ไขความจริง อาหารเช้า จำเป็นกับเราทุกคนจริงหรือ
อาหารเช้า จำเป็นไหม เว้นได้หรือเปล่า หรือว่าต้องกินทุกวันเพื่อไปเสริมพลังให้สมอง? เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย วันนี้แอดเลยมีคำตอบ จาก 2 ผู้เชี่ยวชาญในวงการสุขภาพ ที่จะมาช่วยตอบคำถามที่หลายคนค้างคาใจ เอ๊ะ หรือจะเป็นเพิ่มความค้างคาใจกันแน่ อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย
คำตอบเรื่อง อาหารเช้า จากคุณหมอ
คำตอบแรกเป็นคำตอบจาก คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ คุณหมอศัลยแพทย์ ผู้ผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจมากกว่าสองพันราย และมีงานวิจัยเรื่องของอาหาร และโรคหัวใจมากมาย ได้ให้แง่มุมของเรื่องการกิน อาหารเช้า ไว้อย่างน่าสนใจมากๆ เลยทีเดียวค่ะ ว่า
ร่างกายมนุษย์นี้ดูเผินๆ เหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน เราอาจจะคิดว่ายีนของเราทำให้เราไม่เหมือนกัน นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่ว่ายีนของเราซึ่งมีอยู่ราว 25,000 แบบนั้นเหมือนกันเสีย 97 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นฝาแฝดไข่ใบเดียวกันที่มียีนเหมือนกัน 100 เปอร์เซ็นต์
แต่งานวิจัยฝาแฝดไข่ใบเดียวกันก็พบว่า ร่างกายของคู่แฝดไม่ได้เหมือนกัน อย่าว่าแต่ 100 เปอร์เซ็นต์ เลย แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ ก็ยากแล้ว เพราะคู่แฝดบางคู่ทั้งๆ ที่เติบโตมาในบ้านเดียวกัน อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน กินอาหารเหมือนกัน แต่คนหนึ่งอ้วน อีกคนหนึ่งผอม
เออ.. แล้วอะไรละที่ทำให้ร่างกายคนเราไม่เหมือนกันทั้งๆ ที่ยีนก็เหมือน อาหารก็เหมือน สิ่งแวดล้อมก็เหมือน งานวิจัยพบว่าสิ่งที่ไม่เหมือนกันคือชนิดของจุลินทรีย์ในลำไส้ของคู่แฝด งานวิจัยพบว่าที่เหมือนกันมีเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ อีก 75 เปอร์เซ็นต์ ไม่เหมือนกัน ทำให้การสนองตอบต่ออาหารและปัจจัยแวดล้อมต่่างกัน
ดังนั้นการเกิดมาเป็นคนเมื่อคิดจะดูแลสุขภาพด้วยตนเองต้องเข้าใจบทที่ 1 ก่อนว่าร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้นคำแนะนำของหมอสันต์คำเดียว ไม่อาจใช้ได้กับทุกคนทุกที่ทุกเวลาได้ แต่ช่วยให้เข้าใจความรู้พื้นฐานในเรื่องร่างกายมนุษย์ว่ามันทำงานอย่างไร ช่วยให้ข้อมูลหลักฐานวิทยาศาสตร์ว่า การกินการใช้ชีวิตมันมีผลต่อโรคในภาพใหญ่อย่างไร แล้วเอาความรู้เหล่านี้ไปทำการปฏิบัติทดลองกับตัวเอง ติดตามวัดผลดูว่าวิธีนี้ได้ผลไหม ไม่ได้ผลก็เปลี่ยนไปทดลองวิธีใหม่
1. ถามว่าไม่กินอาหารเช้าได้ไหม
ตอบว่า ได้ครับ ตำรวจไม่จับ งานวิจัยชนเผ่า Hansa ที่ประเทศแทนซาเนียพบว่า เผ่านั้นไม่มีศัพท์คำว่าอาหารเช้า เพราะตื่นเช้าแต่ละคนก็ไปทางใครทางมัน ผัวฉวยหน้าไม้เข้าป่าไปล่าสัตว์ เจอลูกเบอรี่ริมทางก็เด็ดกินไป ไม่ได้ดูนาฬิกาหรอกว่าถึงเวลาอาหารเช้าหรือยัง ส่วนเมียนั้นก็ตักน้ำผ่าฟืนอยู่จนสาย หิวมากก็เอาลูกเบาบับมาคุ้ยๆ คลุุกๆ จนเละเหมือนข้าวต้มแล้วกิน ไม่ได้ดูนาฬิกาเหมือนกัน เพราะว่าไม่มีนาฬิกาให้ดู
2. ถามว่าไม่กินอาหารเช้ามีผลต่อร่างกายอย่างไร
ตอบว่า ขึ้นอยู่กับร่างกายของคนๆ นั้นว่าเดินเครื่องตามตะวัน ในลักษณะเดินนำ หรือเดินตาม หมายความว่าเข้านอนกี่โมง ตื่นกี่โมง ก่อนเข้านอนกินอะไรบ้างตอนกี่โมง กลไกควบคุมการหิวการอิ่มอยู่ในระยะไหน หมายความว่าเช้าๆ หิวหรือเปล่า? ลมค้างในระบบย่อยอาหารเยอะไหม การเคลื่อนไหวร่างกายก่อนนอนและในช่วงเช้ามากหรือน้อย นอนหลับหรือนอนไม่หลับ
ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือจุลินทรีย์ในลำไส้ของคนๆ นั้นเป็นแบบไหน หลากหลายหรือไม่หลากหลาย ถนัดย่อยอาหารแบบมีกากหรือไร้กาก ผลต่อร่างกายก็จะแตกต่างหลากหลายไปตามปัจจัยเหล่านี้ คนที่จะรู้ได้มีคนเดียว คือเจ้าตัว ด้วยการสังเกตทดลองกับตัวเอง ลองกิน แล้วติดตามดูผล ลองไม่กิน แล้วติดตามดูผล กรณีเป็นโรคอยู่และมีเครื่องมืออยู่แล้วเช่น เป็นเบาหวานการติดตามดูผลก็เจาะน้ำตาลในเลือดดูเอง
กรณีไม่มีเครื่องมืออะไรมากก็ใช้ตัวชี้วัดง่ายๆ เช่น เครื่องชั่งน้ำหนัก และเครื่องวัดความดัน เรื่องที่ต้องไปเจาะเลือดดูเช่นน้ำตาลในเลือด ไขมันในเลือด ก็ตั้งรอบของการประเมินไว้ห่างหน่อย เช่น ทำการทดลองให้นานสามเดือน หกเดือนค่อยไปเจาะเลือดดูที่คลินิกปากซอยทีหนึ่ง
ทำอย่างนี้จึงจะตอบคำถามของคุณได้ และเป็นคำตอบที่จะใช้ได้กับคุณคนเดียว คนอื่นก็ต้องทดลองกับตัวเองจึงจะได้คำตอบ
คำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ
อีกท่านที่ให้คำตอบเรื่องอาหารเช้าไว้อย่างน่าสนใจคือ ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย และยังคร่ำหวอดในวงการโภชนาการ ดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายวิชาการ ชมรมโภชนวิทยามหิดล ได้ให้คำตอบไว้ว่า
อาหารเช้าเป็นสิ่งสำคัญมาก มีคำกล่าวไว้ว่า “Eat breakfast like a king” คือให้ทานเต็มที่ในมื้อเช้า และทานอย่างยาจกในมื้อเย็น แต่วิถีชีวิตของเรานั้นกลับตาลปัตร ด้วยการอดในมื้อเช้า แต่ทานเยอะในมื้อเย็น ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้กับร่างกาย.
โดยพฤติกรรมการทานเยอะในมื้อเย็น ถือเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักการใช้ชีวิตตามนาฬิกาชีวิต ที่ในช่วงเช้าร่างกายจะหลั่งโดปามีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้รู้สึกมีความสุข ร่างกายกระตือรื้อร้นพร้อมทำงาน ในขณะที่ช่วงเย็นร่างกายจะหลั่งสารเมลาโทนินที่ช่วยให้นอนหลับออกมา
ซึ่งการใช้ชีวิตที่ขัดกับหลักนาฬิกาชีวิตเช่นนี้มีงานวิจัยพบว่า ผู้ที่อดมื้อเช้าจะทำให้หิวระหว่างวันบ่อยๆ เนื่องจากร่างกายหลั่งสารเลปติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้อิ่มออกมาน้อย จึงหิวได้บ่อยๆ อีกทั้งยังเกิดการเผาผลาญต่ำ ร่างกายผลิตยีนส์สังเคราะห์ไขมันมากขึ้น รวมถึงทำให้เซลล์ชะลอวัยลดน้อยลง
หลักสำคัญของการกินมื้อเช้าที่มีคุณภาพคือ ทานให้ได้สารอาหารครบถ้วน เน้นโปรตีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ไขมันดี และไฟเบอร์ โดยโปรตีนจะช่วยเพิ่มโดปามีน คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนช่วยไม่ให้น้ำตาลในเลือดพุ่งสูง จึงไม่กระตุ้นอินซูลินมากเกินไป ไขมันดีโดยเฉพาะ MCT oil จะนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที ไม่สะสมเป็นไขมันส่วนเกิน แถมยังช่วยให้อิ่มนาน อยู่ท้อง และไฟเบอร์จะช่วยควบคุมน้ำตาลได้ตั้งแต่มื้อแรกของวัน ไปจนถึงมื้อค่ำเลยทีเดียว
ที่มา
- นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
- ผศ.ดร.เอกราช บำรุงพืชน์
เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รวม ผักพื้นบ้าน คุมน้ำตาล ความดัน ลดเสี่ยงมะเร็ง
อาหารเพื่อผู้ป่วยโรคหัวใจ ช่วยให้หัวใจแข็งแรง
ติดตามชีวจิตได้ที่