ดื่มน้ำน้อยเกินไป ระวัง “ต่อมน้ำลายอักเสบ”

ดื่มน้ำน้อยเกินไป ระวัง “ต่อมน้ำลายอักเสบ”

เคยรู้สึกปวดบริเวณด้านข้างของใบหน้า หรือแถวๆ กกหูบ้างคะ ลองสังเกตอาการดู คุณอาจมีอาการ “ต่อมน้ำลายอักเสบ” โรคที่มีต้นตอหลักมาจากการดื่มน้ำน้อยเกินไป จนเชื้อที่อยู่ในปากแพร่พันธุ์จนสร้างโรคนี้ขึ้นมาได้ เอาล่ะค่ะ เรามาทำความรู้จักโรคที่มาจากการดื่มน้ำไม่เพียงพอกันดีกว่า

ดื่มน้ำน้อย ทำไมเป็น ต่อมน้ำลายอักเสบ

ต่อมน้ำลายอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ซึ่งส่งผลต่อต่อมน้ำลายหรือท่อน้ำลาย การติดเชื้อนี้ ส่งผลให้การไหลของน้ำลายลดน้อยลง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะท่อน้ำลายมีการอุดตันหรือมีการอักเสบ เรียกภาวะนี้ว่าต่อมน้ำลายอักเสบเรื้อรัง

น้ำลายเป็นส่วนสำคัญช่วยในการย่อยอาหาร ทำให้อาหารย่อยง่าย และมีหน้าที่ทำให้ปากของเราสะอาด ด้วยการทำลายเชื้อแบคทีเรียและเศษอาหาร อีกทั้งยังช่วยควบคุมจำนวนเชื้อแบคทีเรีย ทั้งชนิดดีและไม่ดีในปากของเรา หากเชื้อแบคทีเรียและเศษอาหารไม่ถูกทำลาย เพราะน้ำลายไม่สามารถเดินทางไปได้ทั่วทั้งปาก ก็เป็นเหตุที่นำไปสู่การติดเชื้อได้

ต่อมน้ำลายหลักมี 3 คู่ ตรงบริเวณด้านข้างของใบหน้า ต่อมน้ำลายหน้ากกหูเป็นต่อมน้ำลายขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ข้างในแก้มแต่ละข้าง อยู่เหนือขากรรไกรด้านหน้าหู เมื่อต่อมน้ำลายส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนมีการติดเชื้อเราเรียกว่าคางทูมนั่นเอง

อาการของต่อมน้ำลายอักเสบ

อาการด้านล่างต่อไปนี้คืออาการต่อมน้ำลายอักเสบ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรค เพราะอาการบางอาการอาจมีความคล้ายกับโรคหรือภาวะอื่นๆ โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเช่น

  • การรับรู้รสผิดปกติหรือมีรสชาติผิดปกติในปาก
  • ไม่สามารถอ้าปากได้ตามปกติ
  • รู้สึกเจ็บหรือรู้สึกไม่สบายปากเมื่อต้องอ้าปากหรือรับประทานอาหาร
  • มีตุ่มหนองในปาก
  • ปากแห้ง
  • เจ็บปาก
  • เจ็บบริเวณใบหน้า เจ็บใต้คาง
  • มีอาการแดงหรือบวมบริเวณกรามด้านหน้าใบหู ใต้กรามหรือใต้ปาก
  • มีการบวมบริเวณใบหน้า หรือลำคอ ใต้คางบวม
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น มีไข้หรือหนาวสั่น

หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากพบการติดเชื้อที่ต่อมน้ำลาย และมีอาการไข้สูง มีปัญหาในการหายใจหรือการกลืน หรืออาการแย่ลง ปวดใต้คางจนทนไม่ไหว

สาเหตุการติดเชื้อของต่อมน้ำลาย

ต่อมน้ำลายอักเสบ โดยทั่วไปมักติดมาจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อสตาฟิโลคอคคัส ออเรียส เป็นเชื้อที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่อมน้ำลายอักเสบมากที่สุด โดยภาวะการติดเชื้อดังกล่าวเป็นผลมาจากการทำงานของต่อมน้ำลายที่ลดลง มักพบว่าเกิดจากการอุดตันหรือการอักเสบของท่อต่อมน้ำลาย เชื้อไวรัส และการรับประทานยาบางชนิดก็อาจไปลดทอนการทำงานของต่อมน้ำลายได้

  • โรคที่อาจนำไปสู่ต่อมน้ำลายอักเสบ
  • โรคคางทูม เป็นโรคติดต่อจากการติดเชื้อไวสัสมักพบในเด็กที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน
  • โรค HIV
  • โรคไข้หวัดใหญ่  และโรคติดเชื้อพาราอินฟลูเอนซาแบบ1และ2
  • โรคเริม
  • นิ่วในต่อมน้ำลาย
  • ท่อน้ำลาายอุดตันจากเสมหะ
  • เนื้องอก
  • กลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren’s syndrome) เป็นการเจ็บป่วยทางระบบภูมิคุ้มกันร่างกายซึ่งทำให้เกิดอาการปากแห้ง
  • ซาคอยโดซิส (Sarcoidosis) เป็นการเจ็บป่วยทางระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
  • ภาวะขาดน้ำ, ภาวะขาดสารอาหาร
  • การฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งที่บริเวณศีรษะและลำคอ
  • ขาดสุขอนามัยที่ดีในช่องปาก

