โอ วรุฒ วรธรรม บทเรียนจากความสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิด
โอ วรุฒ อดีตพระเอกหนุ่มนัยน์ตาหวานฉ่ำ เจ้าของบทบาทนายทหารญี่ปุ่น โกโบริ จากภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง “คู่กรรม” วันนี้ได้จากไปอย่างไม่มีวันกลับ ท่ามกลางความอาลัยรักอย่างสุดซึ้งจากแฟนคลับทั่วประเทศ
ชีวจิต ขอร่วมแสดงความเสียใจกับครอบครัวของคุณโอ วรุฒ วรธรรม มา ณ โอกาสนี้ และขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อจากนี้ ในการให้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังให้ทราบและเข้าใจถึงพิษภัยของสุรา ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณโอ วรุฒ เคยผ่านพ้นมาก่อน
บทเรียนจากสุรา ตัวการร้ายนำพาปัญหามาสู่ชีวจิต
พวกเราทุกคนถูกสอนมาตั้งแต่เด็กๆ ว่า สุรา นั้นเป็นของไม่ดี นอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว ยังเป็นเหตุของปัญหาต่างๆ เช่น อุบัติเหตุ การขาดสติ ซึ่งทำให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากมาย อีกทั้งศีลข้อ 5 ก็ห้ามไว้
แต่ก็น่าแปลกที่ สุรา นั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาเป็นพันๆ ปี ทุกชาติทุกภาษาจะมีสูตรสุราของตัวเอง จนสามารถส่งขายให้เพื่อนร่วมโลกได้เมา กอบโกยรายได้เข้าประเทศตนมหาศาล แม้แต่รัฐบาลของเราก็ยังเป็นโต้โผใหญ่ที่ไม่ห้ามในการผลิต เพราะได้ค่าต๋งจำนวนมหาศาล แม้อีกด้านจะรณรงค์ให้ลดการดื่มสุราก็ตาม บางครั้งก็สับสน ไม่รู้จะบอกกับเด็กอย่างไรเหมือนกัน
การที่สุราอยู่คู่กับมนุษย์มานานขนาดนี้ แสดงว่าสุราจะต้องมีอะไรที่เป็นคุณประโยชน์ของมันอยู่ ผมเองได้เคยดูแลผู้ที่ติดสุราหลายคน พบว่ามีลักษณะบางอย่างของพวกเขาเหล่านั้นที่น่าสนใจ คือ
- ผู้ที่ติดสุราจะมีความสัมพันธ์กับสุราเสมือนหนึ่งเป็นสหาย เหมือนยาคลายทุกข์ เพื่อจะช่วยให้สนุก คลายเหงาเหมือนไม้เท้าที่ช่วยประกอบให้ชีวิตยังคงไปต่อได้ ช่วยปลดปล่อยสิ่งที่อยู่ในใจ
- ผู้ที่ติดสุราปกติจะสุภาพถึงสุภาพมาก พูดน้อย พูดเสียงเบา น่ารัก ถ้าขยันจะขยันมาก แต่ถ้าขี้เกียจก็จะขี้เกียจมากเช่นกัน ไม่เคยโกรธใคร ไม่แสดงอารมณ์ของตัวเอง ลึกๆแล้วรู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ติดสุรา แต่ถ้าดื่มจนได้ที่จะเปลี่ยนเป็นคนละคน จะเอะอะโวยวาย แสดงออกเต็มที่แบบสุดๆ เหมือนปลดปล่อยตัวเอง คล้ายๆ จอมยุทธ์ที่แสดงฝีมือตัวเองได้เมื่อดื่มสุรา แต่กรณีนี้จะแสดงกับคนใกล้ตัว เช่น บุตร ภรรยา เมื่อสร่างเมาจะรู้สึกแย่ รู้สึกผิด กลับมาเป็นคนสุภาพอีกครั้ง
- ผู้ที่ติดสุรามักจะมีภรรยาเป็นคนเก่งถึงเก่งมาก บางคนสามารถดูแลลูกๆและสร้างฐานะในขณะเดียวกัน (เรียกว่า แย่งซีนของสามีไปหมด ไม่เหลือให้สามีได้เก่งบ้าง) แต่ก็เหนื่อยและดุด่าว่าสามีที่ไม่รับผิดชอบ โกรธ ผิดหวังกับสามี อยากให้มาช่วยกัน แต่ก็ไม่เปิดโอกาส หรือสามีก็ทำไม่ได้อย่างใจ แต่เมื่อสามีดื่มสุราจะโกรธมาก แต่ก็โอนอ่อนผ่อนตาม อาจจะเซ็งท่าทีของสามีเวลาเมา
- ครอบครัวมีความทุกข์ แต่ไม่ใช่ทุกข์ที่เกิดจากสุราโดยตรง แต่เป็นทุกข์ที่เกิดจากความเกลียดสุรา ถ้าไม่คุยกันหรือทะเลาะกันเรื่องสุรา ก็ไม่รู้จะคุยกันเรื่องอะไร คุยเรื่องอื่นไม่ค่อยเป็น
ชีวิตของคนที่ติดสุราและคนรอบข้างที่เกี่ยวข้องก็จะวนเวียนเป็นวัฏจักรแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จะหาทางออกอย่างไร การหาความช่วยเหลือ หรือการพบแพทย์ก็เป็นไปเพื่อให้ ผู้ป่วยหยุดดื่มสุราแพทย์เองบางครั้งก็เผลอเข้ามาอยู่ในวัฏจักรนี้เช่นกัน โดยมักจะพูดคุยกับผู้ป่วยในเรื่องของสุรา แนะนำให้ความรู้เรื่องสุรา ซึ่งผู้ป่วยอาจจะรู้มากกว่าแพทย์ด้วยซ้ำ เพราะฟังมาหลายเที่ยวจากแพทย์หลายคน นานๆ เข้าแพทย์ก็จะเริ่มหงุดหงิด รู้สึกล้มเหลว และอดแสดงทัศนคติในทางลบกับผู้ที่ติดสุราไม่ได้ทำให้หมดแรงจูงใจในการแก้ไขทั้งแพทย์และผู้ป่วย
