ดูแลสุขภาพฟัน

กินเป็น ช่วยรักษาสุขภาพฟัน บอกลาฟันผุ คราบหินปูน

กินเป็น ช่วยรักษาสุขภาพฟัน บอกลาฟันผุ คราบหินปูน

รักษาสุขภาพฟัน คำนี้คนรักฟันและต้องการมีฟันสวยดูดี ต้องอ่าน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรื่องของอาหารมีความสัมพันธ์กับสุขภาพฟัน และช่องปากอย่างใกล้ชิด เริ่มตั้งแต่การสร้างฟันและกระดูกของทารกในครรภ์ เพราะมารดาควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแคลเซียมและฟอสฟอรัส เพื่อเสริมสร้างฟันและกระดูก ซึ่งแร่ธาตุทั้งสองชนิดนี้จะพบมากในอาหารจำพวกเต้าหู้ งา อาหารทะเล ไข่ นม และผักใบเขียว เป็นต้น

เมื่อทารกเจริญเติบโตขึ้น จนกระทั่งสามารถรับประทานอาหารเองได้ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรให้บุตรหลานรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมถึงพาไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ฟลูออไรด์เฉพาะที่อย่างเจลฟลูออไรด์(Fluoride Gel) หรือฟลูออไรด์วานิช (Fluoride Varnish) ซึ่งเป็นวิธีป้องกันฟันผุที่ได้ผลดี

รักษาสุขภาพฟันให้ดี ต้องรู้ว่าฟันขาวและฟันเหลือง แตกต่างกันอย่างไร 

ฟันขาวและฟันเหลือง แน่นอนว่าต้องดูแตกต่างกัน โดยเฉพาะความคิดที่ว่า สีของฟันคือตัวบอกสุขภาพปากและสุขภาพฟัน แต่ที่จริงแล้ว สีของฟันขึ้นอยู่กับที่สิ่งที่เรียกว่า “เคลือบฟัน” โดยจะเปลี่ยนแปลงไปตามความหนาแน่นของเคลือบฟันซึ่งอยู่ด้านนอกสุดของเนื้อฟัน ยิ่งผิวเคลือบฟันมีความหนาแน่นเท่าไร ฟันของเราก็จะยิ่งขาวเท่านั้น เพราะตัวเคลือบฟันจะมีสีขาว คลุมตัวเนื้อฟันซึ่งมีสีเหลืองเอาไว้ แต่เมื่อเราอายุมากขึ้น ผิวเคลือบฟันจะค่อยๆ จางลงจนเห็นตัวเนื้อฟัน ส่งผลให้ฟันมีสีเหลือง ดังนั้น ความ เชื่อที่ว่าฟันขาวจะแข็งแรงกว่าฟันเหลืองจึงไม่เป็นความจริงทั้งหมด

ทั้งนี้ พื้นที่ตามแหล่งน้ำธรรมชาติบางแห่งมีฟลูออไรด์ค่อนข้างสูง เช่น ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ดังนั้น จึงต้องระมัดระวังการให้ฟลูออไรด์เสริมแก่เด็ก เพราะด้วยปริมาณฟลูออไรด์ที่มากเกินปกติ ในระหว่างการสร้างฟัน ฟลูออไรด์จะไปขัดขวางการสร้างเคลือบฟัน ทำให้ผิวฟันเป็นรูพรุน มีสีขาวขุ่น ผิวเคลือบฟันมีความแข็งแรงน้อยกว่าปกติ ซึ่งจะเรียกภาวะนี้ว่า “ฟันตกกระ”

อาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคฟันผุได้ เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ย่อยแป้งและน้ำตาลเกิดเป็นกรดกัดกร่อนผิวฟัน อีกทั้งน้ำตาลยังก่อให้เกิดการจับตัวเป็นคราบจุลินทรีย์ (Plaque) ที่เหนียวเกาะฟัน ทำให้มีความเสี่ยงที่ผิวเคลือบฟันถูกทำลายมากยิ่งขึ้น พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงควรหลีกเลี่ยงให้เด็กรับประทานอาหารหวานที่เหนียวติดฟัน แป้งกรุบกรอบ หรือควรให้รับประทานพร้อมมื้ออาหาร เพื่อลดความถี่และช่วงเวลาที่สัมผัสฟันในช่องปาก

ส่วนแป้งจำพวกคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น โฮลวีท ธัญพืชไม่ขัดสี ผักและผลไม้ ที่นอกจากจะมีวิตามินที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังมีไฟเบอร์ (Fiber) ที่ช่วยขัดและกำจัดคราบจุลินทรีย์ที่เกาะอยู่ตามผิวฟัน จึงช่วยลดการเกิดฟันผุและคราบหินปูนจากแคลเซียมในน้ำลายมาสะสมจับบนคราบจุลินทรีย์ที่ผิวฟัน

การเคี้ยวเส้นใยอาหารเป็นการทำความสะอาดขัดฟันในขณะที่รับประทาน กระตุ้นการไหลเวียนของน้ำลายขึ้น ช่วยชะล้างเศษอาหารที่เหลืออยู่ออกไป ช่วยป้องกันโรคเหงือก ลดการสูญเสียฟันและปัญหากลิ่นปาก

สารแอนโธไซยานินจากผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ อย่าง บลูเบอร์รี่ แครนเบอร์รี่ และราสเบอร์รี่ มีสารแอนโธไซยานิน ที่ป้องกันการเกาะติดและของแบคทีเรียในช่องปากได้ ทั้งยัง ช่วยขัดขวางกระบวนการสร้างแบคทีเรียซึ่งทำให้เกิดคราบพลัคและฟันผุน้อยลง

รักษาสุขภาพฟัน

นอกจากนี้แคลเซียม ยังเป็นส่วนประกอบหลักของฟัน ช่วยในเรื่องการเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง และการทานอาหารที่มีแคลเซียม เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม เนย โยเกิร์ต อาหารทะเล กุ้ง ปลาแซลมอน หอยนางรม ผักตระกูลกะหล่ำ ถั่ว และมะเดื่อ จึงช่วยนำแร่ธาตุที่จำเป็นกลับคืนสู่ฟัน และแคลเซียมยังช่วยในการผลิตและการไหลของน้ำลาย น้ำลายเป็นสิ่งสำคัญเพราะช่วยปรับกรดในปากของคุณให้เป็นกลาง ล้างเศษอาหาร และลดแบคทีเรียในช่องปาก

อย่างไรก็ตาม ผลไม้รสเปรี้ยว น้ำผลไม้ หรือน้ำอัดลมที่มีความเป็นกรดสามารถละลายผิวเคลือบฟันได้ ทำให้ฟันกร่อนและเกิดอาการเสียวฟันตามมา ควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง เช่น กระดูกหรือน้ำแข็ง เพราะอาจทำให้ฟันร้าว ฟันบิ่นและแตกได้ ที่สำคัญคือ ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้ช่องปากแห้งและเกิดการไหลเวียนของน้ำลายในช่องปาก รวมถึงยังช่วยลดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ได้อีกด้วย

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ช่วยบำรุงฟันให้แข็งแรงก็คือ “น้ำ” เพราะน้ำ นอกจากจะช่วยให้ระบบต่างๆ ภายในร่างกายทำงานเป็นปกติแล้ว น้ำยังมีต่อสุขภาพปากด้วย เพราะร่างกายต้องการน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำลาย ซึ่งมีประโยชน์ต่อ ฟันมาก เพราะน้ำลายจะลดความเป็นกรดในช่องปาก จึงช่วยป้องกันฟันผุ อย่างไรก็ดีคำแนะนำที่ว่าคนเราควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว อาจจะเป็นคำแนะนำที่ไม่จริงเสมอไป เพราะบางครั้ง ร่างกายของคนบางคนก็ต้องการน้ำมากกว่านั้น เช่น นักกีฬาที่ต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดด ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจต้องการน้ำน้อยกว่า เช่น ผู้สูง อายุที่อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น ดังนั้นวิธีที่จะรู้ว่าคุณควรดื่มน้ำปริมาณเท่าไร คือ ให้สังเกตจากสีของปัสสาวะ หากมีสีเข้มแสดงว่าคุณดื่มน้ำน้อยไป ควรดื่มให้มากขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าอาหารแต่ละชนิดที่รับประทานในแต่ละวันนั้นมีทั้งที่ส่งเสริมและทำให้เกิดปัญหากับสุขภาพฟัน ดังนั้นเพื่อรักษาสุขอนามัยของช่องปาก หลังรับประทานอาหารทุกครั้งควรแปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ หรืออย่างน้อยที่สุด ควรใช้น้ำยาบ้วนปากเพื่อชะล้างคราบอาหาร ช่วยลดความเป็นกรดในช่องปาก และอย่าลืมใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดบริเวณซอกฟันอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนนอน เพราะการแปรงฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำความสะอาดเข้าถึงบริเวณซอกฟันได้ และถึงแม้จะดูแลสุขภาพช่องปากเป็นอย่างดีแล้ว ควรพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันทุก 6 เดือน(ข้อมูลจาก: ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์)

การบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เน้นอาหารที่มีกากใย อุดมด้วยวิตามิน แร่ธาตุ โดยเฉพาะแคมเซียม แมกนีเซียมช่วยบำรุงฟัน และทานอาหารครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหาร ซึ่งอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นกรดและน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการการสึกหรอของฟัน ทำให้เกิดฟันผุ เป็นการป้องกันสาเหตุที่อาจนำไปสู่โรคเหงือก โรคเหงือกรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียฟันในผู้ใหญ่

บทความอื่นที่น่าสนใจ

นอนกัดฟัน อันตรายยามหลับ ต้องระวังไม่แพ้นอนกรน

ดูแลตัวเอง หลังจาก ผ่าฟันคุด เพื่อแผลหายเร็ว

“อาการเสียวฟัน ” ป้องกันได้ตั้งแต่วันนี้!

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 AME IMAGINATIVE COMPANY LIMITED.