4 วิธีหยุดอาการ แพ้ผื่นคัน จากภาวะความชื้นสะสม
อาการ แพ้ผื่นคัน ปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วย 10 คนจะมีภาวะความชื้นสะสมอยู่ถึง 9 คน ถือเป็นจำนวนที่สูงมากทีเดียว ซึ่งถ้าความชื้นสะสมเกิดขึ้นแล้ว การกำจัดออกจะแสนยาก ดังคำกล่าวในคัมภีร์การแพทย์แผนจีนว่า
“ความเย็นที่สะสมอยู่ปริมาณเป็นพันยังขับออกง่ายกว่าความชื้นที่สะสมอยู่เพียงแค่หนึ่ง” โดยความชื้นที่มีลักษณะเหนียวข้นก็ไม่ต่างไปจากน้ำมันที่สะสมอยู่ภายในร่างกาย ทั้งยังก่อผลเสียต่อสุขภาพอย่างมหันต์

เช็กอาการจากความชื้นสะสม
หากมีภาวะความชื้นสะสมในร่างกายมักก่ออาการผิดปกติ เช่น
- รู้สึกว่าหนักตัว หนักหัว ไม่อยากขยับตัวหรือเคลื่อนไหวตัว
- มีเสมหะ น้ำลายเหนียว ปัสสาวะขุ่น ถ่ายเหลวเหนียวไม่เป็นก้อน
- มีฝ้าบนลิ้นหนาเหนียว ถ้าร่างกายเย็น ฝ้าบนลิ้นจะเป็นสีขาวหรือดำ ถ้าร่างกายร้อน ฝ้าบนลิ้นจะเป็นสีเหลือง
- หากความชื้นสะสมอยู่ในร่างกายนานๆ อาจเกิดผดผื่นคัน มีอาการแพ้ง่าย มีกลิ่นเท้า
- มีผื่น แผลติดเชื้อ เป็นหนองในร่มผ้าหรืออวัยวะเพศ และตกขาวในผู้หญิง
- ปวดเมื่อยตามข้อ โดยเฉพาะเมื่อฝนตก อาการจะหนักขึ้นในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ พลังลมปราณและเลือดน้อย บางรายมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย ถึงขั้นแค่ได้กลิ่นอาหารที่มันๆ คาวๆ ก็รู้สึกคลื่นไส้อาเจียน
4 เทคนิคขับความชื้นด้วยตนเอง
มีเทคนิคขับความชื้นด้วยตนเองมาแนะนำดังนี้
1. งีบช่วงพักกลางวัน คลายความอ่อนล้า
การงีบในช่วงพักกลางวันหรือพักเบรกจะช่วยผ่อนคลายความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า ที่พร้อมจะจู่โจมพลังลมปราณและเลือดของเราได้ทุกเมื่อ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความชื้นสะสมอยู่ภายในร่างกายและร่างกายไม่มีแรงที่จะขับออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่ใช้ชีวิตกลางคืน กินอาหารมื้อดึก ทำงานรอบดึก ทำให้พักผ่อนนอนหลับไม่เพียงพอ การงีบหลับในตอนกลางวันจึงเป็นสิ่งสำคัญ

2. กัวซาแผ่นหลังเพื่อขับความชื้นระบายความร้อน
แผ่นหลังช่วงบน 1/3 เป็นบริเวณที่ถูกลมกระทบได้ง่ายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นหวัดและปวดเมื่อย ดังนั้นการกัวซาบริเวณเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างถัดจากกระดูกสันหลังแนวกลางลำตัวออกมา 1.5 และ 3 ชุ่น (นิ้ว) โดยทาน้ำมันหรือยาหม่องก่อนแล้วขูดจากต้นคอลงมาถึงบั้นเอวส่วนล่าง เส้นละ 5 – 8 ครั้ง นับเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยขับความชื้นระบายความร้อนได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง
3. กินอาหารบำรุงม้ามและขับปัสสาวะ
ควรกินอาหารที่มีสรรพคุณในการบำรุงม้ามและขับปัสสาวะ เช่น
- ลูกเดือย เป็นอาหารย่อยง่าย ลดภาระของกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ ช่วยบำรุงม้าม ขับความชื้น เสริมการทำงานของไต สามารถหุงกินแทนข้าวได้เลย
- ถั่วแปบ ช่วยบำรุงร่างกาย แก้อ่อนเพลีย ลดไข้ แก้อาการแพ้ นำมาต้ม ผัด ทำแกงส้มก็อร่อย
- ผักโขมจีน ชาวจีนนิยมกินผักโขมในฤดูร้อนเพื่อช่วยลดความร้อนและขับความชื้นในร่างกาย ใช้รากรักษาอาการหวัดและขับปัสสาวะ จะนำมาผัด ต้มกิน หรือใส่ในสุกี้ก็ได้
4. ลดการกินเกลือเพื่อบำรุงไต ขับสารน้ำ
การขับสารน้ำอาจทำได้โดยลดการกินเค็ม ลดปริมาณเกลือน้ำปลา ซอสปรุงรส ในการปรุงอาหาร เพื่อลดภาระของไตในการขับสารน้ำ ซึ่งถ้าหากไตอ่อนแอ ทำงานไม่ปกติ ปริมาณโซเดียมในเลือดจะมากเกินไป ทำให้เกิดภาวะบวมน้ำตามมา
ลองเช็กอาการและปรับเปลี่ยนวิธีดูแลสุขภาพของตัวเองกันนะคะ
จาก คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 443
บทความน่าสนใจอื่นๆ
รู้จักกันไหม ผื่นคัน ผื่นแพ้ จากความชื้นสะสม อันตรายหรือไม่อย่างไร มาดูกัน
วิธีเช็ค โรคผื่นผิวหนังอักเสบ เสี่ยงมะเร็ง