ปัจจุบันก็ยังไม่มียาวิเศษอะไรที่จะช่วยให้คนที่ติดสุราสามารถเลิกสุราได้จริงๆ เพราะเหตุที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า สุราเปรียบเหมือนเพื่อน เหมือนไม้เท้าตราบใดที่เขายังไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนหน้าที่เหล่านี้ การให้เลิกสุราก็เหมือนเป็นการแย่งไม้เท้าจากคนที่ขาไม่แข็งแรง เหมือนเป็นการผลักให้เขาล้ม ซึ่งคนเราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้รู้สึกอยู่รอดปลอดภัย ในกรณีนี้ก็โดยการกลับไปดื่มสุราอีก
การที่จะช่วยให้ผู้ติดสุราสามารถพึ่งพาสุราน้อยลงมีอยู่หลายขั้นตอน ดังนี้
เริ่มต้นสร้างสัมพันธภาพกันใหม่ทั้งกับแพทย์และครอบครัว โดยสิ่งที่สำคัญคือการไม่ตั้งความคาดหวังที่สูงเกินไปในการบำบัดว่าจะต้องเลิกสุราได้เด็ดขาด เมื่อไม่คาดหวังก็ไม่ผิดหวังแต่ละคนยังคงรู้สึกดีกับตัวเอง แม้ว่าการบำบัดจะคืบหน้าบ้าง ถดถอยบ้าง
ทุกฝ่ายเริ่มสำรวจหาบทบาทหน้าที่ของสุรา ว่ากำลังทำหน้าที่อะไรกับผู้ที่ติดสุราอยู่ มีความทุกข์ ความกดดันอะไรที่ต้องการการกลบเกลื่อนจากสุรา ระยะนี้อาจจะใช้เวลานาน เพราะผู้รับการบำบัดมักจะไม่ค่อยรู้จักอารมณ์ และความต้องการของตัวเอง
เมื่อหาหน้าที่ของสุราได้ ก็ให้หาสิ่งทดแทน เช่น ถ้านอนไม่หลับอาจจะใช้ยาช่วยซึ่งปลอดภัยกว่า ถ้าสุราเป็นเพื่อนก็ให้มองหาสิ่งที่จะช่วยคลายเหงาอื่นๆ สิ่งที่ทดแทนจะทำได้ยากขึ้นถ้าเป็นความต้องการในใจ เช่น ต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความสำคัญ เป็นที่รักของครอบครัว ต้องการประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับ อาจจะต้องการการบำบัดที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ให้ครอบครัวมีส่วนร่วม โดยเฉพาะภรรยา ให้ลดความคาดหวังลง ดุด่าน้อยลง เพราะสามีเองก็ยังต้องการความรักและการยอมรับจากครอบครัวให้คุยและชื่นชมในเรื่องอื่นๆ งดการพูดเรื่องสุราสัก 1 เดือน (บางคนจะแปลกใจมาก เพราะถ้าไม่คุยเรื่องสุราก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร) ให้ครอบครัวช่วยกันทำให้บรรยากาศโดยรวมมีความสุข
ด้วยวิธีนี้เชื่อว่า ถ้าคนเรารู้สึกดีกับตัวเอง ก็จะรับเอาสิ่งไม่ดีเข้ามาในชีวิตน้อยลง และแม้ว่าบางคนจะยังคงใช้สุราบ้าง แต่ความถี่มักจะน้อยลง และมักจะเกี่ยวข้องกับสารที่เผลอไปตั้งความหวังในเรื่องสุราอีก
จะว่าไปแล้วการใช้สุราเป็นเหมือนดอกผลของปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความกดดันทางสังคม ครอบครัว บุคลิกบางอย่าง สภาพแวดล้อม ฯลฯ โดยการใช้สุราเป็นวิธีหนึ่งในการทำให้บางคนยังคงมีชีวิตรอดในสถานที่ไม่น่าอภิรมย์เช่นนี้ บางคนมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับคนที่ติดสุรา บางคนไม่อยากดูแลรักษา
แต่ลองคิดดูนะครับ โรคเบาหวาน ความดัน แม้กระทั่งโรคมะเร็ง เป็นต้น โรคเหล่านี้ก็รักษาไม่หายขาด ต้องการการดูแลไปตลอด แต่การติดสุราถ้าเริ่มให้การดูแลจริงๆ แม้จะไม่สามารถหยุดได้โดยสิ้นเชิง แต่แทนที่จะเมาปีละ 365 วัน ก็ยังพอมีสักหลายๆ ช่วงที่พอเป็นผู้เป็นคน จัดการกับชีวิตตัวเองได้บ้าง อย่างนี้ก็คุ้มกับการดูแลรักษาแล้ว
โดย นพ.อนันต์ ธนาประเสริฐกรณ์ จาก คอลัมน์ดีท็อกซ์หัวใจ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 161