ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

“ตับ” ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

ภาวะตับอักเสบจากการใช้ยา

แม้ว่ายาจะมีคุณประโยชน์ที่ช่วยบรรเทาอาการป่วยของเราได้ แต่การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ใช้ยาเกินความจำเป็น หรือใช้ยาพร่ำเพรื่อนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตับอักเสบได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน ยาสมุนไพร หรือวิตามิน เพราะยาทุกชนิดถือเป็นสารเคมีทั้งสิ้น และต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ดูดซึมและสลายที่ตับทั้งหมด

พ.ศ.2560 กระทรวงสาธารณสุขเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีการใช้ยามูลค่าสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นการใช้ยาเกินความจำเป็นถึง 2,370 ล้านบาท ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อดื้อยาถึง 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยามากถึง 38,000 คน นับเป็นอัตราที่สูงมาก

ด้วยอัตราที่สูงเช่นนี้แสดงให้เห็นว่า ภาวะตับอักเสบจากการใช้ยาเป็นต้นเหตุของโรคตับที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เพียงเท่านั้น ภาวะตับอักเสบจากการใช้ยาอาจลุกลามไปสู่มะเร็งตับได้

หลายคนอาจสงสัยว่า ยาจะเข้าไปทำร้ายตับได้อย่างไร จริงๆ แล้วยาสามารถทำร้ายตับได้ 2 ลักษณะ ดังนี้

ยาชนิดนั้นมีพิษกับตับโดยตรง

กรณีนี้หากรับประทานมากก็จะได้รับพิษมาก หลายคนอาจคิดว่ายาเหล่านี้เป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วหนึ่งในยาที่เป็นพิษต่อตับคือยาสามัญประจำบ้านที่เรารู้จักกันดี นั่นคือ “พาราเซตามอล”

ตามปกติแล้วตับจะทำหน้าที่สลายฤทธิ์ของยาพาราเซตามอล โดยขั้นตอนการสลายนี้เองจะเกิดสารที่เป็นพิษต่อตับประมาณร้อยละ 5 ของตัวยา โดยสารชนิดนี้เป็นอนุมูลอิสระ (Oxidant) ที่ร้ายแรงมาก ทำให้ตับอักเสบได้ ขณะเดียวกันถ้าตับของเราแข็งแรงเป็นปกติก็จะส่งสารต้านอนุมูลอิสระมาทำลายสารชนิดนี้ได้ทันท่วงที แต่ถ้าตับป่วยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จากเดิมที่สารพิษมีอยู่เพียงร้อยละ 5 ก็จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ขณะเดียวกันสารต้านอนุมูลอิสระก็มีไม่มากพอ จึงเท่ากับว่าเพิ่มความเสี่ยงการเป็นตับอักเสบถึง 2 ทาง

นอกจากยาพาราเซตามอลแล้ว แม้แต่สมุนไพรพื้นบ้านบางอย่าง เช่น ใบขี้เหล็กดิบ ลูกใต้ใบ ชุมเห็ดเทศ บอระเพ็ด รวมทั้งไคร้เครือ (ค้นพบล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2560) ก็พบว่ามีฤทธิ์ทำลายเซลล์ตับทำให้เกิดการอักเสบของตับได้เช่นกัน

ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

ทำไมไม่ให้รับประทานพาราเซตามอลนานๆ

สาเหตุที่แพทย์แนะนำให้รับประทานยาพาราเซตามอลไม่เกินครั้งละ 500-600 มิลลิกรัม และขนาดยาสูงสุดต่อวันคือไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม และไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 5 วัน เป็นเพราะ 2 สาเหตุดังนี้

การที่เรารับประทานยาพาราเซตามอลติดต่อกันนานเกิน 3-5 วันแล้วไข้ไม่ลด อาการปวดไม่หายนั่นแปลว่าโรคที่เป็นต้นเหตุของการป่วยจริงๆ ยังไม่ได้รับการรักษา ถ้าเรารอช้าไปอาจจะสายเกินไป จึงควรหยุดรับประทานยาแล้วมาพบแพทย์

