รวม ผักพื้นบ้าน คุมน้ำตาล ความดัน ลดเสี่ยงมะเร็ง

ผักพื้นบ้าน ผักที่หากินง่ายๆ หาได้ทั่วไปไม่ว่าจะในตลาด หรือแม้แต่ริมรั้ว ริมสวน จนหลายคนละเลย แต่รู้ไหมคะ ผักธรรมดาเหล่านี้มีประโยชน์มากๆ สรรพคุณเป็นยามากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุมน้ำตาล ควบคุมความดันให้เป็นปกติ หรือบางชนิดก็ถึงช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้เลย ไปดูกันดีกว่า ว่าผักผักพื้นบ้านเหล่านี้มีอะไรบ้าง

หัวไชเท้า ลดน้ำตาลในเลือด ลดไอ เจ็บคอ

หัวไชเท้า เป็นพืชหัวในตระกูล Cruciferae จัดอยู่ในวงศ์ผักกาด มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ภาสกิจ วัณณาวิบูล แพทย์แผนปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายไว้ในหนังสือ หายป่วย สุขภาพดี ด้วยอาหารและสมุนไพรจีน ว่า หัวไชเท้ามีฤทธิ์เย็น มีรสเผ็ด หวาน สรรพคุณช่วยขับพิษ บรรเทาอาการท้องร่วง ท้องเสีย โรคบิด ขับปัสสาวะ กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว แก้ไอ ขับเสมหะ ลดน้ำตาลในเลือด บรรเทาอาการเลือดกำเดาไหล และแก้อาเจียน

ผักพื้นบ้าน หัวไชเท้า แก้ไอ

ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า หัวไชเท้ามีแคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก และมีวิตามินบี 1 บี 12 ไนอะซิน วิตามินชีสูง อีกทั้งในน้ำคั้นหัวไชเท้าสดยังมีเอนไซม์ช่วยย่อยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน จึงมีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องผูกได้

นอกจากนั้นยังมีประโยชน์ด้านความสวย ความงาม คือ สามารถนำน้ำคั้นหัวไชเท้ามาทาเพื่อลบจุดด่างดำและฝ้าบนใบหน้าได้ ประเด็นดังกล่าวชีวจิต ได้ค้นคว้าและตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่ามีความเป็นไปได้ ดังที่ข้อมูลจากสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ในน้ำคั้นสดของหัวไชเท้ามีสารสกัดเอทานอลและสารสกัดเอทิลอะซิเทต ช่วยยับยั้งเอนไซม์ไทโรชิเนส (Tyrosinase) ซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดสีได้ ดังนั้นจึงช่วยลบเลือนจุดด่างดำได้ แต่ต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร

ทั้งนี้นายแพทย์ภาสกิจได้แนะนำสูตรง่ายๆ สำหรับการนำหัวไชเท้ารักษาอาการต่างๆ คือ

สูตรน้ำคั้นหัวไชเท้า -ขิง

สรรพคุณบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะ และเป็นยาระบายอ่อน ๆ

วัตถุดิบ
หัวไชเท้า 500 กรัม
ขิงสด 15 กรัม หรือประมาณ 1 ข้อนิ้วมือ

วิธีการ
1. สับวัตถุดิบทั้งหมดให้ละเอียด
2. เติมน้ำเปล่า 1 – 2 ช้อนโต๊ะ กรองเอาแต่น้ำ
3. ดื่มวันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร หรือจิบขณะที่มีอาการ

มะเขือเปราะ ผักพื้นบ้าน ต้านมะเร็ง ลดความดัน บำรุงหัวใจ 

มะเขือเปราะ เป็นหนึ่งในผักเคียงน้ำพริกยอดนิยมที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี กินได้ทั้งแบบดิบ และสุก ซึ่งนอกจากความอร่อยแล้ว ประโยชน์ก็มากมายอีกด้วยค่ะ 

ประโยชน์ของผลมะเขือเปราะเริ่มตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างช่วยในการย่อยอาหาร และช่วยให้ขับถ่ายสะดวก และยังลดการอักเสบได้อีกด้วย 

แต่ไม่เพียงแค่เรื่องเล็กๆ นะคะ เพราะมะเขือเปราะมีงานวิจัยออกมาแล้วว่ามีฤทธิ์ในการลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ลดความดัน และบำรุงหัวใจ  

ผักพื้นบ้าน มะเขือเปราะ

มะเขือเปราะกับมะเร็ง และเบาหวาน

สำหรับเรื่องของมะเร็งนั้น มะเขือเปราะมีสารไกลโคอัลคาลอยด์โวลามาร์จีน โซลาโซนีน และอัลคาลอยด์โซลาโซดีนที่ปราศจากโมเลกุลของน้ำตาล ซึ่งได้มีการทดสอบแล้วพบว่า สารเหล่านี้มีฤทธิ์ในการต่อต้านการเจริญเติบโตเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งตับได้

