โรคกินไม่หยุด

กินไม่หยุด แก้อย่างไร โรคทางจิต ไม่ใช่แค่ตะกละ

รู้จัก โรคกินไม่หยุด แก้ยังไง โรคทางจิต ไม่ใช่แค่ตะกละ

หลายคนอาจมองว่า เหตุผลที่คนกินอาหารปริมาณมากก็คงมีอยู่แค่ไม่กี่อย่าง ไม่ว่าจะเพราะอยากเฉย ๆ ชื่นชอบการกินเป็นนิสัยอยู่แล้ว หรือกินแล้วมีความสุข ก็ตามแต่ พวกนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องปกติก็จริง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ นอกจากพฤติกรรมการกินอาหารเยอะ จะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรคอื่น ๆ ตามมาแล้ว ยังสามารถบ่งบอกถึงอาการของ โรคกินไม่หยุด ได้อีกด้วย

โรคกินไม่หยุด (Binge Eating disorder) เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ที่เป็นผลกระทบมาจากโรคซึมเศร้าและความเครียดซึ่งอาจเป็นได้โดยไม่รู้ตัว มีอาการหลัก ๆ ตามชื่อโรคคือ ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดกินอาหารได้ แม้อาจฟังดูธรรมดาสามัญ แต่จริง ๆ แล้วสามารถเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เลยหากปล่อยไว้นาน

ความเสื่อม, ชะลอความเสื่อม, อาหารต้านความเสื่อม, ออกกำลังกาย, น้ำตาล กินไม่หยุด โรคกินไม่หยุด

โดยโรคนี้ เป็นหนึ่งในโรคใหม่ที่พึ่งได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2013 ในคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต หรือ Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM-5) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติ จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา และถูกใช้อ้างอิงกว้างขวางโดยแพทย์และนักวิจัยในอเมริกา

แตกต่างจากคนที่มีอาการของโรคบูลิเมียหรือโรคล้วงคอ ที่จะกำจัดแคลอรี่ส่วนเกินจากการกินด้วยการอ้วก การใช้ยาระบาย หรือฝืนออกกำลังกายมากจนเกินกำลัง คนที่มีอาการของโรคกินไม่หยุดอาจจะมีความพยายามในการไดเอต หรือพยายามกลับมากินอาหารตามปกติบ้าง แต่อย่างไรก็ดี การเคร่งเครียดกับไดเอตก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการกินไม่หยุดอีกครั้งได้อย่างง่ายดายเช่นกัน ซึ่งความรุนแรงของโรคนี้จะขึ้นอยู่กับความถี่ของอาการกินมากผิดปกติที่เกิดขึ้นในหนึ่งสัปดาห์

ใครที่สังเกตพฤติกรรมการกินของทั้งตัวเองและคนรอบตัวแล้วสงสัยว่า ฉัน/เขา/เธอกำลังทรมานกับโรคนี้อยู่หรือเปล่า ลองมาเช็กกันดูค่ะว่า อาการของโรคนี้มีอะไรบ้าง แล้วจะเกิดผลกระทบอะไรต่อสุขภาพ รวมไปถึงมีวิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง (ขอบคุณข้อมูลจาก The National Eating Disorders Association (NEDA), Mayoclinic และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี)

1.กินทั้งที่ไม่หิว ไม่รู้ตัวว่าตัวเองหิวหรืออิ่ม

เป็นเรื่องปกติที่คนเราจะรู้สึกหิวข้าวตามเวลา เช้า กลางวัน เย็น แต่หากมีอาการกินทั้งที่ไม่หิวขึ้นมาเมื่อไหร่ หรือแม้จะกินข้าวเสร็จแล้ว แต่ไม่รู้ตัวเองว่าอิ่มหรือยังจนทำให้กินต่อไปเรื่อย ๆ ก็ถือว่าเข้าข่ายอาการของโรคนี้

2.กินจนไม่สบายตัว หยุดตัวเองไม่ได้

มีอาการรู้สึกอยากกินตลอดเวลา ควบคุมตัวเองให้หยุดกินไม่ได้ จนสุดท้ายก็อิ่มมากเกินจนสร้างความอึดอัดให้แก่ร่างกาย และรู้สึกไม่สบายตัว

3.ซ่อนอาหารไว้รอบตัวตามที่ต่าง ๆ

มีพฤติกรรมซ่อนของกินตามที่ต่าง ๆ เช่น ในบ้าน เพื่อเตรียมตัวที่จะกินทุกที่ทุกเวลา

4.กินอาหารกลางดึก

การกินอาหารแบบลับ ๆ ในปริมาณมากกว่าปกติและไม่เป็นเวลา ก็เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้ในโรคนี้

5.กินเร็วและมากในช่วงเวลาหนึ่ง

กินปริมาณมากและรวดเร็วผิดปกติที่คนทั่วไปจะกินในช่วงระยะเวลา ๆ หนึ่ง เช่น ในระยะเวลา 2 ชั่วโมง

6.กินไม่หยุดอาทิตย์ละครั้งนาน 3 เดือน

โดยเฉลี่ย จะเกิดอาการกินไม่หยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้งเป็นระยะเวลานาน 3 เดือน

