โรคความดันโลหิตสูง

12 FACTORS ปัจจัยก่อ โรคความดันโลหิตสูง

12 FACTORS ปัจจัยก่อ โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง การทราบปัจจัยเกิดโรคจะเป็นแนวทางที่นำมาใช้ในการลดความเสี่ยงโรคนี้ได้ ข้อมูลจากบทความทางวิชาการเรื่อง “การสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพของประชากรวัยทำงานเพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูง” ตีพิมพ์ในวารสารสุขภาพภาคประชาชน กองสนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข

ระบุถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มี 4 ข้อ ดังนี้

  • พันธุกรรม ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วย เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นโรคนี้ ร้อยละ 20 – 40 และมีโอกาสป่วยโรคนี้สูงกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติดังกล่าว 3 เท่า
  • เพศ ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้หญิง
  • อายุ เมื่อเข้าสู่วัย 35 ปี ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมน และสรีระที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เพิ่มโอกาสเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่อายุ 40 ปีขึ้นไป ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดจะลดลง ทำให้โอกาสเป็นโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น
  • เชื้อชาติ โดยเฉลี่ยคนผิวสีจะมีระดับความดันโลหิตสูงกว่าคนเชื้อชาติอื่น

2. ปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงได้หรือปัจจัยเชิงพฤติกรรม มี 8 ข้อ ดังนี้

  • น้ำหนักเกิน หากมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์มาตรฐาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง กรณีที่เป็นโรคอ้วน คือมีค่าดัชนีมวลกาย 25 ขึ้นไป จะเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง 2.9 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ปกติ BMI 18.5 – 22.9
  • กินอาหารที่มีโซเดียมเกิน เมื่อร่างกายได้รับโซเดียมจำนวนมาก เซลล์เม็ดเลือดแดงจะเพิ่มปริมาณน้ำในเซลล์ ส่งผลต่อการไหลเวียนโลหิต และทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น
  • กินอาหารที่มีไขมันสูง เมื่อมีไขมันส่วนเดกินไปจับอยู่ตามผนังหลอดเลือด เลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก ร่างกายจึงต้องใช้แรงดันที่สูงขึ้นเพื่อทำให้เลือดไหลเวียนได้
  • กินผักผลไม้น้อย ทำให้ร่างกายขาดวิตามิน โดยเฉพาะวิตามินซีที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปจับกับคอเลสเตอรอล ทำให้คอเลสเตอรอลละลายในน้ำได้ ลดการอุดตันของไขมันในหลอดเลือด แต่ถ้าวิตามินซีต่ำ ก็จะเกิดการสะสมของไขมันตามหลอดเลือดมากขึ้น และทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้นได้
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินมากขึ้น หรือจากการยับยั้งฮอร์โมนที่ช่วยขยายเส้นเลือดตามธรรมชาติ จึงส่งผลให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น
  • ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ เพิ่มการออกซิเดชั่นของไขมัน ทำให้ปริมาณของเซลล์ไขมันเพิ่มขึ้น ความเสี่ยงความดันโลหิตสูง จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
  • ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น จากการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายระดับปานกลาง เช่น ปั่นจักรยาน เดินเร็วเป็นประจำ ลดความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัวได้ถึง 10 มิลลิเมตรปรอท
  • มีความเครียดสะสม เมื่อเกิดภาวะเครียดหัวใจจะบีบตัว ทำให้ปริมาณเลือดที่ออกจากหัวใจเพิ่มขึ้น กระตุ้นระบบประสาทซิมพาเทติกให้ทำงานมากขึ้น ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย

5 C O M P L I C A T I O N S

ข้อมูลจากบทความทางวิชาการดังกล่าว อธิบายว่า หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง โดยไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ จะเกิดภาวะแทรกซ้อนส่งผลต่ออวัยวะต่าง ๆ ดังนี้

  • สมอง ทำให้หลอดเลือดสมองตีบ แคบ อุดตัน และแตก เมื่อหลอดเลือดแตกจะทำให้เนื้อสมองบางส่วน ไม่ได้รับเลือดไปเลี้ยงเกิดภาวะสมองขาดเลือด และกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
  • หัวใจ ทำให้โครงสร้างของหัวใจเปลี่ยนแปลง ลดประสิทธิภาพการทำงานลง หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง จะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตผิดปกติ เกิดเลือดคั่ง และอาจทำให้เสียชีวิต
  • ไต ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กที่อยู่ในไตเสื่อมไป อัตราการกรองของไตลดลง หลอดเลือดในไตแข็งตัว และเกิดไตวายตามมา
  • ดวงตา ทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กในดวงตาหดตัว ถ้าปล่อยให้ความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง จะทำให้หลอดเลือดขนาดเล็กในดวงตาเริ่มแข็งตัว หากหลอดเลือดในจอประสาทตาแตก เกิดเลือดออกจะทำให้ตาบอด
  • หลอดเลือดส่วนปลาย เช่น ปลายมือ ปลายเท้า ถ้าความดันโลหิตสูงต่อเนื่อง จะทำให้หลอดเลือดตีบ เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้ เกิดอาการชาตามปลายมือปลายเท้า หากปล่อยทิ้งไว้นาน ๆ จะทำให้เลือดไปเลี้ยงไม่สะดวก เมื่ออวัยวะส่วนปลายขาดเลือดจะเกิดการเน่าตายได้

เรื่อง ศิริกร โพธิจักร

ภาพ iStock

ชีวจิต 521

ยำต้นอ่อนทานตะวัน เมนูโซเดียมต่ำ ป้องกันความดันโลหิตสูง

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)

กุ้งสดแกะเปลือก 6 ตัว
ต้นทานตะวัน 1 1/2 ถ้วย
ผักกาดหอม 1/2 ถ้วย
มะเขือเทศราชินี ผ่าครึ่ง 2 ช้อนโต๊ะ
เมล็ดทานตะวันอบ(ไม่ใส่เกลือ) 1/2 ช้อนโต๊ะ
เมล็ดฟักทองอบ(ไม่ใส่เกลือ) 1/2 ช้อนโต๊ะ
น้ำมันรำข้าว 1 ช้อนโต๊ะ
กระเทียมสับ 1/2 ช้อนโต๊ะ
พริกขี้หนูหั่นหยาบ 7 เม็ด
น้ำมะนาว 1 ช้อนโต๊ะ
เกลือ 1/2 ช้อนชา
น้ำตาลปี๊บ 1/2 ช้อนชา

วิธีทำ

  1. แบ่งกระเทียมสับออกมาเล็กน้อยผสมน้ำมันรำข้าว นำมาคลุกเคล้ากับกุ้งสดให้เข้ากัน นำไปย่างพอสุก
  2. เตรียมน้ำยำ ผสมกระเทียมสับที่เหลือกับพริกขี้หนู ปรุงรสด้วยน้ำมะนาว เกลือ น้ำตาลปี๊บ
  3. จัดต้นอ่อนทานตะวัน ผักกาดหอม มะเขือเทศราชินีใส่จานราดน้ำยำ โรยเมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง เสิร์ฟพร้อมกุ้งย่าง

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ลีลาศบำบัด มะเร็งเต้านม

ชวนกิน 5 อาหารบำรุงฮอร์โมนเพศหญิง ป้องกันโรค

6 โรคเสี่ยงจาก ฮอร์โมนเพศหญิงเกิน

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.