และอีกหนึ่งสรรพคุณที่มีประโยชน์ไม่น้อยเลยของผลมะเขือเปราะนั้นก็คือ มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีเทียบเท่ากับการใช้ยากลิเบนคลาไมด์ โดยช่วยเสริมการใช้งานกลูโคสและมีช่วยการทำงานของตับอ่อน ซึ่งเป็นการออกฤทธิ์ที่คล้ายกับอินซูลินเลยทีเดียวละค่ะ

ซึ่งการจะให้ได้ประโยชน์ก็คือการทานอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจจะหมุนเวียนเปลี่ยนกันไป ทั้งกินดิบ กินต้มคู่น้ำพริก แต่ให้เด็ด แอดชอบกินแบบซุปมะเขือค่ะ เมนูเดียวได้สารพัดสมุนไพรไทยเลย

มะเขือเปราะเมนูอร่อย

เขยิบเข้ามาใกล้ๆ เดี๋ยวแอดจะบอกสูตรให้ฟัง

เริ่มด้วยปิ้งหรือคั่วพริกขี้หนู หอมแดง กระเทียมให้หอม แล้วเอามาโขลกรวมกับมะเขือเปราะต้มสุกและเนื้อปลาทูแกะ ปรุงรสตามชอบ โรยผักชี ต้นหอม เป็นอันใช้ได้ อร่อยและประโยชน์เพียบ เป็นอาหารลดน้ำหนักก็ยังได้เลยค่ะ

แตงกวา ลดน้ำหนัก กินอร่อย ลดกรด

แตงกวา ลดน้ำหนัก – อีกหนึ่งผักคู่น้ำพริกที่ทั้งอร่อย กินง่าย และมากด้วยประโยชน์ที่ช่วยทั้งสุขภาพ และความงามที่สำคัญคือหากินง่าย กินได้ทั้งแบบสุก แบบดิบ หรือจะนำมาประทินผิวก็ยังได้ 

ผักพื้นบ้าน แตงกวา

สำหรับสรรพคุณหลักๆ ของแตงกวาอย่างที่ทุกคนรู้กันก็คือให้ความชุ่มชื้น เพราะประกอบด้วยน้ำถึง 90% จึงช่วยแก้กระหายน้ำ ดับความร้อนในร่างกาย ช่วยเพิ่มความสดชื่น  นอกจากนั้นแล้วแตงกวายังช่วยทั้งลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิต รวมถึงช่วยรักษาสมดุลของร่างกายและภูมิคุ้มกันให้อยู่ในระดับที่สุขภาพดีอีกด้วย 

ส่วนที่บอกไว้ว่าช่วยลดกรดนั้น ก็คือกรดในกระเพาะอาหาร บำรุงระบบย่อยอาหาร นอกจากนั้นแล้วน้ำในแตงกวายังช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย และละลายนิวในไตได้ เห็นรสชาติอ่อนๆ แบบนี้ไม่ธรรมดาเลยจริงๆ  และเพราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากมายจึงเหมาะสำหรับผู้ต้องที่ต้องการลดน้ำหนัก ลดอาการบวมน้ำ ขับปัสสาวะ และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ  นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ค้นพบว่า แตงกวามีฤทธิ์ฆ่าเชื้ออ่อนๆ ช่วยยับยั้งแบคทีเรีย กระตุ้นลำไส้เล็ก และมดลูกให้หดตัว กระตุ้นการสร้างแบคทีเรียดี รวมไปถึงต่อต้านการกลายพันธุ์ และเจริญเติบโตของเนื้องอก    

เมนูแตง

เรามาดูกันว่า แตง แต่ละชนิดเหมาะกับการทำอาหารประเภทไหน และบางชนิดสามารถใส่แทนกันได้อย่างไร

แตงกวา ควรเลือกลูกไม่ใหญ่มาก ขั้วสีเขียวซึ่งแสดงว่ายังสดอยู่ ลูกตรง ไม่งอ เพราะสะดวกในการปอก ส่วนมากเราจะกินแตงกวาสด ๆ เป็นผักจิ้มน้ำพริก แกล้มข้าวผัด ส้มตำ ลาบ การกินสดต้องล้างน้ำให้สะอาดแล้วนำไปแช่เย็น แตงกวาจะกรอบมาก ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำแตงกวามาหั่นเป็นชิ้นเล็กผัดกับไข่ ผัดเปรี้ยวหวานหรือทำยำ หากทำแกงจืดต้องคว้านไส้ออกแล้วยัดไส้เนื้อสัตว์เข้าไปแทน บางคนใช้แตงกวาพอกหน้า บำรุงผิวพรรณหรือนำไปปั่นเป็นน้ำดื่มเพื่อสุขภาพ

