เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด ศัตรูแห่งเรียวขาของคุณผู้หญิง

มารู้จัก เส้นเลือดขอด และวิธีการป้องกัน

อาการ เส้นเลือดขอด หรือ Varicose vein เกิดจากความผิดปกติของลิ้นและผนังหลอดเลือดดำ ทั้งนี้ปกติเวลาที่เรายืน แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงดูดเลือดในเส้นเลือดให้ลงไปสู่สนามแม่เหล็กโลก ทำให้เลือดที่ขามีแรงดันในผนังเส้นเลือดมากกว่าเลือดที่อยู่ส่วนบนของร่างกาย หากมีการอุดตันของลิ้นในหลอดเลือดดำ หรือมีการอักเสบที่ผนังหลอดเลือดดำร่วมด้วยก็จะยิ่งทำให้เลือดคั่งอยู่ในหลอดเลือดส่วนปลาย จึงทำให้ผนังหลอดเลือดดำที่ชั้นใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัวแบบผิดปกติ กลายเป็นเส้นเลือดขอดตามมา

อาการของเส้นเลือดขอด

โดยปกติคนที่เป็นเส้นเลือดขอดจะมีอาการทางกายที่สังเกตเห็นได้ด้วยตัวเองคือ มีเส้นเลือดโป่งพองสีเขียวคล้ำ คดไปมาเกิดขึ้นตามจุดต่างๆของร่างกาย ตั้งแต่บริเวณตาตุ่ม น่อง ขาพับ ต้นขา โคนขา สะโพก หน้าท้อง และตามส่วนอื่นๆ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและตึงบริเวณที่เป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการมีประจำเดือนอาการเหล่านี้จะยิ่งแสดงออกมากขึ้น

ในรายที่เป็นหนัก หากยืนหรือนั่งในอิริยาบถเดิมๆเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จะยิ่งมีอาการปวดขาและบวมที่เท้า เนื่องจากปริมาณของเลือดและน้ำเหลืองไปคั่งบริเวณขาและเท้ามากกว่าคนปกติ ทำให้มีน้ำเหลืองซึมออกมานอกเส้นเลือด เกิดอาการเกร็งแบบผิดปกติของกล้ามเนื้อจนทำให้เป็นตะคริวในตอนกลางคืน และรู้สึกคันที่ผิวหนังบริเวณนั้น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษาอย่างถูกวิธีจากแพทย์ อาจทำให้เกิดการอักเสบจนเส้นเลือดในบริเวณนั้นแตก และเป็นอันตรายได้

เส้นเลือดขอด

 

ใครคือกลุ่มเสี่ยง

อาการเส้นเลือดขอดมักพบในผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 40 -50 ปี ผู้สูงอายุ คนอ้วน และหญิงมีครรภ์ ทั้งยังพบอีกว่า หากคนในครอบครัวเคยมีประวัติเป็นเส้นเลือดขอดมาก่อนก็มีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคดังกล่าวในอนาคตมากกว่าคนทั่วไป

ทั้งนี้ผู้ที่มีอายุน้อย ก็มีอัตราเสี่ยงต่ออาการเส้นเลือดขอดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งนานๆ เช่น พนักงานต้อนรับ บริกรร้านอาหาร ทันตแพทย์ พนักงานในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพนักงานบริษัทที่ต้องนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ เป็นต้น

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

การรักษาอาการเส้นเลือดขอด

ในปัจจุบัน แพทย์มีวิธีในการรักษาอาการเส้นเลือดขอดอยู่สองแนวทางคือ การรักษาแบบประคับประคอง โดยจะเน้นหนักไปในทางการป้องกันและรักษาตามอาการ เช่น หากบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดมีอาการปวดก็ให้ใช้การบีบนวด การเปลี่ยนอิริยาบถ หรือการใส่ถุงน่องชนิดพิเศษเพื่อรัดประคองเส้นเลือดดำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อช่วยลดอาการบวมของขา เป็นต้น

การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะใช้เมื่อมีอาการหนักหรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆที่เป็นอันตราย เช่น เท้าบวมมาก มีแผลเรื้อรัง ผิวหนังบริเวณนั้นอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้ยังพบว่า ถึงแม้ว่าจะรักษาโดยการผ่าตัดแล้วก็ตาม หากยังต้องยืนหรือนั่งด้วยอิริยาบถเดิมๆเป็นเวลานานๆ ผู้ป่วยก็มีโอกาสกลับมาเป็นเส้นเลือดขอดได้อีก

เส้นเลือดขอด

ทำอย่างไรเมื่อเป็นเส้นเลือดขอด

คำแนะนำเบื้องต้น สำหรับผู้เป็นเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มแรก

  • ไม่ควรยืนหรือนั่งเฉยๆ เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้แรงดันในเส้นเลือดดำสูงขึ้นจนเกิดอาการเจ็บที่บริเวณเส้นเลือดขอดได้ ควรปรับเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆเพื่อให้ร่างกายได้มีโอกาสส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้อย่างเต็มที่
  • หาเวลาออกกำลังกายตามสภาพอายุ เช่น เต้นแอโรบิค เล่นโยคะ การเดิน เป็นต้น เพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กล้ามเนื้อ ช่วยให้ลิ้นของเส้นเลือดดำมีการเปิดปิดได้สะดวก และระบบเลือดในร่างกายมีการหมุนเวียนที่ดีขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการสวมสเตย์หรือเสื้อผ้าที่รัดติ้ว เพราะจะยิ่งทำให้ระบบการไหลเวียนของเลือด และลิ้นของเส้นเลือดดำทำงานลำบากขึ้น
  • พยายามนอนยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ โดยใช้หมอนหนุนบริเวณปลายเท้า หรือใต้หัวเข่า ซึ่งจะช่วยให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้นและลดอาการปวด และทำให้ลักษณะของเส้นเลือดขอดมีขนาดเล็กลง เป็นต้น

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.