ค้นพบ เชื้อไวรัส COVID-19 สายตระกูลไทย
ทางมหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยในไทย และต่างประเทศ ถอดรหัสทางจีโนมมาศึกษาพันธุกรรมการแพร่กระจายตัวของ เชื้อไวรัส COVID-19 และค้นพบเชื้อสายตระกูลไทย
การทำงานร่วมกันของมหิดลกับสถาบันวิจัย
มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยในไทย และต่างประเทศ ถอดรหัสทางจีโนมมาศึกษาพันธุกรรมการแพร่กระจายตัวของเชื้อไวรัส Covid-19 ในนาม กลุ่ม COVID-19 Network Investigations Alliance หรือ ทีมสืบสวนจีโนม CONI โดยมีหลักวิธีการทำงาน คือ การแยก และเพิ่มปริมาณสายจีโนมของไวรัสออกมาเป็นชิ้นเล็กๆ และนำมาถอดรหัสแยกกัน แล้วใช้ supercomputer มาประกอบกันเป็นจีโนม และหาความสัมพันธ์ของไวรัสในไทยกับสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งใช้สืบต้นตอการแพร่กระจายเชื้อเมื่อได้รับการติดต่อมา
ก่อนหน้านี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนรรถ ชูขจร จาก คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยในทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้แสดงข้อคิดเห็นในวารสารชั้นนำของโลก Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS ว่าวงการแพทย์ควรระมัดระวังการใช้วิธีแบ่งเชื้อโควิดแบบ A-B-C ที่มักได้รับการกล่าวถึงในสื่อต่างๆและเน้นถึงความสำคัญของการใช้วิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกมาติดตามการแพร่กระจายของไวรัส
COVID-19 สายตระกูลไทย
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ จากคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนรรถ ชูขจร รายงานการค้นพบเชื้อไวรัส Covid-19 สายตระกูลไทย ชื่อ A/Thai-1 ในฐานข้อมูล medRxiv ซึ่งเชื้อนี้น่าจะมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงในไทยตั้งแต่ช่วงประมาณเดือน ม.ค.2563 และค่อยๆ ปรับตัวแพร่กระจายในไทย โดยเชื้อสายตระกูลนี้มีการเปลี่ยนแปลงโปรตีน Spike ที่ใช้ก่อโรคและมีเชื้อไวรัสที่สูญเสียโปรตีน ORF7a ที่น่าจะมีหน้าที่ใช้ต่อสู้กับระบบป้องกันไวรัสของมนุษย์ โดยทางทีมสืบสวนจีโนม CONI เน้นว่าข้อมูลสายตระกูลจีโนมไวรัสในปัจจุบันมีเพื่อการสืบสวนโรคเท่านั้น ความแตกต่างในการก่อโรคของเชื้อสายตระกูลต่างๆ ต้องมาจากข้อมูลการทดลองในห้องปฏิบัติการเป็นหลัก
ปัจจุบัน ทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้ใช้เทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมของเชื้อไวรัส Covid-19 มากกว่า 100 ตัวอย่างโดยพัฒนาวิธีถอดรหัสไวรัสจากผู้ป่วยที่ใช้เวลาเพียง 4 วัน และทำงานแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยมีทีมมาวิเคราะห์ผลแบบ Big Data ด้วยระบบ Supercomputer ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มาสืบสวนโรคทำให้ได้ทราบที่มาของไวรัส และรู้ว่าควรติดตามกำจัดอย่างไร โดยตั้งเป้าหมาย คือ ส่งเสริมการใช้ข้อมูลจีโนมมากำจัดโรค Covid-19
ล่าสุด ทีมสืบสวนจีโนม CONI ได้จัดทำวีดิทัศน์เพื่อให้ข้อมูลกับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเกี่ยวกับเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 โดยเน้นไปที่การนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ทางทีมค้นพบมาอธิบาย เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง และลดความตื่นตระหนกจากการตีความผลที่ไม่ถูกต้อง ด้วยการสื่อสารที่ทำอย่างต่อเนื่อง
“วิกฤต Covid-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกสักระยะ งานที่ออกมาเป็นผลของความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนด้านการสื่อสารกับประชาชน โดยเรายังคงต้องผลักดัน และประคองความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไว้ เพราะไม่มีทางเลยที่เราจะสู้กับ Covid-19 โดยไม่ร่วมมือกัน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนรรถ ชูขจร กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : https://www.thaipost.net/
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
เด็กกับ COVID-19 อะไรต้องรู้ อะไรต้องระวัง
Chula COVID-19 Strip Test ชุดตรวจผลเลือดคัดกรอง COVID-19 หรือไม่
COVID-19 หายแล้วติดอีกได้ไหม เชื้อลงปอด น่ากลัวแค่ไหน สาเหตุการตายมาจากอะไร