CPTTP

ชวนเข้าใจ CPTPP อย่างถูกต้อง ฉบับเพื่อเกษตรกรและคนทั่วไป

หนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้น CPTPP ที่ถูกกล่าวถึงว่าจะส่งผลต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชน ในด้านเมล็ดพันธุ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ทั้งจากคนที่เข้าใจ และไม่เข้าใจ

CPTPP คืออะไร ?

ชีวจิต ฉบับนี้จึงขอชวนคุณผู้อ่านมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กันให้ดียิ่งขึ้น ในมิติการเกษตรที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของเรา จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ดังนี้
CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วม 11 ประเทศ แต่มีเพียง 7 ประเทศเท่านั้น ที่ได้ลงนามในสัตยาบันไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม คงเหลืออีก 4 ประเทศ คือ บรูไน มาเลเซีย เปรู และชิลีที่ยังไม่ได้ลงนาม โดยในปี 2562 ไทยมีการค้ากับ CPTPP 7 ประเทศนี้รวม 1.14 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (23.6 % ของการค้าไทยกับโลก)

ไขคำตอบทุกข้อกังวล CPTPP

  1. ข้อกังวลเรื่องการห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกต่อ
    ไม่ได้ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อ เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิด รวมถึงสมุนไพร และพันธุ์การค้า ที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
    มีข้อยกเว้น ให้เกษตรกรสามารถเก็บพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครองไว้ใช้เพาะปลูกต่อ ในพื้นที่ของตนได้ และยังนำพันธุ์พืชใหม่นี้ไปพัฒนาต่อยอด โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์ (ตาม UPOV 1991 Article 15)
    เมื่อซื้อเมล็ดพันธุ์มาอย่างถูกต้อง เกษตรกรมีสิทธิเพาะปลูก และจำหน่ายผลผลิต และผลิตภัณฑ์จากผลผลิตนั้น โดยไม่ผิดกฎหมาย และไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าของพันธุ์
  2. ข้อกังวลเรื่องการผูกขาดเมล็ดพันธุ์แก่บริษัทเอกชน
    ไม่ได้เกิดการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ให้แก่บริษัทเอกชน เนื่องจากคุ้มครองสิทธิแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ทั้งหมด ทั้งบริษัทเอกชน นักวิจัยภาครัฐ นักปรับปรุงพันธุ์พืชอิสระ นักศึกษา เกษตรกร หรือบุคคลทั่วไป ก็สามารถยื่นจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ได้
    ช่วยทำให้นักปรับปรุงพันธุ์ทั้งหลาย เพิ่มการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชมากขึ้น มีพันธุ์พืชใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เกิดการแข่งขันด้วยเรื่องคุณภาพของพันธุ์ ไม่ให้จำกัดอยู่เฉพาะรายใหญ่เพียงไม่กี่บริษัท
  3. ข้อกังวลว่าจะลดทอนกลไกการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์ จากทรัพยากรชีวภาพ
    ไม่มีข้อห้าม หรือลดทอนกลไกการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์ (Access and Benefit – Sharing : ABS) ไทยก็เป็นสมาชิกของอนุสัญญา ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity : CBD) ซึ่งไทยก็มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการเข้าถึง และแบ่งปันผลประโยชน์อยู่แล้ว
  4. ข้อกังวลว่าเกษตรกรจะซื้อเมล็ดพันธุ์แพงขึ้น
    เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่ได้จดทะเบียนคุ้มครองอาจจะมีราคาแพงขึ้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อพันธุ์พืชพื้นเมือง พันธุ์พืชป่า หรือพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง ราคาเมล็ดพันธุ์ในตลาดจะถูกกำหนดด้วยความดีเด่นของพันธุ์ คุณภาพเมล็ดพันธุ์ และผลผลิตตอบแทน ซึ่งหากเกษตรกรเห็นว่าแพงไป ไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุน เกษตรกรก็จะไม่ซื้อและไปซื้อพันธุ์อื่นที่ถูกกว่าได้
    นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถเลือกใช้พันธุ์ของหน่วยงานรัฐได้ด้วย การมีพันธุ์พืชใหม่ ๆ หลากหลายออกสู่ตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกมากขึ้น ได้พันธุ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาด
  5. ข้อกังวลเรื่อง GMO
    ความตกลงCPTPP ไม่ได้กำหนดให้สมาชิกต้องปรับกฎหมายภายในประเทศ ในเรื่องสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Biotechnology) และไม่ได้มีการบังคับเรื่องการเพาะปลูกพืช GMO แต่อย่างใด
    จะเห็นได้ว่า เพียงแค่เรื่องเกี่ยวกับการเกษตรมิติเดียว ยังใช้การอธิบายค่อนข้างยาว ทั้งนี้ยังมีอีกหลายมิติที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถูกนำมาอ้างถึง แบบข้อมูลครบบ้าง ไม่ครบบ้าง เราสนับสนุนให้ทุกท่านศึกษาข้อมูลจากทุกด้าน เพื่อให้ตกผลึกออกมาได้อย่างถูกต้อง และครบถ้วนที่สุดนะคะ

เรื่อง ชวลิดา เชียงกูล ภาพ iStock เขียนลงเว็บ เนื้อทอง ทรงสละบุญ

ชีวจิต 524 – BREAST CANCER SURVIVORS

นิตยาสารรายปักษ์ ปีที่ 22 : 1 สิงหาคม 2563
บทความน่าสนใจอื่น ๆ

พลิกโฉมภาคเกษตรไทยให้ไร้ฝุ่น มิตรผล ชี้ ‘เกษตรสมัยใหม่’ คือคำตอบ

ตามไปดูความพยายามช่วยเหลือเกษตรกร จากกลุ่ม “กินช่วยเกษตรกร”

หนุ่มฝรั่งเศสกลับประเทศไม่ได้ อยู่ช่วยภรรยาชาวไทยทำเกษตรผสมผสาน

ไม่เดือดร้อนช่วงโควิด จบป.ตรี ทำเกษตรพอเพียงเลี้ยงครอบครัว มีเหลือแบ่งปัน

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.