โรคซึมเศร้า

ทำอย่างไรดี เมื่อคนใกล้ชิด เป็นโรคซึมเศร้า

คนใกล้ชิด เป็นโรคซึมเศร้า เราควรต้องทำตัวอย่างไร เรามีข้อมูลดีๆ มาบอก

คุณมีคนใกล้ตัว เป็นโรคซึมเศร้า หรือไม่ โรคนี้ ไม่ใช่แค่อาการอ่อนแอทางจิตใจ แต่คืออาการป่วยทางกายอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น คนที่ไม่ได้ป่วยย่อมไม่สามารถรู้สึกถึงสิ่งที่ผู้ป่วยรู้สึกได้ร้อยเปอร์เซนต์

ยิ่งถ้าคนใกล้ตัวของเราเป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เราจะดูแลพวกเขาอย่างไรให้เข้าใจเขาได้มากที่สุดนี่ คือ คำแนะนำเบื้องต้นว่าอะไรควรทำ และไม่ควรทำ

สิ่งที่ควรทำ

• ชวนผู้ป่วยให้ลุกมาทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหว

ไม่ว่าจะเป็นเล่นกีฬาเบาๆ เล่นเกม ทำงานศิลปะ นอกจากจะลดโอกาสที่จะคิดฟุ้งซ่าน และคิดหดหู่แล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายยังช่วยหลั่งสารความสุขอย่างเอ็นโดรฟินออกมา

• ฟังด้วยความตั้งใจ และท่าทีที่สบายๆ ไม่คะยั้นคะยอ และไม่ตัดสินใจแทน

นั่นเพราะผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองเป็นภาระให้คนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การจะให้ผู้ป่วยพูดคุยระบายความรู้สึก ต้องให้พวกเขารู้สึกก่อนว่ามีคนอยากรับฟัง และไม่กดดัน หรือตัดสินเขา สร้างความไว้วางใจ และบรรยากาศสบายๆ ให้ผู้ป่วยได้เล่าสิ่งที่อยากพูดออกมาเต็มที่ เพราะในบางครั้งเขาอาจมีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง หรืออยากตาย หากว่าคนรอบข้างได้มีโอกาสรับฟัง จะได้สามารถป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ทันท่วงที

โรคซึมเศร้า

สิ่งที่ไม่ควรทำ

• อย่าบอกปัด ผู้ป่วยให้ไปเข้าวัดฟังธรรมหรือทำจิตใจให้สงบ โดยไม่อยู่เคียงข้างพวกเขา เพราะผู้ป่วยจะรู้สึกทันทีว่าไม่มีที่พึ่งพา หรือรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่น่ารำคาญ และยิ่งตีตัวออกห่าง ส่งผลให้เกิดความคิดไม่อยากมีชีวิตอยู่ได้

• อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน หรือไม่อยากพูดถึงเมื่อผู้ป่วยพูดถึงการอยากตาย หลายๆ คนคิดว่าการเอ่ยหรือพูดคุยถึงเรื่องการฆ่าตัวตายกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจเป็นแนวโน้มให้ผู้ป่วยอยากทำ หรือชี้โพรงให้กระรอก แต่ในความเป็นจริงแล้วหากผู้ป่วยเอ่ยถึงการอยากตาย แล้วคนใกล้ตัวกลับมีท่าทีต่อต้าน หรือทำเป็นไม่สนใจเพื่อให้ผู้ป่วยเลิกคิด หรือมีคำพูดทำนองว่า “อย่าคิดมาก” “อย่าคิดอะไรบ้าๆ” ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงอย่างมากว่าเราไม่รับฟังสิ่งที่เขารู้สึกคับข้องใจ ไม่มีวันจะเข้าใจเขาจริงๆ

• อย่ากดดันและเร่งรัด ถ้าผู้ป่วยยังอาการไม่ดีขึ้น ห้ามพูดหรือทำให้พวกเขารู้สึกว่า “เมื่อไหร่จะหาย” หรือ “หายได้แล้ว” เพราะผู้ป่วยจะยิ่งรู้สึกกดดัน และผิดหวัง หากอาการเพิ่งเริ่มดีขึ้น ความเครียดเหล่านี้จะยิ่งส่งผลให้จิตใจแย่ลง และอาจเป็นหนักกว่าเดิม

คำแนะนำ : ควรเข้าหายินดีช่วยเหลือ พร้อมรับฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจ  ไปเป็นเพื่อนเมื่อพบจิตแพทย์เสมอ หากผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าบอกไม่อยากมีชีวิตอยู่ หรืออยากทำร้ายตนเอง อย่าปล่อยให้อยู่คนเดียว

ข้อมูลจาก โรงพยาบาลเปาโล

บทความอื่นที่น่าสนใจ

3 สมุนไพรช่วยนอนหลับ ปรับอารมณ์ให้ผ่อนคลาย

น้ำเอนไซม์ สับปะรด ต้านมะเร็งระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ผักติ้ว ผักพื้นบ้านไทย กินอย่างไรให้ได้ประโยชน์ต่อร่างกาย

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.