7.น้ำหนักตัวที่ไม่คงที่

เห็นน้ำหนักที่เหวี่ยงขึ้นลงอย่างชัดเจน

8.ไวต่อความรู้สึกด้านลบจากคนรอบตัว

เมื่อกินมากไม่รู้ตัวจนน้ำหนักขึ้น รูปร่างเปลี่ยนแปลงไป ก็จะส่งผลให้เกิดภาวะวิตกกังวลและความเครียดจากสายตาของคนรอบตัว ซึ่งสามารถพัฒนากลายเป็นโรคซึมเศร้าต่อไปได้

9.ความมั่นใจลดลงผิดปกติ

บางครั้งก็รู้สึกไม่มั่นใจที่จะกินอาหารร่วมกับผู้อื่น หรือกินอาหารในที่สาธารณะ ความมั่นใจในตัวเองเกี่ยวกับรูปร่างและภาพลักษณ์ลดลงผิดปกติ

10.มักรู้สึกละอาย รังเกียจตัวเองหลังจากที่กินอาหารปริมาณมาก

รู้สึกผิดและละอายหลังจากกินอาหารปริมาณมาก ไปจนถึงขั้นมีความคิดว่า ตัวเองน่ารังเกียจที่ไม่สามารถหยุดกินได้

ผลกระทบต่อสุขภาพ

คนที่เป็นโรคกินไม่หยุดส่วนมากจะกินเร็ว เสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน มีอคติต่อน้ำหนักตัว หรือ weight stigma หรือมีอาการที่น้ำหนักลดลง และเพิ่มขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ แม้ว่าคนที่เป็นโรคอ้วนส่วนใหญ่แล้ว จะไม่ได้มีอาการของโรคกินไม่หยุด แต่พบว่า 2 ใน 3 ของคนที่เป็นโรคนี้จะเป็นโรคอ้วนด้วย

อ้วน, โรคอ้วน, ลดน้ำหนัก, ลดความอ้วน, ความอ้วน โรคกินไม่หยุด กินไม่หยุด
โรคอ้วน เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอื่นๆ

พบได้ในใครบ้าง

โรคกินไม่หยุดสามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย โดยผู้หญิงจะมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย และมักจะเริ่มต้นเป็นกันในช่วงอายุ 20 ต้น ๆ หรือช่วงปลายวัยรุ่น คนที่มักจะเจอปัญหาการกินไม่หยุดมักจะเป็นคนที่มีน้ำหนักปกติ หรือมากกว่าเกณฑ์ปกติ แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้สามารถพบได้ในคนทุกน้ำหนัก

แล้วโรคกินไม่หยุด สามารถรักษาได้อย่างไร?

ถ้าเกิดมีอาการของโรคกินไม่หยุด ควรรีบพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาโดยทันที เพราะโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงะยะเวลาสั้น ๆ เวลาใดเวลาหนึ่งและกลับมาเกิดได้อีกหลังหายไป บวกกับยิ่งไม่ได้รับการรักษา ก็อาจทำให้เกิดอาการได้ต่อเนื่องนานเป็นปีได้เช่นกัน โดยเราสามารถรักษาอาการได้โดย

1.การใช้ยา

ผู้ป่วยสามารถใช้ยาได้หลายกลุ่มตามแต่ดุลพินิจของแพทย์ เพื่อลดความถี่ในการเกิดอาการของโรค

2.การรักษาด้านจิตใจ

ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า การรักษาทางด้านจิตใจได้ผลดีเทียบเท่า หรือดีกว่าการใช้ยา จึงควรใช้รักษาควบคู่ไปกับการใช้ยาด้วย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการรักษาด้านจิตใจที่สำคัญคือ

  • ปรับเปลี่ยนแนวคิด คือ เปลี่ยนการมองภาพลักษณ์ตัวเองของผู้ป่วยให้ดีขึ้น พยายามทำให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุผลของการรักษา รวมถึงตระหนักถึงรูปร่างและน้ำหนักของตัวเอง
  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน คือ ลดการกินให้อยู่ในระดับที่ปกติ และพยายามทำให้อาการคงที่ดำเนินต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน

นอกจากนี้แล้ว ให้พยายามพูดคุยกับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเกี่ยวกับลักษณะอาการกินไม่หยุด และอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ถ้าเกิดยังไม่มั่นใจ หรือยังไม่กล้าที่จะเข้ารับการรักษา ลองพูดคุยกับคนที่เชื่อใจได้และรับรู้ถึงอาการที่คุณกำลังเผชิญอยู่

จะสังเกตว่า โรคนี้จริง ๆ แล้ว มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจของเราค่อนข้างมาก บางครั้งจึงเป็นเรื่องยากที่จะหยุดอาการกินผิดปกติเหล่านี้ได้โดยทันที และคนที่เป็นโรคก็สามารถกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการหลบซ่อนพฤติกรรมของตนเองได้ ทำให้ค้นพบปัญหายาก หากลองสังเกตคนใกล้ตัวดูแล้วพบว่ามีอาการเข้าข่ายโรคกินไม่หยุด พยายามหาทางเปิดอกพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและอาการต่าง ๆ เหล่านี้ และแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา รวมไปถึงอย่าลืมคอยให้กำลังใจและคอยช่วยเหลืออยู่เคียงข้างพวกเขาด้วยนะคะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.