เยียวยา ความดันโลหิตต่ำ ด้วยชีวจิต
ความดันโลหิตต่ำ อาจเป็นอาการที่ไม่ค่อยคุ้นหูเท่าความดันโลหิตสูง แต่ก็เป็นอาการที่พบบ่อยทีเดียว ลองมาดูที่อาจารย์สาทิศ อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิตเคยเขียนถึงความดันโลหิตต่ำกันดีกว่า ว่ามีวิธีสังเกตอาการและเยียวยาอย่างไร
โรคบางอย่างไม่ใช่โรค แต่เราชอบเรียกกันผิดๆ ว่า ป่วยเป็นโรค…นั้นโรค…นี้
ที่ชอบเรียกว่าโรคและรู้จักกันดีมากโรคหนึ่ง แม้แต่ชาวบ้านทั่วๆ ไปก็รู้จักคือ โรคความดันโลหิตสูง และอีกโรคหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักคือ ความดันโลหิตต่ำ ก็มีอยู่สองโรคนี้แหละที่เกี่ยวกับความดันโลหิต อาจจะมีใครสักคนหนึ่งชะโงกหน้าเข้ามาสอดแทรกว่า มีสิอีกโรคหนึ่งก็คือ โรคความดันทุรัง ไงล่ะ
อันนี้ผมไม่เกี่ยวนะ ใครจะอยากดันทุรังอยู่ไปโดยไม่รู้ไม่ชี้ผมก็ไม่เกี่ยว หรือใครจะดันทุรังไล่ใครต่อใครออก ผมก็ไม่เกี่ยวอีกเหมือนกัน ผมเกี่ยวอยู่อย่างเดียวคือ ความสบาย หรือไม่สบาย (ป่วย) ของเพื่อนร่วมโลกของผมเท่านั้น
เวลาแพทย์วัดความดันโลหิตของคุณ นั่นก็คือการวัดดูว่า หัวใจของคุณจะปั๊มเอาเลือดไปเลี้ยงร่างกายได้มากน้อย เป็นปกติ หรือไม่ปกติอย่างไร
เราวัดความดันโลหิตด้วยเครื่องวัด sphygmomanometer เป็นหน่วยวัดเรียกว่า มิลลิเมตรปรอท [มม.ปรอท (mm / Hg)] เวลาหัวใจบีบตัว ตัวเลขหน่วยวัดขึ้นสูง (systolic) เวลาหัวใจคลายตัวหน่วยวัดลงต่ำ (diastolic) ฉะนั้นถ้าเป็นคนวัยหนุ่มท่าทางแข็งแรง ความดันที่ดีที่สุดน่าจะเป็นประมาณ 120 / 88 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงผิดปกติจะเกิดขึ้นตามวัย อายุมากขึ้นความดันก็จะสูงขึ้น ฉะนั้นระดับความดันซึ่งโดยเฉลี่ยก็ไม่น่าจะเกินตัวบน 140 – 159 และตัวล่างประมาณ 90 – 114 (จากตัวเลขของสหรัฐอเมริกา The Joint National Committee on Detection, Evaluation and Treatment of High Blood Pressure)
เอาละครับ ทีนี้เรามาคุยกันถึงเรื่องความดัน (ไม่ทุรัง) โลหิตต่ำกันได้แล้ว ปกติผู้ที่มีความดันเป็นประจำประมาณ 100 – 60 มม.ปรอท หรือต่ำกว่า ก็ถือว่าเป็น โรคความดันโลหิตต่ำ ได้แล้ว
วิธีวัดความดันโลหิตต่ำของผู้ป่วยนั้น การวัดที่ถือว่าแน่นอนจะต้องให้คนไข้ยืน แล้ววัดความดันโลหิตในขณะที่กำลังยืนอยู่หรือนั่งตัวตรงอยู่ก็ได้