รักษาฟัน

เรื่องนี้ต้องรู้! ยาชาที่ใช้ทางทันตกรรมจำเป็นต้องใช้ “โคเคน”

เรื่องนี้ต้องรู้! ยาชาที่ใช้ทางทันตกรรมจำเป็นต้องใช้ “โคเคน”

จากกระแสข่าวที่มีการพูดถึง “โคเคน” ว่ามีการนำมาใช้ในการรักษาฟันได้นั้น ทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยและข้อขัดแย้งของสังคมว่าความจริงแล้วโคเคนมีประโยชน์ทางการแพทย์จริงหรือ  แล้วโคเคนถูกใช้เพื่อการรักษาฟัน ได้จริงหรือไม่ เราลองไปค้นคำตอบเรื่องนี้พร้อมกันค่ะ

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 โคเคนจัดอยู่ในยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 2 คือ ยาเสพติดประเภทนี้สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ แต่ต้องใช้ในการควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ซึ่งกลุ่มนี้ประกอบด้วย ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือโคคาอีน โคเคอีน และเมทาโดน

โดยมีบทลงโทษสำหรับผู้ผลิต นำเข้า หรือส่งออก จะต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจนถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท ด้านผู้เสพก็มีโทษเช่นกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขณะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้อธิบายถึงต้นตอของโคเคนไว้ว่า โดเคนนั้นเป็นสารที่ได้จากการสกัดจากใบของต้นโคคา (Coca) ซึ่งพบมากในอเมริกาใต้

พิษที่มีต่อร่างกายมีลมในช่องอก เนื่องจากผู้ป่วยหายใจอย่างแรงเพื่อดูดซึมโคเคนได้มากที่สุด ทำให้ผนังช่องปอดฉีกขาด หายใจไม่ออก และอาจเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ที่พบ เช่น ภาพหลอน อาเจียน จากการที่ฤทธิ์เข้าไปกระตุ้นระบบประสาท sympathetic ทำให้เกิดความดันสูง หัวใจเต้นเร็วหรือผิดจังหวะ รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย ฯลฯ ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บได้สูง

โดยขั้นตอนการผลิตโคเคน มี 2 ประเทศหลักที่ผลิต คือ เปรูและโบลิเวีย เป็นแหล่งแปรสภาพใบโคคาเป็น COCA PASTE และ COCA BASE ซึ่งจะแปรเป็น COCAINE HYDROCHLORIDE หรือโคเคนบริสุทธิ์ ซึ่งกลุ่มผู้เสพมักนิยมเรียกว่า COKE , SNOW , SPEED BALL , CRACK ฯลฯ

สำหรับในประเทศไทยพบโคเคนใน 2 ลักษณะ คือ 1.ชนิดผง มีลักษณะเป็นผงละเอียด สีขาว มีรสขม ไม่มีกลิ่น 2.ชนิดผลึกเป็นก้อน หรือเรียกว่าแคร็ก

ทั้งนี้ความแตกต่างของโคเคนทั้ง 2 ชนิดคือ แคร็กจะเสพโดยการสูบ ทำให้เกิดอารมณ์สนุกสนานเร็วกว่ามาก ภายในระยะเวลาเพียง 10 วินาที และมีฤทธิ์อยู่นานถึง 5-15 นาที นอกจากนี้จะทำให้เคลิบเคลิ้ม มีความสุขมากกว่า เสพติดง่ายกว่า แต่จะทำให้ผู้เสพอ่อนแอและเกิดโรคทางกายเร็วและรุนแรงกว่าอาการที่ปรากฏ ขณะที่โคเคนผงนั้นเสพด้วยการสูดดม ออกฤทธิ์ช้ากว่า แต่อยู่ได้นานใกล้เคียงกันเมื่อเสพแคร็กด้วยกล้องสูบไปป์

โคเคน

ทั้งนี้มีข้อมูลอ้างอิงจากเอกสารสอนทันตกรรมเรื่องยาชาในทางทันตกรรมว่า เคยมีการใช้โคเคนในทางทันตกรรมเมื่อประมาณ 140 ปีที่แล้วในฐานะยาชา แต่ต่อมาเลิกใช้เพราะขนาดที่ใช้ในการรักษาใกล้เคียงกับขนาดที่เป็นพิษและมีฤทธิ์เสพติด จึงเสื่อมความนิยมลงและนำไปสู่การพัฒนายาชารุ่นใหม่ๆ มาใช้แทน

ด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีมีความก้าวหน้า และพัฒนาไปไกลมากแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีการนำยาที่มีส่วนผสมของโคเคนที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอน

