ผักไทย ของใกล้ตัวต้านโรคดีไม่แพ้ของนอก
วันนี้เราจะชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ ผักไทย 4 ชนิด ที่เป็นผักพื้นบ้าน มีอยู่ในแกงบ้าน ๆ เรานี่แหละ แต่หลายคนมักมองข้ามแล้วไปสรรหาผักเมืองนอกราคาสูง ทั้ง ๆ ที่ความจริง ผักไทยเนี่ยแหละ ประโยชน์เยอะมากทีเดียว มาดูกันเลยค่ะ
ผักเหลียง ใบเหลียง
เป็นผักพื้นบ้านทางภาคใต้ รสชาติมัน ไม่ขม นิยมนำไปผัดกับไข่ และเมื่อผัดกับน้ำมัน วิตามินที่ละลายในน้ำมันจะออกมาให้ร่างกายดูดซึมไปใช้ประโยชน์ รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิดด้วย วิตามินเด่น ๆ ที่พบในผักเหลียงคือ เบต้าแคโรทีน เป็นหนึ่งในสารต้านอนุมูลอิสระที่ให้ประโยชน์โดยตรงกับดวงตา เพราะเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ อีกทั้งยังมีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกด้วย
ผักกระเฉด
เป็นผักที่ขึ้นตามผิวน้ำ เรามักเจอผักชนิดนี้ในอาหารประเภทยำ และเมนูผัดต่าง ๆ เป็นผักที่มีแคลเซียมสูงมาก ทั้งยังมีธาตุเหล็ก ใยอาหาร วิตามินเอ บี ซี มีเบต้าแคโรทีน เป็นหนึ่งในผักที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันต้านโรคและต้านอนุมูลอิสระได้ แต่ข้อแนะนำคือควรปรุงผักกระเฉดให้สุกก่อนรับประทาน เพราะอาจมีพยาธิ ไข่ปลิง รวมไปถึงควรล้างให้สะอาดเพื่อหลีกเลี่ยงสารฆ่าแมลง
มะระ
ของดีไม่พูดถึงไม่ได้ กับพืชที่มีชุดเด่นเรื่อง “ขมเป็นยา” เรามักเห็นมะระอยู่ในเมนูต้ม ตุ๋น ก๋วยเตี๋ยว เพราะช่วยลดความขมของมะระลงไปทำให้รสชาติกลมกล่อมน่ารับประทาน ถึงจะเป็นพืชที่หากินได้ในไทย แต่มะระลูกใหญ่พันธุ์ที่เรากินกันเรียกว่า “มะระจีน” มะระประกอบไปด้วยกรดคาเฟอิก แกลลิก และคาเทชิน ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ยิน ช่วยแก้ไข้ได้ด้วย
บัวบก
หนึ่งในผักพื้นบ้านที่คนนำมาทำเมนูหลากหลายมาก ทั้งเครื่องดื่ม ชุบแป้งทอด บัวบกอุดมไปด้วยแคลเซียมและวิตามินบี ช่วยบำรุงระบบประสาทเหมือนใบแปะก๊วย มีฤทธิ์เย็น ช่วยแก้ไข้ได้เช่นกัน ทั้งยังช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างอีลาสตินใต้ผิวหนัง จึงช่วยให้ผิวพรรณนุ่มเด้ง ไม่หย่อนคล้อย
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผักพื้นบ้านไทยที่มีทั้งหมด ยังมีผักในท้องถิ่นอื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางสารอาหารไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน อยากให้หันมากินผักไทยกันเยอะ ๆ ค่ะ
ข้อมูลโดย : medthai.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
“ตะไคร้หอม” และสมุนไพรอื่นๆ ทำไมจึงถือว่าเป็นวัตถุอันตราย?
7 ผัก สมุนไพร ช่วยลดความดันโลหิตสูง คุณค่าที่ควรปลูกไว้ติดบ้าน