แบคทีเรียกินเนื้อ โรคเนื้อเน่า

แบคทีเรียกินเนื้อ โรคเนื้อเน่าที่ต้องระวัง

แบคทีเรียกินเนื้อ โรคเนื้อเน่า

เเบคทีเรียกินเนื้อ เป็นกระเเสขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีกระแสของโรคแบคทีเรียกินเนื้อ (flesh-eating disease) หรือที่เรียกว่าโรคเนื้อเน่า หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า necrotizing fasciitis ในผู้ป่วยทางภาคเหนือของประเทศไทย 

ข้อมูลจาก ศ.พญ. จรัสศรี ฬียาพรรณ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ดังต่อไปนี้

ทำความรู้จัก แบคทีเรียกินเนื้อ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อนั้น เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังชั้นลึก ตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า ชั้นหนังแท้ ชั้นไขมัน ไปจนถึงชั้นเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ (fascia) เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก มักพบในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ และป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือโรคตับแข็งมาก่อน  การติดเชื้อมักพบหลังประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลหรือเกิดจากการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่มีเชื้อแบคทีเรีย เช่น มูลสัตว์  ขี้ดิน ขี้โคลน โดยจะมีอาการเริ่มจาก มีไข้ ปวดบวม แดงร้อนและอาการอักเสบร่วมด้วย และอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งหากได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

สาเหตุของโรคเนื้อเน่าหรือ โรคแบคทีเรียกินเนื้อ

อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดเดียวหรือหลายชนิดรวมกัน โดยเชื้อแบคทีเรียก่อโรคมีตั้งแต่

1. เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส กลุ่ม A (Group A streptococci) 

2. เชื้อเคล็บเซลลา (Klebsiella) 

3. เชื้อคลอสตริเดียม (Clostridium) 

4. เชื้ออีโคไล (E. coli)  

5. เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus)

6. แอโรโมแนส ไฮโดรฟิลา (Aeromonas hydrophila) และ  

7. เชื้อวิบริโอ (Vibrio)

แบคทีเรียกินเนื้อ โรคเนื้อเน่า
infected wound

ลักษณะอาการแสดงที่พบในระยะแรก

มีอาการเจ็บปวดบวม แดง ร้อน ที่ผิวหนังอย่างมากอาการบวมแดงจะลามอย่างรวดเร็ว อาจมีตุ่มน้ำร่วมด้วย ต่อมาสีของผิวหนังจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีม่วงและมีเนื้อตายเกิดขึ้น เมื่อมีเนื้อตายเกิดขึ้นผู้ป่วยอาจมีอาการชามาแทนที่อาการเจ็บปวดมักจะมีไข้สูง และการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือดร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อคและมีการทำงานที่ลดลงของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต เป็นต้น มักพบการติดเชื้อบ่อยที่บริเวณแขนและขา 

ส่วนการวินิจฉัยและการแยกโรคจะต้องมีการผ่าตัดชิ้นเนื้อที่เกิดการตายของเนื้อเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ รวมถึงการตัดชื้นเนื้อส่งเพาะเชื้อเพื่อหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่นเชื้อวัณโรคชนิดอื่นและโรคเส้นเลือดอักเสบรุนแรงที่อาจทำให้เกิดเนื้อตายได้

สำหรับผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 17-49% ขึ้นกับโรคประจำตัวของผู้ป่วยและบริเวณของการติดเชื้อ ถ้าผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวาน หรือเป็นโรคตับแข็ง จะทำให้มีโอกาสที่เชื้อจะลุกลามอย่างรวดเร็วส่วนบริเวณของการติดเชื้อที่กว้างหรือลึกมากจะทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น

วิธีป้องกัน แบคทีเรียกินเนื้อ

โรคแบคทีเรียกินเนื้อนั้น ผู้ป่วยในประเทศไทย มักพบเป็นประจำทุกปี คำแนะนำในการดูแลเบื้องต้นและการป้องกันเบื้องต้น ง่าย ๆ คือ ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุบาดแผลที่สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมที่สกปรก และหากมีการสัมผัสหรือประสบอุบัติเหตุทำให้เกิดแผลควรล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่ทันที และไม่ควรบ่งด้วยเข็มหรือกรีดเปิดแผลด้วยตัวเอง เนื่องจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาดจะส่งเสริมการติดเชื้อให้เพิ่มมากขึ้น

หรือถ้ามีแผล มีอาการปวดบวม แดงร้อนที่ผิวหนัง หรือมีไข้ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยทันที  ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นโรคเบาหวานหรือโรคตับแข็ง มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อจึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษด้วย ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย  www.dst.or.th

บทความที่เกี่ยวข้อง

ติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ใหญ่ ใครว่าไม่น่ากลัว
The Hottest แบคทีเรียดื้อยา ภัยคุกคามมนุษยชาติ
ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ภัยเงียบที่คุณควรรู้
วัคซีนไข้เลือดออก ป้องกันโรคไข้เลือดออก

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.