เจาะลึก 5 ฮอร์โมนก่อ “อ้วน” สร้างสมดุล ควบคุมน้ำหนัก

ควบคุมน้ำหนักได้ ไม่โยโย่ ด้วยการปรับสมดุลฮอร์โมน

รู้หรือไม่คะว่า เบื้องหลังของความอ้วนเกิดจากฮอร์โมนทำงานผิดปกติ ซึ่งก็เกี่ยวพันกับพฤติกรรมการกินของเราเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมอื่นร่วมด้วย ดังนั้นถ้ารู้จักปรับสาเหตุที่ทำให้ฮอร์โมนหยุดเพี้ยนได้ เราก็จะสามารถ ควบคุมน้ำหนัก ได้

ว่าด้วยเรื่อง อ้วน แพทย์หญิงพรเพ็ญ พงศทันธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญภูมิแพ้และอาหารปรับฮอร์โมน เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สุขภาพดีวันละ 1 นาที” จะมาเล่าถึงฮอร์โมนที่เป็นต้นเหตุความอ้วนให้ทราบกัน

ฮอร์โมนคืออะไร

คุณหมอพรเพ็ญอธิบายเรื่องของฮอร์โมนไว้ในหนังสือ ไม่อ้วนตลอดไป สำนักพิมพ์ Amarin Health ว่า ฮอร์โมนคือสารเคมีในร่างกายที่สร้างจากต่อมไร้ท่อในอวัยวะต่าง ๆ เช่น สมองส่วนไฮโปทาลามัส ต่อมใต้สมอง ต่อมหมวกไต ต่อมไทรอยด์ ตับ ตับอ่อน รังไข่ อัณฑะ กระเพาะอาหาร ลำไส้ ผิวหนัง เป็นต้น

ฮอร์โมนเป็นตัวทำหน้าที่ส่งต่อ “คำสั่ง” เพื่อให้เซลล์ปลายทางทำงาน “ฮอร์โมนมีอิทธิพลต่อน้ำหนักตัวมากกว่าการได้รับพลังงานถึง 4 เท่า เพราะร่างกายไม่รู้จักคำว่า ‘แคลอรี’ ซึ่งเป็นหน่วยวัดพลังงาน แต่ร่างกายสามารถรับรู้ ‘ปริมาณหรือน้ำหนักอาหาร ชนิดพลังงานจากอาหารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และสารอาหาร’ ได้โดยผ่านตัวรับที่ผนังเซลล์หรือเซลล์ต่าง ๆ แล้วจึงสั่งฮอร์โมนตัวหลักคืออินซูลินให้ออกมาสะสมพลังงานและยับยั้งการเผาผลาญ

“นอกจากนี้ธรรมชาติของฮอร์โมนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกิน เช่น ฮอร์โมนหิวชื่อเกรลิน (Ghrelin) และนิวโรเปปไทด์วาย (Neuropeptide Y) ฮอร์โมนอิ่มชื่อ เลปติน (Leptin) และโคลีซิสโตไคนิน (Cholecystokinin) รวมทั้งฮอร์โมนอื่น ๆ ทุกตัวอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมน ‘อินซูลิน’ ทั้งหมด

“ดังนั้นหากเข้าใจการกินและอาหารว่ามีผลต่อการดูแลฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างไร การกำหนดน้ำหนักตัวก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย เมื่อร่วมกับเข้าใจฮอร์โมนอีก 4 ตัว คือ คอร์ติซอล ไทรอยด์ เอสโทรเจน และโกร๊ธฮอร์โมน ก็จะได้ผลดียิ่งขึ้น”

ควบคุมน้ำหนัก

ปรับสมดุลฮอร์โมน ควบคุมน้ำหนัก

1. ฮอร์โมนอินซูลิน

สร้างจากกรดแอมิโนต่าง ๆ ในตับอ่อนอยู่ภายใต้การทำงานของระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกินอาหารและอดอาหาร คุณหมอพรเพ็ญอธิบายว่า “ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความอ้วนหลัก ๆ คือฮอร์โมนอินซูลินที่เกี่ยวข้องกับการกินอินซูลินผลิตจากตับอ่อนมาดูแลอาหารที่เรากิน เมื่อกินอาหารแต่ละชนิด เช่น แป้ง ไขมัน โปรตีน อินซูลิน จะผลิตออกมาไม่เท่ากัน เช่น การกินอาหาร 100 แคลอรีเท่ากัน ถ้าเป็นแป้งร่างกายจะผลิตอินซูลินออกมา 10 เท่า โปรตีนผลิตอินซูลิน 3 เท่า ส่วนไขมันจะผลิต 0.5 เท่า

