รักษาเริม ต้องใช้ยาอะไร และควรดูแลร่างกายแบบไหนดี เรามีคำตอบดีๆ มาบอกต่อ
พญ. กัญญวิสาข์ ตั้งกิจวณิชย์เจริญ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต อธิบายไว้ว่า โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex โดยผู้ป่วยจะมีอาการเป็นผื่นตุ่มน้ำที่ริมฝีปาก หรืออวัยวะเพศ โดยการรักษาที่หายไวที่สุดคือ การรับประทานยาต้านไวรัสให้เร็วที่สุด ภายใน 72 ชั่วโมง หลังมีอาการ
โรคเริมเกิดจากอะไร
โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส Herpes simplex (HSV) จากการสัมผัสรอยโรค หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคเริมรายอื่น
อาการของโรคเริม
ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการในวันแรกๆหลังจากได้รับเชื้อครั้งแรก ในผู้ป่วยบางส่วนจะมีอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 2-12 วัน โดยจะพบมีตุ่มน้ำบริเวณผิวหนังที่ริมฝีปาก บริเวณอวัยวะเพศ หรือผิวหนังบริเวณอื่นที่สัมผัสเชื้อ ในบางราย อาจจะมีอาการไข้ ปวดตามตัว ปวดศีรษะ หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมร่วมด้วย
ลักษณะตุ่มน้ำใสที่พบจะเรียงตัวเป็นกลุ่ม หลังจากนั้นจะแตกออกเป็นแผลตื้นๆ มีอาการเจ็บและ ปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผล แผลจะค่อยๆ แห้ง ตกสะเก็ดและหายในระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์
ในผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้นกันบกพร่อง อาจมีการติดเชื้อไวรัสในอวัยวะอื่นๆ ได้ เช่น การติดเชื้อบริเวณตา การติดเชื้อในระบบประสาท การติดเชื้อที่ตับ การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น
โรคเริมสามารถเป็นซ้ำได้หรือไม่
โรคเริมสามารถเป็นซ้ำใหม่ได้ เมื่อมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้น เช่น ความเครียด การเจ็บป่วยจากโรคอื่น ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง การผ่าตัดที่กระทบกระเทือนต่อระบบประสาทที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส HSV โรคเริมที่กลับเป็นซ้ำบริเวณผิวหนังจะมีอาการจะน้อยกว่าอาการของโรคเริมภายหลังการติดเชื้อครั้งแรก
การรักษาและการปฏิบัติตัวผู้ป่วยโรคเริม
การรักษาโรคเริม รักษาโดยการรับประทานยาต้านไวรัส เช่น ยา Acyclovir, Valacyclovir หรือ Famciclovir การให้ยาภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมงหลังมีอาการ จะช่วยให้รอยโรคทางผิวหนังหายได้เร็วขึ้น และลดระยะเวลาการปวดแผล ส่วนการใช้ยาต้านไวรัสชนิดทามีประโยชน์น้อย
การป้องกันเริมกลับเป็นซ้ำ
- ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นการกลับเป็นซ้ำของโรค
- ในกรณีที่มีการกลับเป็นซ้ำของโรคมากกว่า 6 ครั้งต่อปี หรือมีอาการรุนแรงเมื่อกลับเป็นซ้ำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการรับประทานยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค
- ทั้งนี้ วิธีการป้องกันโรคเริมที่ดีที่สุดคือ การลด ละ เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และการเป็นพาหะนำโรคสู่บุคคลอื่น เช่น การไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน ไม่สัมผัสกับคนหรือสิ่งของที่อาจปนเปื้อนน้ำลายหรือสารคัดหลั่ง การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ หมั่นทำความสะอาดร่างกาย การทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ และการพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อรักษาระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงคงที่ และช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสเริม
เมื่อสงสัยว่าเป็นเริม ควรทำอย่างไร?
ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการของโรคเริมควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโรคโดยแพทย์ผู้ชำนาญการ การตรวจเจอเร็วและรับการรักษาเร็วจะช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสลุกลาม และช่วยบรรเทาอาการคัน เจ็บแสบ ผู้ที่เคยเป็นโรคเริม ควรเข้ารับการตรวจร่างกายซ้ำเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
เริม เป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดในปัจจุบัน เชื้อไวรัสเริมสามารถอยู่ในร่างกายได้โดยไม่แสดงอาการใด ๆ และยังสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ การสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ การไม่สัมผัสกับน้ำลายผู้อื่น และการตรวจเลือดเป็นประจำทุกปีเพื่อวัดระดับภูมิคุ้มกันร่างกายจะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัสโรคเริมได้
ข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต / Medpark Hospital