แตงร้าน มีลักษณะคล้ายแตงกวา แต่ลูกใหญ่กว่ามากความกรอบของแตงร้านสู้แตงกวาไม่ได้ หากจะนำมาใช้ควรเลือกแตงร้านลูกไม่เล็กและไม่ใหญ่เกินไป ผิวสีเขียวขาวเต่งตึง ไม่เหี่ยว การนำมาทำอาหารก็คล้าย ๆ กับแตงกวาคือ นิยมกินสด แต่ถ้าผ่าแตงร้านแล้วเจอเม็ดเยอะก็ให้ฝานทิ้งไป

แตงญี่ปุ่น ลูกมีลักษณะยาวเรียว สีเขียวเข้ม ผิวขรุขระเล็กน้อย มีเม็ดน้อยกว่าแตงกวาและแตงร้าน เนื้อแน่น หนา สีขาว น้ำน้อย มีความกรอบมาก ยิ่งแช่เย็นยิ่งกรอบมากขึ้น นิยมใช้ทำสลัด และแตงญี่ปุ่นสามารถใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก ผัด ต้ม หรือทำเป็นแตงดองก็ได้

แตงไทยอ่อน ลูกมีลักษณะกลม บางลูกเป็นทรงรี กลางผลอวบ ผิวสีเขียวอ่อน เรียบ เนื้อกรอบแข็งกว่าแตงทุกชนิด มีเม็ดน้อย นิยมกินสด เป็นผักจิ้ม ชอบจิ้มกินกับหลนอร่อยมากค่ะ และยังกินกับอาหารประเภทลาบ ป่น น้ำพริกอีกด้วย ไม่นิยมนำไปผ่านความร้อนให้สุก

แตงโมอ่อน ลักษณะเหมือนผลแตงโม แต่ผิวคล้ายแตงไทยอ่อน แตงชนิดนี้เหมาะสำหรับทำแกงส้ม ต้มจืด แกงเลียง แต่ถ้าจะนำไปจิ้มน้ำพริกต้องต้มให้สุกก่อนจึงจะอร่อย หรือจะนำไปผัดก็ได้

ฟักแม้ว ลดเสี่ยงมะเร็งลำไส้

ฟักแม้ว มีใยอาหารสูง จึงช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี อีกทั้งยังมีสารแอนติออกซิแดนต์ปริมาณสูงมาก เมื่อกินเข้าไปจะช่วยชะลอความเสื่อมของร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่

นอกจากฟักแม้วจะช่วยชะลอวัยแล้ว ยังช่วยให้ กระดูกและฟันแข็งแรง เพราะมีแคลเซียมสูง เหมาะสำหรับวัยทองที่มีความเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนอย่างยิ่ง สารอาหารอื่นๆ ที่น่าสนใจก็คือ มีวิตามินซีที่ช่วยป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน และช่วยบำรุงผิวพรรณ ทำให้ผิวสวยผ่องใส เด้งดีค่ะ

ประโยชน์ของฟักแม้ว

  1. ช่วยบำรุงหัวใจและหลอดเลือด ด้วยการใช้ผลและใบมาดองเป็นยาไว้กิน (ผล, ใบ)
  2. ผลและใบฟักแม้วนำมาใช้ดองเป็นยาช่วยขับปัสสาวะ (ผล, ใบ)
  3. มะระหวานช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ด้วยการดื่มน้ำที่ต้มจากผลและใบฟักแม้ว (ผล, ใบ)
  4. ช่วยป้องกันและรักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน (ผล, ใบ)
  5. ยอดฟักแม้วช่วยในการขับถ่าย ทำให้ถ่ายได้สะดวกขึ้น จึงป้องกันอาการท้องผูกได้เป็นอย่างดี (ใบ)
  6. ช่วยแก้อาการอักเสบด้วยการใช้ผลและใบมาดองเป็นยาไว้กิน (ผล, ใบ)
  7. น้ำต้มใบและผลฟักแม้วช่วยสลายนิ่วในไต (ผล, ใบ)
  8. น้ำต้มใบและผลนำมาใช้ในการรักษาอาการเส้นเลือดแข็งตัวได้ (ผล, ใบ)

ข้อมูลจาก

  • คอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 473
  • สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสุรินทร์

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

Instagram Cheewajitmedia
Facebook นิตยสาชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.