ปัจจัยเสี่ยงในการติดเชื้อ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดต่อมน้ำลายอักเสบได้สูงขึ้นคือ มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป, มีสุขอนามัยช่องปากไม่ดี, ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคางทูม, โรคประจำตัวเริ้อรังบางโรคก็เป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดการติดเชื้อมากขึ้นได้เช่น โรคเอดส์ กลุ่มอาการโจเกรน โรคเบาหวาน ภาวะขาดสารอาหาร โรคพิษสุรา โรคบูลิเมีย (Bulimia) ภาวะปากแห้งน้ำลายน้อย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

การเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่อมน้ำลายอักเสบพบได้ไม่บ่อยนัก หากทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจเกิดตุ่มหนอง และก่อตัวจนเป็นฝีในต่อมน้ำลายได้

ต่อมน้ำลายอักเสบที่เกิดจากเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงอาจทำให้ต่อมน้ำลายขยายใหญ่ขึ้น และส่วนเนื้อที่เป็นเนื้อร้ายก็อาจลุกลามไปอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุที่ทำให้ใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ อาจเป็นเพียงบางส่วนหรืออาจทั้งหมดก็ได้

การรักษาต่อมน้ำลายอักเสบ

การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อ สาเหตุ และอาการร่วมที่เกิดขึ้นเช่นการบวมหรือการเจ็บปวด อาจนำยาปฏิชีวนะมาช่วยใช้ในการรักษาในกรณีที่เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดตุ่มหนอง หรือมีไข้ อาจใช้เข็มในการการเจาะดูด เพื่อระบายฝีหนองร่วมด้วย

การรักษาด้วยตนเอง

  • ดื่มน้ำเปล่าวันละ 8-10 แก้วต่อวันโดยอาจผสมน้ำมะนาวเข้าไปด้วยเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำลายและช่วยทำความสะอาดต่อมน้ำลาย
  • นวดต่อมน้ำลายบริเวณที่เกิดการอักเสบ
  • ประคบร้อนบริเวณต่อมน้ำลายที่เกิดการอักเสบ
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือ
  • อมมะนาวหรือลูกอมรสเปรี้ยวปราศจากน้ำตาลเพื่อช่วยกระตุ้นน้ำลายและช่วยลดอาการบวม

โรคต่อมน้ำลายอักเสบไม่มีความจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามก็อาจมีความจำเป็นในกรณีที่เป็นเรื้อรังหรือเกิดการติดเชื้อซ้ำ โดยการผ่าตัดอาจเป็นการนำเอาบางส่วน หรือทั้งหมดของต่อมน้ำลายออกไป

การป้องกันต่อมน้ำลายอักเสบ

โดยมากแล้วไม่มีวิธีป้องกันการเกิดต่อมน้ำลายอักเสบ ทางเดียวที่เราสามารถทำได้ดีที่สุดคือ การลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ เช่น ดื่มน้ำให้มาก และหมั่นรักษาดูแลสุขภาพในช่องปากด้วยการแปรงฟัน และใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการ

ทุกคนรู้ว่าร่างกายต้องการน้ำอย่างน้อย วันละ 8 แก้ว แต่ที่จริงแล้ว เราสามารถดื่มน้ำได้มากถึงวันละ 2 ลิตร หรือมากกว่าได้อีกนิดหน่อย ในกรณีที่มีน้ำหนักตัวมาก แต่มากน้อยเท่าไหร่ แอดมีวิธีคำนวนมาฝากกัน เพราะน้ำเนี่ยดื่มน้ำก็เกิดโรค แต่ดื่มมากไปก็เป็นอันตรายได้เหมือนกัน

สูตรคือ น้ำหนักตัว x 2.2 x 30 / 2 ก็จะทำกับปริมาณน้ำดื่มในหน่วยมิลลิลิตร

เช่น  น้ำหนักตัว 50 x 2.2 x 30 / 2  = 1,650 ml หรือเท่ากับ ควรดื่มน้ำในปริมาณ 1.65 ลิตร

สำหรับการดื่มน้ำที่ดีคือ ควรดื่ม 2 แก้วหลังตื่นนอน เพราะร่างกายขาดน้ำมาเป็นระยะเวลานานทั้งคืน  แล้วหลังจากนั้นจึง ค่อยๆ จิบทีละนิด

สำคัญอีกอย่างในการดื่มน้ำให้ดีต่อสุขภาพคือ ควรเลือกดื่มน้ำอุ่นๆ และน้ำอุณหภูมิห้องนะคะ

แหล่งที่มาในบทความ

  • webmd
  • clevel and clinic

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

โปรแกรมดื่มน้ำ ใน 1 วัน สลายเครียด ช่วยผิวเปล่งประกาย

ดื่มน้ำ เพื่อกล้ามเนื้อแข็งแรง

ดื่มน้ำอุ่น สิ่งง่ายๆ ดูแลสุขภาพรอบด้าน ประโยชน์เกินคาด

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.