ยาพาราเซตามอลนอกจากจะมีผลต่อตับแล้ว ยังมีผลต่ออวัยวะสำคัญอื่นๆ อีกด้วย เช่น กระพาะอาหารที่เดิมมักเชื่อกันว่า ยาพาราเซตามอลไม่กัดกระเพาะ แต่จริงๆ แล้วกลับกัดกระเพาะได้ นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อไตด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำยังมีความเสี่ยงต่อยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยคนธรรมดาอาจจะต้องรับประทานยาประมาณ 8-10 เม็ดต่อวันจึงจะเกิดพิษต่อตับ แต่สำหรับผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำอาจรับประทานยาพาราเซตามอลเพียง 5 เม็ดก็เกิดพิษได้แล้ว เนื่องจากแอลกอฮอล์จะเข้าไปเพิ่มกระบวนการสลายแอลกอฮอล์ในทางที่ทำให้เกิดสารพิษมากขึ้น ขณะเดียวกันแอลกอฮอล์ก็จะทำให้สารแอนติออกซิแดนต์ลดลงไปด้วย

เมื่อมาทางผิดและไม่มีทางแก้ก็ยิ่งทำให้ตับถูกทำลายมากขึ้น

ผลข้างเคียงจากการแพ้ยา

กรณีนี้จะส่งผลกระทบต่อตับอย่างมาก เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดอาการแพ้ยาขึ้นเมื่อใด หลายคนอาจบอกว่าตนเองไม่เคยมีประวัติการแพ้ยา แต่รู้ไหมว่าเรามีโอกาสแพ้ยาได้ทุกเมื่อ แม้ว่ายาชนิดนั้นเราจะรับประทานมานานแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากยาเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก เมื่อรับประทานเข้าแล้วบังเอิญโมเลกุลของยาเข้าไปจับกับโปรตีนบางชนิดในร่างกาย เกิดเป็นสารชนิดใหม่ขึ้น (โดยปกติเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมปรากฏในร่างกาย ภูมิต้านทานจะเข้าไปกำจัดโดยอัตโนมัติ) ฉะนั้นเมื่อร่างกายตรวจจับได้ว่ามีสารชนิดใหม่เกิดขึ้นในเซลล์ตับ ก็จะส่งภูมิต้านทานไปกำจัดทันที โดยกระบวนการกำจัดนี้เองที่จะทำลายเซลล์ตับไปด้วย สมรภูมิหลังการรบมีสภาพอย่างไร เซลล์ตับก็มีสภาพไม่ต่างกัน

นอกจากยาแล้ว สารเคมีชนิดอื่นๆ เช่น สารเคมีจำพวกปิโตรเคมีควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ควันบุหรี่ หรือสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง หรือการสูดดม ก็อาจเป็นพิษต่อตับได้เช่นกัน รวมทั้งยังมีสารเคมีที่แฝงมาในรูปแบบของอาหารเสริมที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย พวกนี้ถือว่าอันตรายต่อตับ

เมื่อทราบว่ายาเข้าไปทำร้ายตับได้ ผู้ป่วยบางคนที่มีโรคประจำตัวไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดัน เบาหวาน ฯลฯ อาจกังวลว่า การรับประทานยาจะทำให้เกิดโรคตับอักเสบแทรกซ้อนขึ้นมา จึงคิดหยุดรับประทานยาด้วยตัวเอง แต่รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วการหยุดยาด้วยตัวเองนั้นมีอันตรายมากกว่าโรคตับอักเสบเสียอีก เพราะกว่าที่ตับจะเกิดอาการอักเสบได้นั้นใช้เวลานานพอสมควร แต่หากโรคหัวใจกำเริบ หรือค่าน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น โอกาสในการเสียชีวิตจะมีสูงกว่าหลายเท่านัก

ฉะนั้นไม่ต้องกังวลหากรับประทานยาตามแพทย์สั่ง เพราะแพทย์ทุกคนจะจ่ายยาให้ผู้ป่วยได้ก็ต่อเมื่อประเมินแล้วว่าการรับประทานยานี้จะมีคุณมากกว่าโทษ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร่ำเพรื่อ หรือรับประทานสมุนไพรตามคำบอกเล่า เขาว่าดีก็กินตามที่เขาบอก เพราะคิดว่าสิ่งที่มาจากธรรมชาติไม่เป็นอันตราย หรือรับประทานวิตามินเพราะอยากบำรุงร่างกาย ยาสมุนไพรหรือวิตามิน จะมีประโยชน์ต่อร่างกายก็ต่อเมื่อรับประทานอย่างถูกต้องเหมาะสมตามอาการของโรคเท่านั้น

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.