โรคอ้วน

โรคอ้วน ทำสุขภาพพังในระยะยาวได้อย่างไร มาดูกัน

โรคอ้วน เป็นหนึ่ง ได้แถมอีกเพียบ

ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหา โรคอ้วน (Obesity disease) รายงานจาก World Obesity Federation ปี.. 2565พบว่าทั่วโลกมีคนเป็นโรคอ้วน ประมาณ 800 ล้านคน  ในจำนวนนี้ 39 ล้านคน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอีกประมาณ 340 ล้านคน เป็นเด็กและวัยรุ่นอายุ 5-19 ปี

ปัญหาโรคอ้วน

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานว่า ในปี พ.ศ. 2559 ความชุก (prevalence) ของปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนในผู้ใหญ่เท่ากับ 39% หรือมากกว่า 1.9 พันล้านคน เป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศไทย ปัจจุบันคนไทยมีภาวะโรคอ้วนเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน รองจากมาเลเซีย และตัวเลขยังขยับขึ้นเรื่อยๆ

โดยข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานความชุกของปัญหาน้ำหนักเกินหรืออ้วนในผู้ใหญ่ ในปีพ.ศ. 2564 อยู่ที่ 47.2% เพิ่มขึ้นจาก 34.7% ในปี 2559 ซึ่งกรุงเทพมหานคร มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงมากที่สุด (56.1%) รองลงมาคือภาคกลาง (47.3%), ภาคใต้ (42.7%), ภาคเหนือ (38.7%), และภาคอีสาน (28.1%) และที่น่ากังวลคือเด็กก็พบปัญหาโรคอ้วนและน้ำหนักเกินเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ในปี พ.ศ. 2564 ความชุกของโรคอ้วนและน้ำหนักเกินในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี อยู่ที่ 9.07%  สูง

ทำความรู้จักกับโรคอ้วน

“โรคอ้วน (Obesity) เป็น 1 ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่ชักนำไปสู่โรคอื่นๆ มากมาย เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไขมันพอกตับ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคข้ออักเสบ โรคภูมิแพ้ โรคภูมิต้านทานต่ำ โรคนอนไม่ดี โรคสมองเสื่อม เป็นต้น” หมอแอมป์ นพ.ตนุพล วิรุฬหการุญ นายกสมาคมแพทย์ฟื้นฟูสุขภาพและส่งเสริมการศึกษาโรคอ้วน กรุงเทพ (BARSO)และประธานคณะผู้บริหาร บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิกกล่าวไว้

การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้อันตรายของโรคอ้วนเด่นชัดขึ้น เพราะตัวเลขของผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่มีอัตราส่วนผู้ป่วยโรคอ้วนสูง

‘ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกแสดงให้เห็นว่า โรคอ้วนเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตและเจ็บป่วยรุนแรงจาก COVID-19 มากถึง 7 เท่า เมื่อเทียบกับคนสุขภาพแข็งแรง’ คุณหมอแอมป์เน้นย้ำความสำคัญ

การวินิจฉัยโรคอ้วนวิธีที่ง่ายที่สุด คือ การวัดรอบเอวก็พอได้ รอบเอวผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว ผู้ชายไม่ควรเกิน 36 นิ้ว หรือใช้การคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index; BMI) มาเป็นตัวบอกได้ โดยคำนวณได้จากการนำน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง ซึ่งถ้าผลที่ได้ มีค่าอยู่ในช่วง 25 – 29.9 กิโลกรัม/เมตร2 จะถือว่ามีน้ำหนักตัวเกิน และถ้าค่าสูงกว่า 30 กิโลกรัม/เมตร2 จะถือว่ามีภาวะอ้วน

อย่างไรก็ตาม คุณหมอแอมป์ อธิบายว่า การใช้ดัชนีมวลกายเพียงอย่างเดียว อาจบอกผลคลาดเคลื่อนได้  เพราะบางคนกระดูกใหญ่บางคนกล้ามใหญ่ บางคนกระดูกเล็ก บางคนบวมน้ำ วิธีมาตรฐานที่ดีที่สุด คือ การตรวจดูองค์ประกอบร่างกาย ด้วย DEXA scan หรือ Dual-energy X-ray absorptiometry ถ้าเป็นผู้ชายไขมันไม่ควรเกิน 28% ถ้าเป็นผู้หญิงไขมันไม่ควรเกิน 32% เพราะผู้หญิงมีมวลไขมันที่สะโพกมากกว่า

ซึ่งมวลไขมันที่มากเกินไปจะสะสมอยู่บริเวณสะโพกต้นขา ต้นแขน และที่อันตรายคือ บริเวณช่องท้อง (Visceral fat) ทำให้เส้นรอบเอวของเราขนาดใหญ่ขึ้นหรือที่เราเรียกว่า อ้วนลงพุงซึ่งไขมันในช่องท้องนี้เองเป็นส่วนที่อันตรายที่สุดเพราะนำไปสู่ความเสี่ยงต่อภาวะเมแทบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) สาเหตุสำคัญของโรคหัวใจเบาหวาน และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs) อีกมากมาย

โรคอ้วน , ความอ้วน, สุขภาพผู้หญิง, อ้วน, ฮอร์โมนอินซูลิน, ลดความอ้วน
หากระดับของอินซูลินไม่สมดุล ทำให้เกิดภาวะไขมันส่วนเกิน ก่อให้เกิดโรคอ้วน

ผลจากโรคอ้วน

  1. เพิ่มความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อาทิ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) หลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ข้อเข่าเสื่อม มะเร็งมากถึง 13 ชนิด โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมมะเร็งมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่มะเร็งตับ และตับอ่อน เป็นต้น
  2. เพิ่มความเสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea; OSA) จากการตีบแคบลงของช่องลำคอ ทำให้ตื่นนอนไม่สดชื่น ง่วงนอนในเวลากลางวัน ประสิทธิภาพการทำงานลดลง
  3. ผู้ป่วยโรคอ้วนมักพบการขาดวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ร่วมด้วย เช่น วิตามินดี วิตามินบี1 วิตามินซี แมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งอาจเกิดจากการเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ สารอาหารน้อย พลังงานสูง

‘หากเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดูแลสุขภาพของตัวเอง ก็จะสามารถหลีกหนีให้ไกลจากโรคอ้วนได้’ คุณหมอ แอมป์จึงขอสรุปเคล็ดลับไว้6 ข้อดังนี้

  1. ในอาหาร 1 จาน 50% เป็นผักหลากหลายชนิด อีก 25 % เป็นโปรตีนที่ดี เช่น ปลา ถั่วและธัญพืช ส่วนที่เหลืออีก 25 % เป็นข้าวแป้งไม่ขัดสี อย่างเช่น ข้าวกล้อง
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์ ไขมันอิ่มตัว เช่น มาการีน ชีส เนื้อสัตว์ติดมัน เนื้อแปรรูป ชานมไข่มุก กาแฟเย็น ขนมเค้กพาย คุกกี้ อาหารฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น
  3. บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง โดยเฉพาะที่มี HFCS สูงเช่น ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เป็นต้น
  4. งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน, ประมาณ 5 วันต่อสัปดาห์
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยควรนอนตั้งแต่ 4 ทุ่ม และนอนให้ได้ 8-9 ชั่วโมงทุกวัน

ที่มา : BDMS Wellness Clinic


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ไขข้อสงสัย 17 งานวิจัยเรื่อง โรคอ้วน และ อาหาร

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน ทำได้จริงหรือไม่

7 อันตราย ที่ตามมากับ โรคอ้วนลงพุง หากปล่อยทิ้งไว้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.