การรักษาทางทันตกรรมโดยเฉพาะการใช้ยาชาเฉพาะที่ ในปัจจุบัน จะใช้สารที่พัฒนาจากโคเคน ที่มีความปลอดภัย หรือมีพิษน้อยกว่า เช่น ลิโดเคน เมพิวาเคน อะทิเคน ซึ่งยาชาที่เราฉีด จะไม่ฉีดเข้าเส้นเลือด แต่จะฉีดเพื่อให้ยาซึมซับระงับอาการเจ็บปวดบริเวณฟัน หรือเส้นประสาทตรงบริเวณนั้น(อ้างอิงจากเอกสารสอนทันตกรรมเรื่องยาชาในทางทันตกรรม อาจารย์ อุดมรัตน์ เขมาลีลากุล ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่)

ยาชาชนิดบรรจุเสร็จที่ใช้ในทางทันตกรรมจึงมักจะประกอบด้วย ตัวยาชา ยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว ส่วนของสารป้องกันการเสื่อมสลายของยาทั้งสองชนิด และส่วนของตัวทำละลาย ยาชาที่มีการใช้บ่อยๆทางทันตกรรม มี 2 รูปแบบคือ ยาชาชนิดฉีด และชนิดเจล

ทำฟัน

ยาชาชนิดฉีดที่ใช้บ่อยในทางทันตกรรม คือ Lidocaine มักเป็นความเข้มข้น 2-3 % ที่มีส่วนผสมของยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เช่น adrenaline หรือ noradrenaline ในระดับต่างๆกัน ตั้งแต่ 1 :50,000-1:100,000 หรือเป็นชนิดไม่ผสมยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัว (plain) การฉีด 2% lidocaine plain จะทำให้ได้การชาของโพรงประสาทฟัน ประมาณ 5-10 นาที และ ได้การชาของเนื้อเยื่ออ่อน ประมาณ 60-120 นาทีแต่หากใช้ 2% lidocaine with adrenaline จะทำให้ได้การชาของโพรงประสาทฟันนานขึ้นเป็น ประมาณ 60-90 นาที และ ได้การชาของเนื้อเยื่ออ่อนประมาณ 3-4 ชั่วโมง

การใช้ยาลิโดเคนในรูปแบบเจล (Lidocaine Gel)  ใช้รักษาแผลในปาก หรืออาการเจ็บคอ และอาจใช้รักษาบรรเทาความเจ็บปวดในบริเวณอื่น ๆ เช่น เหงือก จมูก ดวงตา หู ผิวหนัง ช่องคลอด หรือทวารหนัก เป็นต้น ในทางทันตกรรมมีที่ใช้เช่น ใช้ทา ภายนอกก่อนบริเวณที่จะฉีดยาซึ่งวิธีนี้อาจช่วยลดความกลัวของผู้ป่วยลงได้ ใช้สำหรับงานผ่าตัดเล็กๆ เช่น การ ถอนฟันน้ำนมที่โยกมากๆ หรือการหยิบเอาเศษกระดูก เศษสิ่งแปลกปลอมเล็กๆ ออก เป็นต้น

ยาชาชนิดนี้จะมีความเข้มข้นของยาชาที่สูงกว่ายาชาที่ใช้สำหรับฉีดมาก และมักไม่มีส่วนผสมของยาที่ทำให้หลอดเลือดหดตัวรวมอยู่ด้วย ดังนั้นอาการพิษของยาเกินขนาดจะเกิดขึ้นได้ง่ายหากใช้ไม่เหมาะสม ยาชาหลายชนิดที่ใช้ได้ดีในการฉีด แต่เมื่อใช้ภายนอกแล้วมักจะมีประสิทธิภาพไม่ดีพอ

ทั้งนี้ การใช้ยาชาต้องเป็นไปตามปริมาณและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอ เพื่อประสิทธิผลทางการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย โดยทั่วไป การใช้ยาชาค่อนข้างปลอดภัยและพบผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้น้อยมาก ผู้ป่วยและแพทย์ต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการอันเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถเตรียมการรักษาช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงทีหากผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาหรือมีอาการเจ็บป่วยใด ๆ ปรากฏขึ้น

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

วัคซีนโควิด-19 คืบหน้า !! มาพร้อมความหวังของมวลมนุษยชาติ

วิจัยใหม่ชี้ ตรวจเลือด สามารถระบุโรคมะเร็งได้ก่อนแสดงอาการถึง 4 ปี

“โลหิตจาง” สัญญาณเตือนภัยของร่างกาย ที่ทุกคนควรต้องรู้!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.