ดังนั้นถ้าอินซูลินหลั่งออกมาเยอะก็มีหน้าที่นำน้ำตาลซึ่งส่วนใหญ่มาจากแป้งเข้าไปในเซลล์ แต่คนส่วนใหญ่กินแป้งมาก ใช้ไม่ทัน พอใช้น้ำตาลไม่หมดก็เอาไปเก็บเป็นแป้งสะสมในตับในกล้ามเนื้อ แต่ปรากฏว่าสต๊อกในตับและกล้ามเนื้อ เต็มเพราะไม่ได้ใช้ อินซูลินจึงเปลี่ยนน้ำตาลที่เหลือเป็นไขมัน หรือถ้าโปรตีนไม่ถูกนำไปใช้ก็จะถูกเก็บไปเป็นไขมันเช่นกัน และอินซูลินนำไขมันไปเก็บในที่ที่ไม่ควรเก็บ คือ ช่องท้อง อวัยวะภายในต่าง ๆ เช่น ผนังหลอดเลือด เป็นต้นเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ

นอกจากนี้ฮอร์โมนอินซูลินยังทำหน้าที่อื่น ๆ อีกมากมายและเกี่ยวพันกับความอ้วน ได้แก่ รักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เปลี่ยนน้ำตาลเป็นไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลตัวเลวที่มีรูปร่างเล็ก กระตุ้นการแบ่งเซลล์ทั้งด้านดีและด้านไม่ดี เพิ่มการเก็บน้ำและเกลือไว้ในร่างกาย ทำให้น้ำหนักเพิ่มหรือบวมน้ำ กระตุ้นฮอร์โมนคอร์ติซอลและฮอร์โมนเอสโทรเจนให้เพิ่มปริมาณมากขึ้น ยับยั้งการเผาผลาญไขมันเป็นพลังงาน กระตุ้นฮอร์โมนหิวเกรลินให้ตอบสนองรุนแรง คือหิวมาก

“ยับยั้งฮอร์โมนอิ่มเลปตินจากเซลล์ไขมันไม่ให้ทำงาน คือทำให้ไม่รู้สึกถึงความอิ่มทำให้กินไปเรื่อย ๆ เป็นต้น”

2. ฮอร์โมนคอร์ติซอล

ฮอร์โมนชนิดที่ 2 ที่เกี่ยวพันกับความอ้วนคือ ฮอร์โมนคอร์ติซอล คุณหมอพรเพ็ญอธิบายว่า “ฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนเครียดสร้างจากต่อมหมวกไต เป็นตัวการทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เพิ่มฮอร์โมนอินซูลินให้สูงขึ้น ซึ่งความเครียดนี้ส่วนหนึ่งมาจากภาวะจิต สมองของเรา ความคิดของเรา แต่ส่วนใหญ่ความเครียดเกิดจากการกินผิด ทำให้ร่างกายเครียด จิตใจเครียด

กินผิดที่เห็นได้ง่าย ๆ คือ กินแป้งและน้ำตาลเยอะ ระบบที่จะฟ้องว่าเกิดความเครียดก่อนเลยคือ ระบบทางเดินอาหาร บางคนท้องผูกอุจจาระไม่ออก เครียด กินน้ำตาลมาก ทำให้เชื้อแบคทีเรียชนิดไม่ดีเติบโต จุลินทรีย์ชนิดดีทำงานไม่ได้

เมื่อเครียดไม่เลิก ร่างกายจะสะสมฮอร์โมนเครียด เกิดการตอบสนองด้านลบ เรียกว่าภาวะดื้อคอร์ติซอล ร่วมกับต่อมหมวกไตล้าเพราะถูกกระตุ้นให้ทำงานมากเกินไป ผลที่ตามมาคือ อ้วนลงพุง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง อยากอาหารหวาน เค็ม ไขมันสะสมที่แก้ม โหนกคอด้านหลัง อ่อนเพลีย

3. ฮอร์โมนเอสโทรเจน

คุณหมอพรเพ็ญเล่าถึงฮอร์โมนชนิดที่ 3 คือเอสโทรเจนว่า “ฮอร์โมนเอสโทรเจนมีรูปแบบการสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเครียด คือ ฮอร์โมนอินซูลินกระตุ้นให้สร้างฮอร์โมนเอสโทรเจนด้วย โดยฮอร์โมนเอสโทรเจนเป็นฮอร์โมนที่สร้างจากไขมันที่เก็บไว้ นอกจากนี้ยังมีเอสโทรเจนแฝงเจือปนในอาหาร สัตว์ที่เลี้ยงโดยใช้ฮอร์โมน ยาคุมกำเนิดที่มาจากฮอร์โมนม้า พืชที่มีไฟโตรเอสโทรเจน สารคล้ายฮอร์โมนเอสโทรเจนที่มาจากพลาสติก ยาฆ่าแมลง เครื่องสำอาง เป็นต้น

