียนมา เราก็เข้าไปหานักเรียนครูเก็บดินสอสี อุปกรณ์การเรียนการสอนใส่กระเป๋าย่าม เอาขนมใส่กระเป๋าเดินเข้าไปในหมู่บ้าน ไปถึงก็เอาอุปกรณ์การเรียนการสอนออกมา บอกกับเด็กว่า เธออยากทำอะไรก็ทำที่นี่เป็นห้องเรียนธรรมชาติ ครูเข้าไปที่บ้านของเด็ก นอนอยู่กับเด็ก คุยกับผู้ปกครอง บอกว่าการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ เธออยู่ชายขอบ เธอเป็นคนไทย ต้องเรียนรู้ภาษาไทยครูจะทำให้เธอรู้จักสถานที่ต่าง ๆ”
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริงของครูเรียม ไม่นานนักโรงเรียนบนดอยที่เคยไร้นักเรียน จึงกลายเป็นโรงเรียนบ้านขอบด้งของเหล่านักเรียนชาวเขามูเซอดำที่เปิดสอนอย่างเต็มระบบ มีการสอนอาชีพโดยส่งเสริมโครงการหลวง ปลูกผักให้เด็กกินเป็นอาหารกลางวัน รวมถึงปลูกดอกคาร์เนชั่นเพื่อขายเป็นรายได้ให้แก่เด็ก ๆ
พระราชดำรัสยังคงดังก้องในจิตใจ
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎร ณ บ้านขอบด้ง ครูเรียมมีโอกาสได้เฝ้าฯรับเสด็จในครั้งนั้นด้วย และระหว่างที่ทอดพระเนตรแปลงต้นคาร์เนชั่น ครูเรียมก็ได้ยินพระองค์ตรัสว่า
“ฉันฝากเด็กชาวเขาเหล่านี้ด้วย ตัวฉันอยู่ไกล ครูดูแลด้วยนะ” พร้อมกับพระราชทานเงิน 3,000 บาทเป็นค่าโรงเรือน
จากวันนั้นแม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแล้ว แต่พระราชดำรัสยังคงดังก้องในหัวใจของเธอเสมอ
“การมีพระองค์ท่านประทับอยู่ตรงหน้าเป็นอะไรที่ไม่คาดคิด ความภาคภูมิใจความประทับใจยังคงติดอยู่ในความรู้สึกเสมอมา
“ครูถือว่าการเป็นครูสอนหนังสือเหมือนกับเราได้สร้างคน สร้างชีวิตมนุษย์ ครูมีพระองค์ท่านเป็นแบบอย่างทั้งเรื่องการให้ ความมีเมตตา ความเสียสละ และการให้อภัย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งสำคัญในการทำงานที่ครูยึดถือมาตลอด ทำให้ครูมีความอดทนในการปฏิบัติหน้าที่และทำให้ประสบความสำเร็จจนถึงทุกวันนี้”
ครูเรียมเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นเครือต่อว่า เธอตั้งปณิธานไว้กับตัวเองว่าจะอยู่บนดอยจนเกษียณ จะทำงานบนพื้นที่นี้ไปตลอดชีวิต อยู่เพื่อบอกกล่าวกับคนทั่วไปให้รู้ว่าพระองค์ท่านทรงทำอะไรให้ที่นี่บ้าง และขณะนี้เธอกำลังทำพิพิธภัณฑ์เรื่องราวชุมชนบ้านขอบด้งกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของไทย ผู้ทรงอยู่ในหัวใจคนบ้านขอบด้งเสมอมา
จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง นิตยสารชีวจิต ฉบับ 443 (16 มีนาคม 2560)
บทความน่าสนใจอื่นๆ
VOLUNTEERS FOR DAD ทำดีเพื่อพ่อ เพื่อประชาชน