ปัญหาของเอสโทรเจนต่อความอ้วน โดยเฉพาะวัยทอง เราจะเรียกว่าความห่างของฮอร์โมน ธรรมชาติจะสร้างโพรเจสเทอโรนพร้อมกับเอสโทรเจนเพื่อมายันกันไว้ มาต้านฤทธิ์กัน เอสโทรเจนทำให้อ้วน โพรเจสเทอโรน
ทำให้ผอม ออกฤทธิ์ต้านกันไป

แต่คนส่วนใหญ่สร้างแต่เอสโทรเจน เพราะอะไร เพราะหากร่างกายมีระดับอินซูลินสูงจะสั่งให้สร้างแต่ฮอร์โมนเอสโทรเจน ไม่สร้างฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน ซึ่งโพรเจสเทอโรนสร้างจากต่อมหมวกไตโดยใช้ไขมันดี แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้กินไขมันที่ดีพอ จึงสร้างโพรเจสเทอโรนน้อย ร่วมกับยิ่งมีการหลั่งฮอร์โมนเครียด ก็ทำให้การสร้างโพรเจสเทอโรนน้อยลงเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทองที่สะสมฮอร์โมนอินซูลินเกินมาตั้งแต่อายุน้อย ๆ กินผิดมาตลอด มีความเครียดสะสมเรื่อยมา ทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความอ้วนพีคสุด ๆ คืออ้วนไม่หยุด

4. ฮอร์โมนไทรอยด์

ฮอร์โมนชนิดที่ 4 ที่คุณหมอพรเพ็ญอธิบายคือ ฮอร์โมนไทรอยด์
“ฮอร์โมนไทรอยด์ทำหน้าที่ช่วยเผาผลาญไขมัน ปัจจัยอะไรที่ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานผิดปกติ นั่นคือ มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลิน เอสโทรเจน คอร์ติซอลสูง จึงไปยับยั้งการทำงานของฮอร์โมนไทรอยด์ ทำให้เกิดการเผาผลาญไขมันได้น้อยลง

นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความผิดปกติของต่อมไทรอยด์เอ เช่น ภาวะอักเสบ ต่อมไทรอยด์โต คอพอก โรคที่เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันที่ไปกระตุ้นให้ไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เหล่านี้จะส่งผลให้ฮอร์โมนไทรอยด์ผิดปกติ การเผาผลาญลดลง ส่งผลต่อความอ้วนและการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว”

HORMONE BALANCE
ควบคุมน้ำหนัก ลดไขมันได้จริง

วิธีจะทำให้ฮอร์โมนสมดุลนั้น คุณหมอพรเพ็ญอธิบายว่า “จริง ๆ คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มอายุสั้นลงเพราะมีความผิดปกติของฮอร์โมนตั้งแต่เด็ก ๆ เกิดจากการกินอาหารแปรรูป อาหารที่ผ่านกระบวนการเลี้ยงด้วยฮอร์โมน อายุไม่เท่าไรก็เป็นโรคอ้วน เบาหวาน ความดันกันแล้ว

ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้เพื่อลดปัญหาฮอร์โมนผิดปกติ โดยเฉพาะฮอร์โมนอินซูลินที่เป็นต้นเหตุของปัญหาหลายอย่าง คือ

  1. กินอาหารธรรมชาติจากแหล่งที่ปลอดภัย เช่น การเลี้ยงหรือปลูกแบบออร์แกนิก
  2. ไม่กินอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ลดปริมาณคาร์โบไฮเดรตลง กินน้ำตาลให้น้อยลง เพราะทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มเร็ว กระตุ้นอินซูลินอย่างรุนแรง ผงชูรสทำให้สมองไม่รู้จักความอิ่ม น้ำมันพืชที่ผ่านกรรมวิธีทำให้เกิดการอักเสบ
  3. ลดการรับสารเคมีปนเปื้อนจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ฮอร์โมน สี กลิ่น รสสังเคราะห์ สารกันบูด ยาฆ่าแมลง พลาสติก ทำให้ร่างกายอักเสบกระตุ้นฮอร์โมน เช่น เอสโทรเจน อินซูลิน

เหล่านี้คือกลไกการทำงานของฮอร์โมนที่เกี่ยวพันกับความอ้วน ซึ่งหากเรารู้ว่ามีสาเหตุจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลก็ควรกินแต่พอดี เพื่อสุขภาพโดยรวมและการป้องกันโรคอ้วนค่ะ

เรื่อง ชมนาด

บทความน่าสนใจอื่นๆ

เดิน ขึ้น-ลงบันได เร่งการเบิร์น ช่วยลดน้ำหนัก

แจก ตารางลดน้ำหนัก 14 วัน รีเซ็ตสุขภาพ สไตล์ชีวจิต

ป้องกันโรคหัวใจ ทำได้ง่ายๆ ด้วยการออกกำลังกาย

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสารชีวจิต


© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.